‘ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์’ ดันสัดส่วนแตะ 18% ของอุตสาหกรรมเวียดนาม

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วน 17.8% ของอุตสาหกรรมเวียดนาม ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ๋ที่สุด 15 อันดับแรกของโลก และจากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าในปีที่แล้ว เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อยู่ที่ 114 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดี กลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนในเวียดนามยังคงต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างมาก (FDI) จากการที่ใช้แรงงานเข้มข้นสูงและพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่นต่ำ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/electronics-manufacturing-makes-up-nearly-18-of-vietnams-industry/267803.vnp

รัฐบาลกัมพูชาจ่อปรับค่าแรงขั้นต่ำกลุ่มอุตสาหกรรม GFT ในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชายืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) โดยยึดมั่นในความยั่งยืนของภาคดังกล่าวและเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนมาจากรัฐบาลชุดใหม่ของกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนสำหรับภาคส่วนนี้อยู่ที่ 200 ดอลลาร์ ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจาก 194 ดอลลาร์ ต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง (GFT) ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของกัมพูชา โดยมีสถานประกอบประมาณ 1,332 แห่ง สร้างการจ้างงานประมาณกว่า 830,000 คน ซึ่งคิดเป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 6.27 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี ถึงแม้จะลดลงอย่างมากจากการมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501352116/gft-minimum-wage-hike-focuses-on-sustainability/

ในช่วงครึ่งแรกของปีจำนวนโรงงานในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) รายงานสถานการณ์การจัดตั้งโรงงานใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะลดลงเนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,995 แห่ง ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ สร้างการจ้างงานใหม่เกือบ 1 ล้านตำแหน่ง ซึ่งในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการจดทะเบียนจัดตั้งโรงงานใหม่ที่ 1,974 แห่ง สำหรับการส่งออกของกัมพูชาลดลงเล็กกน้อยร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 11,489 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ นับเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มอยู่ที่ 3,654 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19 การส่งออกรองเท้ามูลค่า 702 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.2 สินค้าเดินทางที่มูลค่า 999 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.1 การส่งออกจักรยานคิดเป็น 332 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 30.5 อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.3 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่ารวมกกว่า 1,440 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501338601/number-of-factories-in-kingdom-rises-in-h1/

‘ธุรกิจจีน’ รุกตั้งโรงงานอลูมิเนียมในจังหวัดเหงะอาน ลงทุน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทสัญชาติจีน ‘อินโนเวชั่น พรีซิชั่น เวียดนาม จำกัด’ ประกาศตั้งโรงงานอลูมิเนียมด้วยเงินลงทุน 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐในจังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม โดยโรงงานดังกล่าวคลอบคลุมพื้นที่ 17,800 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม VSIP ที่จังหวัดจังหวัดเหงะอาน และมีกำลังการผลิตอลูมิเนียม 1 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ โรงงานแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการในเดือน ต.ค. ปี 2567 และสร้างแรงงานจำนวน 1,500 คน นอกจากนี้ จังหวัดเหงะอาน ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เกินกว่า 890 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ส่งผลให้จังหวัดนี้เป็น 1 ใน 8 จังหวัดชั้นนำที่ดึงดูดเงินลงทุน FDI สูงที่สุดทั่วประเทศ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/chinese-firm-to-build-us165-million-aluminum-factory-in-nghe-an/

โรงงานปูนซีเมนต์ในอุดมไซ สปป.ลาว ตั้งเป้าผลิต 2 ล้านตันต่อปี

โรงงานปูนซีเมนต์ Oudomxay Jiangge ในจังหวัดอุดมไซ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์รายใหญ่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไว้ที่ 2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านกีบ ภายใต้อุปกรณ์การผลิตและเทคโนโลยีการแปรรูปที่ทันสมัยระดับโลก โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2017 บริษัท Guizhou Jiangge Cement Co., Ltd. เริ่มเข้าลงทุนด้วยการซื้อกิจการโรงงานปูนซีเมนต์ในอุดมไซและโรงงานปูนซีเมนต์ในหลวงพระบาง ซึ่งบริษัทยังได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการสำคัญอย่าง Belt and Road Initiative ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้านนาย Lin Peiliang ประธาน บริษัท Oudomxay Jiangge Cement กล่าวเสริมว่าบริษัทไม่เพียงแต่จะมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้นำด้านการผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของ สปป.ลาว แต่ยังมุ่งส่งออกไปยังประเทศจีน ไทย และเวียดนาม ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten116_Oudomxay.php

อุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชาขยายตัว 5.6% ในไตรมาสที่ 1

ไตรมาสที่ 1 อุตสาหกรรมประกันภัยในกัมพูชารายงานการจัดเก็บเบี้ยประกันภัยรวม 93.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากมูลค่ารวม 88.3 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยหน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยของกัมพูชา (IRC) ซึ่งเบี้ยประกันขั้นต้นของตลาดประกันภัยทั่วไปในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 42.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตอยู่ที่ 48.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และเบี้ยประกันขนาดย่อมมูลค่า 1.83 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45% ด้าน Bou Chanphirou ผู้อำนวยการใหญ่ของ IRC ได้กล่าวเสริมว่า ภาคธุรกิจประกันภัยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของภาคธุรกิจประกันภัยของกัมพูชายังคงมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและทั่วโลก โดยเชื่อว่าภาคประกันภัยจะยังสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501303841/cambodias-insurance-industry-records-5-6-pct-growth-in-q1/

“มูดี้ส์” ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของแบงก์เวียดนาม

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ‘มูดี้ส์’ (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของธนาคาร Saigon Thuong Tin Commercial Bank (Sacombank) จากเดิมคงที่ ปรับขึ้นเป็นเชิงบวก (Positive) ซึ่งการปรับขึ้นเครดิตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการประเมินในเรื่องของความสามารถในการจัดการสินเชื่อของธนาคาร ผ่านการบริหารหนี้สูญและการจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และยังได้ปรับอันดับจากระดับ Caa1 ขึ้นมาอยู่ที่ B3 นอกจากนี้ ธนาคาร Sacombank มีอัตราส่วนการกู้ยืมระหว่างธนาคารต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มธนาคารที่ได้มีการจัดอันดับ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/moodys-upgrades-sacombanks-credit-rating-outlook-to-positive-post1016365.vov

“SCG” เดินหน้ารุกตลาดเวียดนาม

บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) อนุมัติการลงทุนเข้าซื้อหุ้น 70% ของ Starprint Vietnam JSC (SPV) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษแข็งแบบพับได้ ด้วยมูลค่า 1.53 พันล้านบาท หรือประมาณ 44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจในตลาดเวียดนาม ทั้งนี้ นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง กล่าวว่าบริษัทจะเดินหน้าขยายโอกาสทางธุรกิจและเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูง รวมถึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัท SPV มีฐานลูกค้าที่โดดเด่นและมีประวัติที่ดีในเรื่องของความสัมพันธ์ทางการค้ากับบริษัทข้ามชาติและบริษัทระดับประเทศ โดยบริษัทดังกล่าวมีกำลังการผลิตการพิมพ์ออฟเซ็ท 16,500 ตันต่อปี และกล่องแข็ง 8 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ เมื่อประเมินงบการเงินของบริษัท SPV ในปี 2565 พบว่ารายได้รวมของกิจการ อยู่ที่ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยกำไรสุทธิหลังหักภาษี 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailands-packaging-company-to-expand-business-in-vietnam/252178.vnp

สื่ออินเดีย ชี้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของเอเชีย

บทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ “THE STAT READE TIMES” เปิดเผยว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและเครื่องแต่งกาย โดยบทความข้างต้นระบุว่าบางประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เวียดนามยังคงมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ เร่งขยายตัว 8.02% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้ง เวียดนามมีแรงงานที่สามารถแข่งขันได้และต้นทุนการผลิตต่ำ ประกอบกับประชากรวัยหนุ่มสาว จำนวน 97 ล้านคน โดยสัดส่วนประชากร 70% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกำลังแรงงานจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/indian-newspaper-vietnam-could-be-asias-next-industrial-hotspot-post121907.html

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแทน โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานในจีนที่แพงขึ้นและนโยบายกำจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการปักกิ่งให้เป็นศูนย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ขณะที่ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยต่อลมหายใจให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้มาก โดยข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุเสริมว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนโดยเฉลี่ยของคนงานในโรงงานในกวางโจวของจีนอยู่ที่ประมาณ 670 ดอลลาร์ สูงกว่าค่าจ้างรายเดือนคนงานในโฮจิมินห์ ซิตี้ของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์และในกรุงธาดา บังกลาเทศซึ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1042066