หลังเส้นทางรถไฟสาย “สปป.ลาว-จีน” เริ่มดำเนินการ ได้ทำการขนส่งสินค้ากว่า 26.8 ล้านตัน

หลังจากเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เริ่มดำเนินการเป็นระยะเวลารวม 22 เดือน มีการขนส่งสินค้าบนเส้นทางรถไฟปริมาณรวมมากกว่า 26.8 ล้านตัน ตามการรายงานของ China Railway Kunming Group Co., Ltd. โดยการรถไฟรายงานเสริมว่าการขนส่งสินค้าครอบคลุมสินค้ากว่า 2,700 ประเภท ซึ่งเน้นไปที่การขนส่งผักและผลไม้ ในปริมาณกว่า 83,500 ตัน มูลค่ากว่า 2.2 พันล้านหยวน (306.4 ล้านดอลลาร์) สำหรับในปีนี้ปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นปริมาณรวมกว่า 14 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ถือเป็นโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม 2021 โดยมีระยะทางรวม 1,035 กม. เชื่อมระหว่างคุนหมิงกับเมืองเวียงจันทน์

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_ChinaLao195_23.php

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศรวมกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือน

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) รายงานถึงสถานการณ์ส่งออกข้าวสารของกัมพูชามีปริมาณรวมกว่า 456,581 ตัน สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี สร้างรายได้เข้าประเทศรวมกว่า 327.4 ล้านดอลลาร์ โดยได้ทำการส่งออกยัง 57 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าหลักของกัมพูชาที่ปริมาณการส่งออก 155,366 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 99.6 ล้านดอลลาร์ ด้าน Chan Sokheang ประธาน CRF ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวสารทั้งปีไว้ที่ 700,000 ตัน สำหรับในปี 2023 โดยเฉาพะ ข้าวหอม ข้าวอินทรีย์ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวจาโปนิกา เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501372820/cambodia-earns-327-4-million-from-rice-export-in-9-months/

“เวิลด์แบงก์” หั่นคาดการณ์ GDP เอเชียเหลือโต 5% จีน-ไทย-เวียดนาม หนี้ภาคธุรกิจพุ่งเร็ว

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุถึง จีนและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กล่าวว่าขณะนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโต 5% ในปี 2566 ตามรายงานเดือนตุลาคม ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ 5.1% ในเดือนเมษายนเล็กน้อย ขณะเดียวกันเวิลด์แบงก์คงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยระบุถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุผลในการปรับลดอันดับ

นอกจากนี้ยังเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยเตือนว่าระดับหนี้ภาครัฐที่สูงอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/64731/

“ศุภชัย” ฟันธง ปี 67 ส่งออกโตเด่น อานิสงค์เศรษฐกิจจีนพ้นปากเหว

ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการส่งออกไทยว่า ปี 2567 เป็นปีที่การส่งออกจะดีกว่าปี 2566 ขณะที่การส่งออกปีนี้ต้องยอมรับว่าไม่น่าจะดีขึ้น สาเหตุหลักที่การส่งออกไทยปี 2567 จะดีขึ้นมาจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 ถือว่าแย่มากเพราะการส่งออกของจีนไม่ดี เช่นเดียวกันการนำเข้าที่จีนไม่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในปี 2567 แม้ว่าปีนี้ถือว่าไม่น่าดีขึ้นได้แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ไทยควรทำการค้าขายในอาเซียนด้วยกันเองให้มากขึ้นและลดการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ นอกจากนี้ ประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันในรายละเอียดให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง และเมื่อได้เอฟทีเอแล้วก็ควรบริหารจัดการโดยให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จ่ายคืนส่วนต่างในรูปแบบภาษี หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อนำไปดูแลกลุ่มที่เสียประโยชน์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ตัวเลขการส่งออกของจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6 จากผลกระทบการค้ากับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปรับตัวลงหนัก และยังฉุดให้ตัวเลขนำเข้าของจีนลดลงถึงร้อยละ 7.6 นำโดยสินค้าในกลุ่มจอแอลซีดีและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ดิ่งลงหนักถึงร้อยละ 27 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวลง โดยอาเซียนหันมานำเข้าสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรจากจีนมากขึ้น แทนที่สินค้าจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1091052

‘เมียนมา’ ชี้ค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก จีน-ไทย โกยเงิน 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เปิดเผยว่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา ผ่านชายแดนท่าขี้เหล็ก มีมูลค่าการค้ารวม 77.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในช่วง 5 เดือนแรกและช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-19 ก.ย. ด่านการค้าชายแดน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 30.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 47.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กระเทียม ตะกั่วซัลไฟด์และเศษพลาสติกอัดก้อน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/tachilek-border-trade-with-china-and-thailand-valued-at-us77-698-mln/#article-title

การขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

8 เดือนแรกของปีนี้ เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ได้มีการขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 138 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของ บริษัท สปป.ลาว-จีน เรลเวย์ จำกัด (LCRC) โดยคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของ สปป.ลาว จาก จีน ที่ปริมาณ 344,700 ตัน ในขณะที่สินค้าส่งออกของ สปป.ลาว ไปยังจีน มีปริมาณรวมกว่า 2.7 ล้านตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ ผลไม้, แป้งมัน, ข้าวบาร์เลย์, ยาง, เบียร์, แร่เหล็ก, หิน, และปุ๋ยเคมี สำหรับทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการภายใต้หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งเป็นอภิมหาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จีนใช้เชื่อมโลก เป็นเหมือนภาคต่อของเส้นทางสายไหม สำหรับเส้นทางสาย สปป.ลาว-จีน ได้เริ่มให้บริการในช่วงเดือนธันวาคม 2021 โดยเส้นทางสายดังกล่าวมีระยะทางรวม 1,035 กิโลเมตร เชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิงทางต้อนใต้ของจีน เข้ากับเมืองเวียงจันทน์ ประเทศ สปป.ลาว ในการสนับสนุนภาคการขนส่งระหว่าง สปป.ลาว-จีน

ที่มา : https://english.news.cn/20230926/f031f53c3d344c76b65114d370627f4d/c.html

‘เมียนมา’ ส่งออกข้าวโพดจากรัฐฉานไปยังจีน เดือน ต.ค. กว่า 6 หมื่นตัน

สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา (MCIA) ระบุว่าเมียนมาจะส่งออกข้าวโพดที่มาจากรัฐฉาน (Shan state) ไปยังตลาดจีนในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 60,000 ตัน ผ่านการค้าข้ามพรมแดน ภายใต้โครงการเพาะปลูกฝิ่นทดแทนของรัฐบาลจีน ทั้งนี้ การค้าข้าวโพดระหว่างเมียนมาและจีนที่เป็นไปตามกฎหมาย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2565 มีบริษัทเมียนมาจำนวนกว่า 112 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกต่างประเทศ นอกจากนี้ นายอู มิน เค็ง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา กล่าวว่าข้าวโพดมากกว่า 2 ล้านตัน จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในฤดูเพาะปลูกข้าวโพด ปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-export-60000-tonnes-of-corn-from-shan-state-to-china-in-oct/#article-title

บริษัททางรถไฟ สปป.ลาว-จีน จัดซื้อขบวนรถไฟเพิ่ม หวังส่งเสริมการเดินทาง

บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน ได้ทำการซื้อขบวนรถไฟอีเอ็มยู (EMU) ใหม่ ซึ่งจะจัดส่งในวันนี้ เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นประธานอาเซียนประจำปี 2024 กล่าวโดย Anongdeth Phetkayson รองผู้อำนวยการ บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน จำกัด สำหรับปัจจุบันบริษัทให้บริการรถไฟโดยสารรวม 5 ขบวนต่อวัน โดย 4 ขบวนเป็นรถไฟในรูปแบบ EMU และ 1 ขบวนเป็นรถไฟธรรมดา ด้าน China Radio International ในเวียงจันทน์ ได้รายงานเสริมว่าปัจจุบันได้ให้บริการผู้โดยสารทั้งชาว สปป.ลาว-จีน แล้วกว่า 3.1 ล้านคน นับตั้งแต่เปิดให้บริการในวันที่ 3 ธ.ค. 2021 ซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 4,889 ต่อวัน โดยปริมาณสูงสุดที่ถูกบันทึกไว้อยู่ที่ 10,197 ต่อวัน สำหรับปี 2023 จนถึงขณะนี้ มีผู้โดยสารเดินทางด้วยรถไฟ สปป.ลาว-จีน แล้วกว่า 1.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 103.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ เส้รทางรถไฟยังเป็นทางเลือกด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสำหรับการขนส่งสินค้า โดยมีการขนส่งสินค้าปริมาณมากกว่า 5.38 ล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/21/laos-china-railway-purchases-new-train-to-boost-passenger-travel/

จีนอนุมัติการนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชา

ศุลกากรจีนอนุญาตให้สามารถนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชาและอะโวคาโดจากเวเนซุเอลา โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ตามการประกาศของสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและเวเนซุเอลา ในช่วงระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน ตามข้อมูลของศุลกากรกัมพูชา ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชามีมูลค่าอยู่ที่ 8.09 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนที่มูลค่า 940 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 โดยการส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิเช่น กล้วย มะม่วง และลำไย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363495/fresh-cambodian-coconuts-venezuelan-avocados-approved-to-enter-china/

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสารไปยังจีนขยายตัว 20%

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต กล่าวว่า กัมพูชากำลังวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวสารไปยังจีนอีกร้อยละ 20 โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมพบปะกับแรงงาน รวมถึงโรงงาน 18 แห่ง ในจังหวัดตาแก้ว ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโสจากทุกกระทรวงเข้าร่วมงาน ด้านนายกฯ ยังได้รายงานอีกว่าหลังการเดินทางไปเยือนจีน ทางการกัมพูชาได้หารือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน หวังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงดึงดูดการลงทุนและเปิดโอกาสทางการค้ากับประเทศต่างๆ ปัจจุบันความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนถือเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาเป็นอย่างมากด้วยการได้รับโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากที่สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นกัมพูชาหลายแสนตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งหลังจากการได้ร้องขอในการเพิ่มโควต้าการส่งออกข้าวของกัมพูชา ทางการได้ร้องขอให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าวร่วมมือกันส่งเสริมการส่งออกข้าวและเพิ่มมาตรฐานให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501363031/cambodia-plans-to-increase-export-of-milled-rice-to-china-by-20/