MoC-NBC ผลักดันการใช้ป้ายแสดงราคาสินค้าเป็นสกุลเงินเรียล

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) และธนาคารชาติกัมพูชา (NBC) ได้จัดการประชุมระดับสูงเพื่อหารือกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้เงินสกุลเรียลของประเทศกัมพูชา โดยเห็นพ้องกันว่าการแสดงป้ายราคาเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งการประชุมครั้งนี้นำโดย Yim Leat รองผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชา และ Serey Borapich รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือการจัดระเบียบความร่วมมือระหว่างสองสถาบัน เพื่อส่งเสริมการใช้เงินเรียลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านธนาคารชาติกัมพูชายังได้นำเสนอวิธีการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วยซึ่งมีส่วนช่วยในการใช้เงินเรียลมากขึ้น ปัจจุบันปริมาณเงินเรียลที่หมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นจาก 8.5 แสนล้านเรียล (ประมาณ 211 ล้านดอลลาร์) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นสู่ 14.5 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 3.51 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495175/moc-nbc-push-for-riel-price-tags/

นายกฯ สปป.ลาว แนะให้จัดการการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่ที่มีประสิทธิภาพ

นายกฯ สปป.ลาว แนะให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ให้มีการจัดการโครงการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่ที่มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยนายกฯ ได้สั่งให้กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่หาแนวทางที่เข้มงวดมากขึ้นในด้านการทำงานของกระทรวง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ นายกรัฐมนตรียังขอให้กระทรวงพลังงานฯ ให้ความสำคัญกับงานด้านอื่น ๆ รวมถึงการทบทวนนโยบายการจัดหาไฟฟ้าในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้แน่ใจว่ามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และออกแบบมาเพื่อบรรเทาระดับความยากจน และเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานฯ ช่วยปฏิบัติตามมติของรัฐบาลเกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และการใช้แหล่งพลังงานสะอาดที่มีอยู่ในประเทศลาวให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังขอให้ประเมินความคืบหน้าของการดำเนินการสำรวจและแปรรูปแร่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ และกำหนดเกณฑ์เฉพาะสำหรับการออกใบอนุญาตของบริษัทพัฒนาเหมืองแร่และการลงทุน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_45_PM_Call_y24.php

นายกฯเร่งส่งเสริมแข็งแกร่ง SMEs ไทยขับเคลื่อนอุตฯ MICE

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายในการส่งเสริม SMEs และ อุตสาหกรรม MICE ด้วยตระหนักดีว่าเป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพ และมีความสำคัญ กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สร้างงาน อาชีพ กระจายรายได้ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศเป้าหมายซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนด รวมทั้งกรอบระยะเวลาดำเนินงาน ผ่านมาตรการส่งเสริม SMEs 9 ด้าน ที่จะผลักดันให้ GDP ของ SMEs ไทยเพิ่มจาก 35.2% เป็น 40% ได้ภายในปี 2570 พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ เป็นอีกภาคส่วนที่มีศักยภาพรัฐบาลต้องการผลักดันเพราะเป็น อุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นจุดเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศจากทั่วโลก และการอำนวยความสะดวกเรื่องการขอวีซ่าและสถานที่ ในการจัดแสดงสินค้าของประเทศในการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจสำหรับการจัดประชุมและแสดงสินค้าที่มีศักยภาพ และพร้อมรองรับนักเดินทาง MICE ต่างชาติซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี พิจารณาถึงภาคส่วนที่ไทยมีศักยภาพ พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อสร้างโอกาส ทั้งผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีศักยภาพ ทั้งความสร้างสรรค์ และคุณภาพ พร้อมการแข่งขันกับทุกตลาด และการขับเคลื่อน MICE ไทยให้เป็นอีกจุดหมายสำคัญของการจัดประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของ MICE โลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทั้งสองอุตสาหกรรมจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะสร้างงานผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ภาพจาก : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/politics/news_676866/

รัฐบาลกัมพูชาตั้งคณะทำงานศึกษาการจัดทำนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

รัฐบาลกัมพูชาได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาสิ่งอำนวยความสะดวก และพัฒนากรอบนโยบาย เพื่อการส่งเสริมภาคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) กล่าวโดย Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี MEF รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน (EFPC) ซึ่งได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการจัดตั้งทีมนโยบาย EV ประกอบด้วยสมาชิก 27 ท่าน นำโดย Ros Seilava รัฐมนตรีต่างประเทศ MEF โดยเน้นไปที่การพัฒนากลยุทธ์เพื่อส่งเสริมภาค EV ของประเทศ การลดต้นทุนการผลิต EV ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนมีต้นทุนในการเข้าถึง EV ที่ต่ำลง รวมถึงการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานของชิ้นส่วนอะไหล่ ส่วนประกอบ และวัตถุดิบ ตลอดจนการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโรงไฟฟ้าและการเชื่อมต่อโครงข่าย เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501433183/govt-forms-policy-working-group-to-promote-evs/

เงินบาทอ่อนค่าแรงทะลุระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง หลังตลาดกังวลเสถียรภาพการคลังของไทยจากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต

ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ (13 พฤศจิกายน) ที่ระดับ 36.10 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนักจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.89 บาทต่อดอลลาร์ กดดันโดยจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลวธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ซึ่งได้สะท้อนผ่านแรงขายหุ้นและบอนด์ โดยนักลงทุนต่างชาติในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้าน พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ย Fed และความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทย ทำให้ในสัปดาห์นี้ยังต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน พร้อมติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักและลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินไทยอาจผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหากพิจารณาจากแรงขายหุ้นและบอนด์ รวมถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทล่าสุด อาจประเมินได้ว่าผู้เล่นในตลาดต่างกังวลต่อความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทยมากขึ้น

ที่มา : https://thestandard.co/baht-depreciate-36-baht-per-usd/

นายกฯ ประกาศ รัฐบาลกัมพูชาจะยังไม่มีการขึ้นภาษีและไม่มีการกำหนดอัตราภาษีใหม่

นายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ชี้แจงอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่ของกัมพูชา (RGC) จะไม่กำหนดภาษีใหม่ใดๆ หรือเพิ่มอัตราภาษีที่มีอยู่ แต่คงไว้ซึ่งการยกเว้นภาษีในปัจจุบัน สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท โดยกล่าวไว้ในระหว่างการปราศรัยกับคนงาน-ลูกจ้าง จากโรงงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตเมียนเจยและดังกอร์ ของกรุงพนมเปญ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเน็ต กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้บังคับใช้กฎหมายทางด้านภาษีที่มีอยู่เพียง 13 ฉบับ ซึ่งเรียกเก็บมานานหลายทศวรรษนับตั้งแต่ปี 1982 ถึงแม้รัฐบาลกัมพูชาจะมีแนวทางในการปรับขึ้นภาษีในอนาคตให้ทัดเทียมนานาประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนและเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่กำลังประสบกับความยากลำบาก รัฐบาลจึงพิจารณาไม่ปรับขึ้นภาษีในระยะนี้ จนกว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ เพื่อที่จะนำภาษีที่จัดเก็บได้มาพัฒนาและปรับปรุงประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501370884/no-new-tax-nor-tax-rise-says-pm/

กกร.ชง 3 เรื่อง วางอุตสาหกรรมยั่งยืน EEC-จัดการน้ำ-คาร์บอนเครดิต พบ ต.ค.น้ำลดเหลือ 55% หวั่นเกิดวิกฤติน้ำขาด เร่งรัฐรับมือจัดการน้ำยั่งยืน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดย กกร.ได้จัดประชุมคณะกรรมการประจำเดือนตุลาคม 2566ว่า เนื่องจากสถานการณ์เศรษกิจโลกชะลอตัว จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ประเทศที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แนวโน้มโน้มเศรษฐกิจของไทยจึงขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3.0% ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตโดยตรง คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้นซึ่งอาจจะมีผลต่อราคาพลังงานในประเทศหลังจากช่วงการลดราคาตามนโยบายของรัฐสิ้นสุดลง ดังนั้นข้อเรียกร้องสำคัญของ กกร. ที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ คือ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา EEC ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อ EEC การจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระหว่างปี 2566-2570 ตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้มีความเพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความมั่นใจถึงความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://www.thaiquote.org/content/251251

กกร.เฉือนจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3% เสนอรัฐบาลเร่งนโยบายลดค่าครองชีพ

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง และสัญญาณความเสี่ยงในเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อภาคส่งออกของไทยที่ยังมีอุปสรรคในการฟื้นตัว ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด โดย กกร.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากเดิมอยู่ที่ 3.0-3.5% เป็น 2.5-3.0% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 2 เติบโตเพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 3.1% อย่างมาก เช่นเดียวกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมา 10 เดือน และติดลบแทบทุกหมวด ส่งผลให้ กกร.ปรับประมาณการจากเดิมมองอยู่ที่ -2.0 ถึง 0.0% มาอยู่ที่ -2.0 ถึง -0.5% และเงินเฟ้อที่ 1.7-2.2% จากเดิม 2.2-2.7% ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวต่อเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีแนวโน้มล่าช้า นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต่ำกว่าปกติอยู่ราว 13% และค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของคนไทยในการเที่ยวในประเทศต่ำกว่าปกติราว 33%

ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-1388453

‘หอการค้าไทย’ แนะรบ.ใหม่เร่งกระตุ้นศก. ดูแลปากท้องประชาชน จี้ทบทวนแจกเงินดิจิทัล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน หอการค้าไทยยังมีความมั่นใจว่าประเทศน่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ได้ในกรอบเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566 โดยมองว่าไทยควรมีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเอกชนติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งสำคัญ คือเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะต้องมีเสียงเพียงพอและเข้มแข็ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลใหม่ในการดูแลเศรษฐกิจ โดยครอบคลุม 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วนโดยสิ่งที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องดูแลทันที คือ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชน รวมถึงแก้ปัญหาภาคการส่งออกที่ชะลอตัว และเร่งส่งเสริมภาคท่องเที่ยว 2.ระยะกลาง ต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการทั้งพื้นที่ และการกักเก็บน้ำที่เหมาะสม รองรับความต้องการของภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ 3.ระยะยาว ต้องเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วน ถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/431818/

ทางการ สปป.ลาว พร้อมแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ควบคู่การสร้างความมั่นคง

คณะกรรมการกลางของพรรคประชาชนปฏิวัติ สปป.ลาว มีมติให้เริ่มมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 4.5 ในปีนี้ ในขณะที่กำลังพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและชะลอการอ่อนค่าของเงินกีบ โดยคณะกรรมการกลางพรรคเพิ่งมีมติในประเด็นดังกล่าวในการประชุมสมัยที่ 6 ซึ่งสรุปการดำเนินการที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงเป็นการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปยังภาคประชาชน โดยปัจจุบัน สปป.ลาว กำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการขาดดุลเงินตราต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นสำคัญ นอกจากนี้ทางการยังจำเป็นต้องทบทวนนโยบายสินเชื่อเพื่อให้แน่ใจว่าธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนมากพอเพื่อกระตุ้นภาคการผลิตในประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Partyresolves149.php