SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

‘เวียดนาม’ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคึกคัก หลังปรับนโยบายวีซ่า เข้าประเทศได้ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพียง 90 วัน

จากการอนุมัติกฎหมายว่าด้วยการเดินทางเข้า-ออกของขาวต่างชาติที่ขยายระยะที่ได้รับ E-visa สามารถเข้าและออกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ภายในระยะเวลา 90 วัน โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขอวีซ่าใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถอยู่ที่เวียดนามได้นานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเวียดนาม มีการจัดโปรโมชั่นและข้อเสนออื่นๆ อีกมากมาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทำการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทั้งนี้ จากข้อมูลของภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 พบว่าเวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5.6 ล้านคน และทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 14.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8 ล้านคนในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันยังไม่สามารถเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/vietnam-to-welcome-more-international-visitors-with-unlimited-entry-90-days-visa/

กลุ่มเซ็นทรัล จัดงานแสดงสินค้า “Vietnamese Week in Thailand 2022” ครั้งที่ 6

กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม จัดงาน “Vietnamese Week in Thailand 2023” ครั้งที่ 6 งานประชุมและแสดงสินค้าเวียดนามในประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16–20 สิงหาคม 2566 ภายใต้ธีมงาน “HCM City and the Mekong Delta” สำหรับงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นจากภาคใต้ของเวียดนาม ได้แก่ นครโฮจิมินห์ ล็องอาน เบ๊นแจ เกียนซาง บากเลียว จ่าวิญ และด่งท้าบ ทั้งนี้ นาย Do Thang Hai รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าหลังจากจัดงานแสดงสินค้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภาคการส่งออกของทั้งสองประเทศ และการเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้สินค้าท้องถิ่นของเวียดนามไปสู่สายตาคนไทยได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

‘ผู้ค้าปลีกเวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

บริษัทหลักทรัพย์ เอส เอส ไอ (SSI) คาดการณ์ว่าธุรกิจจะกลับมาทำกำไรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 4 และในปี 2567 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายเงินให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ค้าปลีกเวียดนามมีแนวโน้มที่จะหันไปสู่การค้าสมัยใหม่ รวมไปถึงการระดมเงินทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ของผู้ค้าปลีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าธุรกิจค้าปลีกได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานสถิติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่ารายได้รวมจากการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 3.01 ล้านล้านด่อง

ในขณะเดียวกันจากผลการสำรวจของ ‘Infocus’ พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเวียดนาม ลดลงมาอยู่ที่ 54 จุด ในเดือน มิ.ย.66 จากเดือน ก.ค.65 อยู่ที่ 63 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/domestic-retailers-on-path-to-recovery/259465.vnp

‘เวียดนาม’ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมมะพร้าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และควรได้รับพิจารณาให้เป็นส่วนสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชอุตสาหกรรมหลักของเวียดนามภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากกว่า 188,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1.67% ของพื้นที่ทั่วโลก ในขณะที่ต้นมะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรกว่า 389,530 ครัวเรือน และทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปมะพร้าว จำนวน 854 ราย และอีกกว่า 90 บริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างแรงงานมากกว่า 15,000 คน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

เจาะแผน ‘เซ็นทรัลรีเทล’ รุกเวียดนามครึ่งปีหลัง ลุยขยายซูเปอร์มาร์เก็ต

บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้บุกเบิกธุรกิจไปในเวียดนามมาเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีแล้ว ด้วยจุดเริ่มต้นจากการจำหน่ายกลุ่มสินค้าแฟชั่น ต่อมาในปี 2558 ได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับ เหงียนคิม (Nguyen Kim) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม หลังจากนั้นในปี 2559 ได้ขยายธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการ บิ๊กซี เวียดนาม และขยายธุรกิจค้าปลีกมาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ตามแผนในปี 2566 ได้มีการก่อสร้าง ศูนย์การค้า GO! จำนวน 5-7 แห่ง คาดว่าจะเปิดได้ในปี 2567 จากในปัจจุบันมีศูนย์การค้ารวม 39 แห่ง ส่วนห้างค้าปลีก มีแผนรีโนเวทใหม่ หรือ รีโมเดล รวม 10 สาขา จากในปัจจุบันมีสาขาของ GO! รวม 38 สาขา พร้อมกันนี้วางแผนรีโนเวท สาขาของ บิ๊กซีเดิมที่มีอยู่ ให้เป็นสู่ศูนย์การค้าและห้างค้าปลีก GO! จำนวน 10 สาขาให้แล้วเสร็จในปีนี้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1078688

‘ซาวิลส์’ ชี้โอกาสของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เหตุนักลงทุนเล็งหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำ

บริษัท ซาวิลส์ เอเชีย แปซิฟิก ระบุว่าประเทศต่างๆ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย อาจได้รับประโยชน์ หากบริษัทเริ่มที่จะมองหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและต้นทุนการผลิตต่ำ โดยหลังจาก 3 ปีที่เกิดการหลุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดูเหมือนว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สังเกตได้จากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลหรือทางอากาศส่วนใหญ่กลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ตลอดจนเรือตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีคิวรอเข้าท่าเรือหลัก ทั้งนี้ Jack Harkness ผู้อำนวยการฝ่ายบริการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคของบริษัท กล่าวว่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจ และยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ มองหาแหล่งการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-could-benefit-as-investors-look-for-low-cost-production-centres-savills-post1032775.vov