CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

  • มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานาน การรวมตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน ซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้ อาหารทะเลไปยังแคนาดา ส่งออกยานยนต์ โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโก ส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษ รวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวัน
  • มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว อานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัว ต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้
  • มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

ที่มา :

/1 https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CPTPP-z3282.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-cptpp-rcep-01112021

รมว.พาณิชย์กัมพูชาร่วมลงนาม FTA กับเกาหลีใต้

กัมพูชาและเกาหลีใต้ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะลดภาษีนำเข้าระหว่างกันมากกว่าร้อยละ 90 ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งตกลงกันในขั้นต้นเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่า กัมพูชาจะยกเลิกภาษีสินค้าร้อยละ 93.8 และเกาหลีใต้จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีร้อยละ 95.6 ของสินค้านำเข้าจากกัมพูชา โดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าวเสริมว่า FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา ซึ่งตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 คิดเป็นมูลค่า 259.1 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 461.4 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้ โดยปีที่แล้วปริมาณการค้าทวิภาคีลดลงร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่ารวม 885 ล้านดอลลาร์ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50959287/commerce-minister-signs-free-trade-agreement-with-south-korea/

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลุยหารือฟื้นเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนก.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ผ่านการประชุมทางไกล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยการประชุมร่วมกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน การหารือเกี่ยวกับการเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยจะจัดประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นพ้องที่จัดประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นขึ้น

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/118394

ข่าวดี! เอฟทีเอ อาเซียน-ฮ่องกง เพิ่มความร่วมมือทางศก.อีก 5 สาขา จูงใจลงทุนแรงสุด

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ฮ่องกง ครั้งที่ 5 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยหารือในประเด็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน–ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน–ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกภาคีสมาชิกแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ทั้งนี้ นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการอีก 5 สาขา ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน/กฎระเบียบทางเทคนิค/กระบวนการประเมินความสอดคล้อง ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 สาขา ได้แก่ พิธีการศุลกากร บริการวิชาชีพ การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาขาความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจของไทยและอาเซียนในตลาดโลกได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2950650

FTA กู้วิกฤตดันส่งออกสินค้าเกษตร 7 เดือนปี 64 ทะลุ 1 หมื่นล้าน!

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์) ไป 18 ประเทศคู่เจรจา FTA ช่วง 7 เดือนปี 64 ทะลุ 11,664.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33% ความตกลงการค้าเสรี (FTA) มีส่วนสำคัญในการสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก เนื่องจากประเทศที่มี FTA กับไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่แล้ว ทำให้สินค้าไทยได้เปรียบด้านราคาและต้นทุนทางภาษีเมื่อต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ช่วยให้สินค้าเกษตรมีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พบตลาดเกาหลีใต้โตแรง มั่นใจ! แนวโน้มส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจตลาดสำคัญฟื้นตัว

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-757862

“พาณิชย์” เผยไทยใช้ FTA-GSP ส่งออกครึ่งปี เพิ่ม 34%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือน มิ.ย.2564 มีมูลค่า 8,380.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 และยอดรวม 6 เดือนปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 40,244.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.34 มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ร้อยละ 78.07 ของการได้รับสิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 38,329.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.27 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 79.05 และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,914.84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63 มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ร้อยละ 62.61 สำหรับรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในช่วง 6 เดือน ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาเซียน มูลค่า 13,439.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.จีน มูลค่า 12,734.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.ออสเตรเลีย มูลค่า 4,270.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.ญี่ปุ่น มูลค่า 3,485.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.อินเดีย มูลค่า 2,336.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบ FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ไทย-เปรู 100% 2.อาเซียน-จีน 96.58% 3.ไทย-ชิลี 86.80% 4.ไทย-ญี่ปุ่น 80.04% และ 5.อาเซียน-เกาหลี 69.43%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/economy/492374

อาเซียน-ฮ่องกง FTA อีก 5 สาขาไทยได้ประโยชน์

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมและทำหน้าที่ประธานฝ่ายอาเซียนในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA-JC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเรื่องการลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า และการบังคับใช้ตารางการลดภาษี ที่มีการแปลงพิกัดจากของภาคีสมาชิก ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงบรูไน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และที่ประชุมได้เห็นชอบขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการภายใต้ความตกลง AHKFTA เพิ่มเติมใน 5 สาขา ได้แก่ สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และ การส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่เห็นชอบแล้ว 5 สาขา โดยไทยมีความตกลงกับฮ่องกง 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้าและการค้าบริการ การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_144568/

กัมพูชาและจีนกำหนดให้สัตยาบัน FTA เต็มรูปแบบในต้นปีหน้า

ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนมีแนวโน้มที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า หลังจากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของรัฐสภา โดยกระทรวงพาณิชย์จะส่งร่างกฎหมายให้รัฐสภาได้พิจารณาอนุมัติในลำดับถัดไป ซึ่ง รมว.พาณิชย์ ได้จัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับประธานคณะกรรมการรัฐสภาชุดที่ 9 ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้ทบทวนร่างกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2022 ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนาม FTA ในเดือนตุลาคม 2020 หลังจากการเจรจาเกิดขึ้นหนึ่งปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่เน้นการเข้าถึงตลาดสำหรับพืชผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ ตลอดจนสินค้าเกี่ยวกับงานฝีมือ และสินค้าอื่นๆ ที่กัมพูชามีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานด้านสุขอนามัยของจีน โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันการนำเข้าจากจีนของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 21 จากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม วัตถุดิบ และวัสดุก่อสร้างของกัมพูชาที่กำลังขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50891934/full-ratification-of-free-trade-deal-with-china-is-now-expected-early-next-year/

สมาคมสิ่งทอเวียดนาม เผยยอดการส่งออกเครื่องนุ่มห่ม 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรก

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม (VITAS) เผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกของภาคเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้น 21.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ราว 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเส้นใยและเส้นด้าย ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. พุ่ง 60.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การส่งออกผ้า เพิ่มขึ้น 26.4% สู่ 947 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าได้รับสัญญาเชิงบวกจากตลาดส่งออกสำคัญ ตลอดจนใช้โอกาสจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) สหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำเข้าเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม รองลงมาญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/garmenttextile-exports-hit-152-billion-usd-in-five-months-vitas/203370.vnp

‘กรมเจรจาฯ’ เตรียมจัดระดมความคิดเห็นออนไลน์ การจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมจัดสัมนาเรื่อง “การจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา” เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้ง แสดงความคิดเห็นก่อนใช้ประกอบในผลการศึกษาข้อดีข้อเสียและใช้เป็นท่าทีประกอบการตัดสินใจในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-แคนาดา ในเดือน ก.ย. นี้ แคนาดาเป็นประเทศที่ยังไม่มี FTA กับไทยมาก่อน จึงมีบางประเด็นที่ไทยต้องใช้ความรอบคอบในการเจรจาร่วมกับอาเซียน เช่น การเปิดตลาดสินค้าสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการเข้าถึงยาและการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นทั้งโอกาศที่ดีและน่ากังวลของผู้ส่งออกไทยหากมีการจัดทำ FTA

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3230284