ญี่ปุ่นบริจาครถยนต์และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ให้สปป.ลาว

นาย. เคนอิจิ โคบายาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสปป.ลาว ตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น ได้มอบรถยนต์โตโยต้า เครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์ช่วยค้นหาและกู้ภัยสำหรับปัญหาน้ำท่วม ให้กับสปป.ลาว โดยมีน.ส. บัยคำ คัตติยา รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นผู้รับมอบ ซึ่งการช่วยเหลือของญี่ปุ่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีมูลค่ารวม 1 พันล้านเยน (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/08/29/japan-donates-vehicles-and-rescue-equipment-to-help-flood-stricken-laos/

“รัฐบาลสปป.ลาว” ให้คำมั่นแก้ไขปัญหาศก. ตกต่ำ

จากการที่ประชุมของรัฐบาล โดยมีนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานและคณะรัฐมนตรี ได้มีการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างบรรยากาศการลงทุน ปรับปรุงการชำระหนี้ การรับมือกับภัยธรรมชาติ การควบคุมเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลลาว กล่าวว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าและการชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะหนี้รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องหลักเลี่ยงการก่อหนี้ใหม่ เนื่องจากรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Govt165.php

พันธบัตรรัฐบาล สปป.ลาว มูลค่า 5 ล้านล้านกีบ ขายออกแล้วกว่าร้อยละ 80

ประมาณร้อยละ 80 ของพันธบัตรมูลค่า 5 ล้านล้านกีบ ที่ออกโดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) ได้ถูกขายออกไปแล้วนับตั้งแต่มีการเสนอขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อปี จากข้อมูลของธนาคารกลาง สปป.ลาว ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าซื้อพันธบัตรร้อยละ 42 ผ่านธนาคาร 9 แห่ง ใน สปป.ลาว ในขณะที่อีกร้อยละ 38 ถูกซื้อโดยบริษัทและนิติบุคคลอื่นๆ โดยเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรจะช่วยให้รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการเงิน ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพันธบัตรดังกล่าวขายผ่าน BCEL, ธนาคารเพื่อการพัฒนา สปป.ลาว (LDB), ธนาคารส่งเสริมการเกษตร (APB), ธนาคารเพื่อการพัฒนาร่วม (JDB), ธนาคารพงสวรรค์, ธนาคาร ST, ธนาคาร BIC, ธนาคารร่วมทุน สปป.ลาว-เวียต และธนาคารไอซีบีซี ในขณะที่มูลค่าที่ตราไว้ของพันธบัตรเริ่มต้นที่ 100,000 กีบต่อหน่วย บุคคลทั่วไปสามารถซื้อพันธบัตรได้มูลค่าสูงสุดที่ 2 พันล้านกีบ ในขณะที่นิติบุคคล เช่น บริษัท สามารถซื้อพันธบัตรได้มูลค่าสูงสุด 1 หมื่นล้านกีบ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten163_80percent.php

“สปป.ลาว” ใช้งบ 20 พันล้านกีบ เร่งป้องกันน้ำท่วม

นครเวียงจันทร์เตรียมใช้เงินวงเงินกว่า 20 พันล้านกีบ จะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน รวมถึงซ่อมแซมและขยายช่องระบายน้ำ จัดการกับพืชและเศษซากต่างๆ ที่อุดตันท่อระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายโยธาธิการและขนส่งของนครเวียงจันทร์ กล่าวว่าสำนักงานกำลังร่วมมือกับสำนักงานจัดการและบริการเมืองเวียงจันทร์ และเจ้าหน้าที่จากเขต 9 ของเมืองในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของงบประมาณข้างต้นนั้นยังเป็นการประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากงานบางส่วนที่วางแผนไว้อาจไม่สามารถทำได้ในช่วงฤดูฝน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten163_City.php

แรงงานสปป.ลาวและต่างด้าว แห่ลงทะเบียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้ว

นายโอดล มณีบูรณ์ หัวหน้ากรมแรงงานและสวัสดิการสังคม ของ สปป.ลาว กล่าวว่า ภายหลังการขึ้นทะเบียนแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้วเมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.2565 ที่ผ่านมา มีแรงงานได้ขึ้นทะเบียนแล้ว 1,267 คน โดยมีแรงงานจากจีน เมียนมา และประเทศอื่นๆ ทั้งนี้นายโอดล ยังกล่าวเสริมอีกว่า หลังจาก 2 สัปดาห์ของการขึ้นทะเบียนและตรวจสุขภาพของแรงงาน เป็นที่แน่ชัดว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อแก้วมีปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/08/22/bokeo-sez-registers-lao-and-foreign-workers/

การค้าต่างประเทศ สปป.ลาว พุ่งแตะ 968 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลจาก Lao Portal Trade พบว่า 7 เดือนแรกของปี 2565 การค้าระหว่างประเทศของสปป.ลาว พุ่งถึง 968 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออก 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าประมาณ 541 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ขาดดุลการค้า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษ ทองคำ เหยื่อไม้ เศษกระดาษ ยาง แร่เหล็ก เสื้อผ้า เครื่องดื่ม (น้ำ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง) น้ำตาล และรองเท้า โดยประเทศส่งออกหลัก ได้แก่ จีน มูลค่าประมาณ 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เวียดนาม 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ไทย 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสิงคโปร์ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนประเทศที่นำเข้าหลัก ได้แก่ ไทยมูลค่า 264 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จีน 142 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เวียดนาม 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สหรัฐอเมริกา 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่น 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=68390

รัฐบาล สปป.ลาว มุ่งพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ

รัฐบาล สปป.ลาว ให้คำมั่นที่จะพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์, ลม และระบบชีวมวล ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บท ในการสร้างความมั่นคงด้านทางด้านพลังงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้งของ สปป.ลาว และเพื่อลดการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศในอนาคต โดยปัจจุบันกว่าร้อยละ 81 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศมากจากแหล่งไฟฟ้าที่ผลิตด้วยระบบพลังงานน้ำ รองลงมาคือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ร้อยละ 17 ในขณะเดียวกัน แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล เป็นเพียงร้อยละ 2 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ ตามรายงานล่าสุดจากกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ซึ่งรัฐบาลวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนข้างต้นเป็นร้อยละ 11 ตามกรอบแผน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2025 โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตพลังงาน 90 แห่งทั่วประเทศ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเกือบ 11,000 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 77 แห่ง, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง, โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten158_Govtto.php

เงินเฟ้อลาวเดือน ก.ค. พุ่งแตะ 25.6%

สำนักงานสถิติประเทศลาว (Lao Statistics Bureau) เผยแพร่รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.65 เพิ่มขึ้น 25.6% จากระดับ 23.6% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อยที่เผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำนักงานฯ ยังเผยว่าราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ ราคาอาหาร ค่ารักษาพยาบาลและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ประกอบกับราคาเชื้อเพลิง สินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น และเงินกีบก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามเงินกีบก็ยังอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม นอกจากนี้ ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลงถือเป็นสาเหตุหลักของปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เงินสกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Inflation_y22.php

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

6 เดือนแรกของปี 65 มีนักท่องเที่ยวเยือนสปป.ลาว แตะ 42,197 คน

6 เดือนแรกของปี 2565 สปป.ลาว หลังการคลายล็อกดาวน์และการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศทั้งสิ้น 42,197 คน จากรายงานพบว่า มีการท่องเที่ยวและพำนักโดยเฉลี่ย 7.9 วัน และใช้จ่ายเฉลี่ย 83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อวัน สร้างรายได้มากกว่า 4.55 ล้านดอลลาร์ โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางผ่านสะพานมิตรภาพลาว-ไทย, สนามบินนานาชาติวัดไต และสนามบินนานาชาติหลวงพระบาง ตั้งแต่วันที่ 13-18 ก.ค.2565 มีนักท่องเที่ยวทั้งหมด 5,668 คน มากกว่าร้อยละ 70 มาจากไทย ซึ่งตั้งแต่เดือนพ.ค.- มิ.ย.2565 มีนักท่องเที่ยว 33,435 คนเดินเข้าประเทศ โดย 18,621 คนมาจากไทย และ 14,447 คนมาจากเวียดนาม ส่วนที่มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 1,902 คน จากยุโรป 467 คน, สหรัฐอเมริกา 512 คน และแอฟริกาและตะวันออกกลาง 23 คน และเกาหลีใต้ 144 คน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten152_Laos_welcomes_y22.php