‘เวียดนาม’ ลงทุนต่างประเทศ พุ่ง 4.6% ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้

กรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงการวางแผนและการลงทุน รายงานว่าการลงทุนในต่างประเทศของเวียดนาม มีมูลค่าราว 416.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยจากเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว พบว่ายอดจดทะเบียนโครงการใหม่ มีมูลค่า 244.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 70.5% ของมูลค่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่เงินทุนที่ปรับเพิ่มเงินทุน มีมูลค่าเกินกว่า 171.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าไปยังโครงการในปัจจุบัน จำนวน 18 โครงการ เพิ่มขึ้น 3.38 เท่า

ทั้งนี้ นักลงทุนชาวเวียดนามส่วนใหญ่ลงทุนในภาคการค้าปลีกค้าส่ง มูลค่า 150.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 36.1% ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เกษตรกรรมและการผลิตอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-overseas-investment-up-46-during-nine-months/268894.vnp

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้า 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 259.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 237.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าการส่งออกของเวียดนามที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ความต้องการจากทั่วโลกลดลงและภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังส่งเสริมให้ทำการค้าในตลาดเกิดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพ และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

CPI เวียดนาม เดือน ก.ย. พุ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนามในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 1.08% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้น ราคาข้าวที่สูงขึ้น ค่าก๊าซและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาตั๋วเครื่องบินพุ่ง 71.56% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-cpi-in-sept-rises-to-five-year-high/

‘ศก.เวียดนาม’ เติบโตเด่นสุดในอาเซียน ปี 2566

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวและการผ่อนคลายนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง และมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสามารถควบคุมได้ มีอัตราต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4.5% ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กล่าวชื่นชมหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนามในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงยังคงสูงขึ้นและจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการด้านกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-economy-likely-to-lead-asean-s-growth-this-year-2195780.html

‘เวียดนาม’ อนุมัติโครงการต่างชาติ 38,000 โครงการ

ตามรายงานของกรมส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ (FIA) เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ว่าโครงการต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้ลงทุนในเวียดนาม มีจำนวน 38,379 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวม 455.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. พบว่ามีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 15.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป มีมูลค่าราว 273.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 60.2% ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาภาคอสังหาฯ การผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนต่างขาติรายใหญ่ที่สุด มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน (จีน) และฮ่องกง (จีน) ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594438/vn-records-over-38-000-valid-foreign-invested-projects-fia.html

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คาดการณ์ GDP เวียดนาม ไตรมาส 3 ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ขยายตัว 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี (เร่งขึ้นจาก 4.1% ในไตรมาสที่ 2) แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจ พบว่าภาวะเศรษฐกิจของเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม โดยได้แรงหนุนจากยอดค้าปลีก และธนาคารฯ มองว่าการค้าปลีกในเดือนกันยายน จะยังคงขยายตัวแข็งแกร่งที่ 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การส่งออกและการนำเข้า ลดลง 6.2% และ 7.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594407/standard-chartered-forecasts-q3-gdp-to-show-ongoing-recovery.html

เวียดนามขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของกัมพูชา

จีน เวียดนาม และไทย ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามูลค่ากว่า 11.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 70.8 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวมกว่า 16.3 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ประเทศกัมพูชา โดยจีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าลำดับแรกของกัมพูชา ด้วยมูลค่าการส่งออก 7.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.9 ของการนำเข้าทั้งหมด ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี สำหรับการส่งออกของเวียดนามมายังกัมพูชาลดลงร้อยละ 11.7 เหลือมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 15 ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การส่งออกของไทยมายังกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ที่สัดส่วนร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการนำเข้ากัมพูชา สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี GDCE ได้รายงานเสริมว่ากัมพูชาได้ทำการส่งออกสินค้ามูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ให้กับจีน เวียดนาม และไทย คิดเป็นร้อยละ 21.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 15.7 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367609/vietnam-second-biggest-exporter-of-cambodia/

Vietnam Economic Factsheet : Q2/2566

FACTSHEET VIETNAM Q2.66

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ขยายตัว 4.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2566 ที่ขยายตัว 3.28%

ด้านการผลิต : ภาคบริการขยายตัว 6.11% ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง ขยายตัว 3.25% และภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ขยายตัว 2.50%

ด้านการใช้จ่าย : การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 4.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, การสะสมทุนในสินทรัพย์ ขยายตัว 3.22%, การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 5.08% และการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 4.20%