‘ข้าวเวียดนาม’ ราคาพุ่ง แต่กลับขายดี

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) รายงานว่าการส่งออกข้าวของเวียดนาม มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตันในเดือน เม.ย. ปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 620 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายอดการส่งออกข้าวของเวียดนามสูงถึง 3.17 ล้านตัน มูลค่า 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% และ 33.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 644 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 22% ถึงแม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ฟิลิปินส์ที่เป็นตลาดนำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่กลับซื้อข้าวปริมาณมาก

นอกจากนี้ นาย Phung Van Thanh ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเวียดนามมีศักยภาพและโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้ และแนะนำว่าผู้ส่งออกข้าวเวียดนามควรร่วมมือกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้ ตั้งแต่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้ที่มีรายได้สูง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/prices-stay-high-but-vietnam-s-rice-selling-well-2281252.html

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาจับมือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา ส่งออกข้าวโพดและข้าว กระตุ้นเศรษฐกิจ

มีรายงานว่า ข้าวโพดกว่า 5,400 ตันถูกส่งออกจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM) พร้อมด้วย 2,700 ตันจากท่าเทียบเรือ Shweme (SMJ) และข้าว 4,850 ตันจากท่าเรือ Wilmar International Port ซึ่งจุดเริ่มต้นด้านการส่งออกดังกล่าวนี้ ดำเนินการผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสหภาพสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มีการส่งออกเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวโพด 71,900 ตัน และข้าว 6,000 ตันจากท่าเรือ Sule Port Wharves (SPW) ข้าวโพด 53,500 ตันจากท่าเรืออุตสาหกรรมเมียนมา (MIP), ข้าวโพด 58,400 ตัน และข้าว 12,500 ตันจากท่าเรือ Ahlon International Port Terminal (AIPT), ข้าวโพด 29,500 ตันจาก The Myanmar Terminal-TMT, ข้าวโพด 5,400 ตันจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM), 11,000 ตันจากท่าเทียบเรือนานาชาติย่างกุ้ง (YIGT) และข้าวโพด 2,700 ตันจาก Myanmar Five Star Line ( MFSL) ซึ่งการส่งออกเหล่านี้ได้ถูกกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-collaborates-with-umfcci-to-export-maize-and-rice-boosting-economy/

โครงการค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมข้าวกัมพูชา ดันการเพิ่มผลผลิตและการส่งออกข้าว

โครงการประกันสินเชื่อส่งออกข้าว (REGS) ได้รับการลงนามระหว่างองค์กรรับประกันสินเชื่อแห่งชาติ (CGCC) สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตข้าวในกัมพูชาอย่างโรงสีให้สามารถขยายการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเก็บสต็อก เพื่อสีแปรรูป และส่งออก รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมภายในประเทศ ซึ่งพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ภายใต้การเป็นประธานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน สำหรับวงเงินโครงการอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์ โดยมีสถาบันการเงิน 7 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ AMK, Canadia Bank, FTB, Maybank, Prince Bank, Sathapana Bank และ Wing Bank ขณะที่เป้าหมายของโครงการ นอกจากการเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชาแล้ว ทางการกัมพูชายังได้สร้างความท้าทายด้วยการกำหนดนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486350/rice-credit-guarantee-scheme-inked-to-boost-rice-productivity-and-export/

‘เวียดนาม’ ชี้ราคาส่งออกข้าวสูงสุดในตลาดโลก

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคาข้าวของเวียดนามในตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3-8 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามอยู่ในระดับสูงสุดในตลาดโลก โดยจากข้อมูลพบว่าราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาข้าวของไทยประมาณ 3 เหรียญสหรัฐต่อตัน และสูงกว่าราคาข้าวของปากีสถาน 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาข้าวหัก 25% ของเวียดนาม อยู่ที่ 555 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าวหัก 100% ของเวียดนาม อยู่ในระดับทรงตัวที่ 470 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งราคาข้าวหักทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว มีราคาสูงกว่าข้าวไทยและปากีสถาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-leads-in-export-rice-prices-globally-post285508.vnp

‘ราคาข้าวเวียดนาม’ พุ่ง

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) รายงานว่าราคาข้าวเปลือกของเวียดนามปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะราคาข้าวรับจากเกษตรกร เฉลี่ย 8,000 ด่องต่อกิโลกรัม และราคาข้าวรับซื้อหน้าโรงสีเฉลี่ย 9,475 ด่องต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาข้าวหัก 5% อยู่ที่ 14,200 ด่องต่อกิโลกรัม ตามมาด้วยราคาข้าวหัก 15% และ 25% อยู่ที่ 13,950 ด่อง และ 13,750 ด่อง ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาราคาส่งออกข้าวของเวียดนาม พบว่าราคาข้าวหัก 5% อยู่ที่ 582 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาข้าวไทยที่ 579 เหรียญสหรัฐต่อตัน และราคาข้าวปากีสถาน 581 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะเดียวกัน ราคาข้าวหัก 25% ของเวียดนาม อยู่ที่ 557 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาข้าวไทยจะอยู่ที่ 530 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnamese-rice-prices-on-the-hike-post135006.html

‘เวียดนาม’ ซัพพลายเออร์ข้าวรายใหญ่ที่สุดในตลาดสิงคโปร์

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศสิงคโปร์ รายงานว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อันดับของผู้ส่งออกข้าวอย่างเวียดนามแซงหน้าคู่แข่ง อินเดียและไทย เป็นครั้งแรกในตลาดสิงคโปร์ โดยมูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสิงคโปร์ อยู่ที่ 36.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 80.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 32.03% รองลงมาไทยและอินเดีย มีมูลค่าการส่งออก 33.63 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 33.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานการค้าแนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกข้าวไตรมาสแรก โตพุ่ง 42%

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 2.1 ล้านตัน สร้างรายได้กว่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากผู้ซื้อข้าวเวียดนามรายใหญ่ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน กานา มาเลเซียและสิงคโปร์ ส่งผลให้ยอดการส่งออกข้าวเติบโตอย่างน่าประทับใจ

อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศเหล่านี้มองหาการกระจายอุปทานข้าว ซึ่งทำให้ลดการพึ่งพาข้าวจากเวียดนามอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ กระทรวงฯ ร้องขอให้ผู้ส่งออกข้าวในชนบทมองหาตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

นอกจากนี้ ในฐานะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก เวียดนามตั้งเป้าที่จะสร้างรายได้จากการส่งออกข้าวในปีนี้ มูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-q1-rice-exports-grow-42-y-o-y/

‘เวียดนาม’ เตรียมกู้เงินจากธนาคารโลก 380 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนโครงการปลูกข้าวคุณภาพสูง

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เตรียมกู้เงินจากธนาคารโลก มูลค่ากว่า 360 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 ล้านล้านดอง เพื่อดำเนินโครงการที่ตั้งเป้าเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง 1 ล้านเฮกตาร์ โดยการหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวจะทำการประชุมกับคณะกรรมการบริหารโครงการของกระทรวงฯ ในวันที่ 8 เม.ย.

ขณะที่นายหลี่ กัว (Li Guo) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้โครงการปฏิรูปเกษตรกรรมยั่งยืนของเวียดนาม (VnSAT) และมองว่าเวียดนามจะเป็นผู้นำทางด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้าทางการเกษตรของโลก ตลอดจนธนาคารโลกจะร่วมมือกับกระทรวงฯ อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ โครงการการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวเวียดนามได้อย่างยั่งยืน ยกระดับรายได้ของเกษตรกร พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-seeks-us360-million-loan-from-wb-for-high-quality-rice-project/

การเปลี่ยนแปลงของตลาดข้าวและแนวโน้มราคาก่อนเทศกาล Thingyan ในย่างกุ้ง

ตามรายงานของตลาด เนื่องจากช่วงวันหยุด Thingyan ใกล้เข้ามา ราคาของข้าวที่ไม่ใช่ข้าวพรีเมียมในฤดูร้อนชนิดใหม่จึงลดลงในตลาดย่างกุ้ง แม้ว่าราคาข้าวมรสุม (ทั้งที่ไม่ใช่ข้าวพรีเมี่ยมและพรีเมี่ยม) จะยังคงสูงอยู่ ซึ่งในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2024 ราคาข้าวใหม่ที่ไม่ใช่พรีเมี่ยม ฤดูร้อนอยู่ที่ 76,000 จ๊าดต่อถุง ซึ่งลดลงจาก 80,000 จ๊าดต่อถุง ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปัจจุบัน ข้าวมรสุมที่ไม่ใช่พรีเมี่ยมมีราคาอยู่ที่ 86,000 จ๊าดต่อถุง ข้าวมรสุมที่ไม่ใช่พรีเมี่ยมที่เพิ่งเก็บเกี่ยว (พันธุ์ 90 วัน) อยู่ที่ 93,000 จ๊าด และข้าวมรสุมเก่าที่ไม่ใช่พรีเมี่ยม 90 วันอยู่ที่ 110,000 จ๊าดต่อ ถุง ข้าวพันธุ์ Pawkywe ใหม่มีราคาอยู่ที่ 100,000 จ๊าดต่อถุง ข้าวพันธุ์ Ayeyawady อยู่ระหว่าง 123,000 ถึง 141,000 จ๊าด และ ข้าวพันธุ์ Shwebo อยู่ระหว่าง 150,000 ถึง 160,000 จ๊าด ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ตลาดค้าส่งข้าวจะปิดทำการเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ตามที่ระบุไว้ในรายงาน นอกจากนี้ การขนส่งข้าวจากเมืองอื่นๆ ไปยังย่างกุ้งก็จะถูกระงับในช่วงหลายวันก่อนถึงเทศกาล นอกจากนี้ ผู้ค้าข้าวคาดการณ์ว่าความต้องการทั้งข้าวที่ไม่ใช่ข้าวพรีเมี่ยมและพันธุ์จะสูงตามหลังเทศกาล Thingyan ส่งผลให้ราคาในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rice-market-dynamics-and-price-trends-ahead-of-thingyan-festival-in-yangon/

เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหัก 250,000 ตัน มูลค่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม

ตามข้อมูลของสมาพันธ์ข้าวเมียนมา รายงานว่า ในช่วงเดือนมีนาคมของปีนี้ จากบริษัท 55 แห่งของเมียนมามีการส่งออกข้าว 147,041 ตัน และการส่งออกข้าวหัก 109,996 ตัน คิดเป็นยอดรวม 257,037 ตัน สร้างรายได้จากการส่งออกทั้งหมดกว่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากยอดรวมดังกล่าวเป็นการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 252,993 ตัน และการค้าชายแดนอยู่ที่ 4,077 ตัน ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในการส่งออกข้าวของเมียนมาโดยมีการส่งออกไป 41,000 ตัน, แคเมอรูน 28,645 ตัน, โกตดิวัวร์ 24,000 ตัน, เบลเยียม 9,000 ตัน, สเปน 8,380 ตัน และประเทศอื่นๆ 36,016 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในตลาดส่งออกข้าวหักเมียนมา ส่งออกไปยังเบลเยียม 45,022 ตัน, จีน 33,299 ตัน, สเปน 10,000 ตัน, ฟิลิปปินส์ 4160 ตัน, อินโดนีเซีย 4160 ตัน และประเทศอื่นๆ 133,55 ตันตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-250000-tonnes-of-rice-and-broken-rice-worth-us-133-mln-in-march/