‘เวียดนาม’ เผยสัดส่วนหนี้สาธารณะ ปี 66 แตะ 37% ต่อ GDP

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าหนี้สาธารณะของเวียดนามในปี 2566 มีมูลค่า 3.8 พันล้านล้านด่อง หรือคิดเป็น 37% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งตัวเลขหนี้สาธารณะดังกล่าวอยู่ในระดับไม่เกินเพดาน 60% ตามที่รัฐสภากำหนดไว้ และยังต่ำกว่าประมาณการณ์ของกระทรวงฯ

ทั้งนี้ นายโฮ ดึก ฟอก  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าถึงแม้เวียดนามจะเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก แต่นโยบายการคลังของเวียดนามในปีที่แล้ว สามารถบรรลุความสำเร็จมาได้ อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินปี 2567 กระทรวงการคลังประมาณการณ์ถึงปัจจัยและความท้าทายต่างๆ และมองว่าการจัดเก็บงบประมาณของรัฐ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 พันล้านล้านด่อง ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณที่ 2.1 พันล้านล้านด่อง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-2023-public-debt-at-37-of-gdp-post1069195.vov

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดนโยบายใหม่ หลังพบ ADB หวังจัดการปัญหาหนี้สาธารณะ

รัฐบาล สปป.ลาว ร่วมเจรจานโยบายระดับสูงเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการเสริมสร้างการจัดการหนี้สาธารณะในประเทศ สปป.ลาว ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกระทรวงการคลัง โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดการหนี้สาธารณะด้วยการเชื่อมโยงระบบบริหารจัดการหนี้สาธารณะเข้ากับนโยบายการคลัง และการเงิน ร่วมกับการจัดทำมาตรการเฉพาะของรัฐบาล สปป.ลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการหนี้สาธารณะ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ด้านนาย Soulivath ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการติดตามสถานการณ์หนี้สาธารณะ รวมถึงประเมินความเสี่ยงทางการคลังต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะ เพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_196_Govt_y23.php

‘ศก.เวียดนาม’ เติบโตเด่นสุดในอาเซียน ปี 2566

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวและการผ่อนคลายนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง และมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสามารถควบคุมได้ มีอัตราต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4.5% ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กล่าวชื่นชมหน่วยงานของรัฐบาลเวียดนามในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงยังคงสูงขึ้นและจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการด้านกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-economy-likely-to-lead-asean-s-growth-this-year-2195780.html

‘เวียดนาม’ เผยนโยบายการคลัง คุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

นาย Võ Thành Hưng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเวียดนาม เปิดเผยว่าได้ดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย (4%) ที่สภาแห่งชาติกำหนดไว้ ท่ามกลางราคาสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศ ทั้งราคาอาหารและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของเวียดนาม เฉลี่ย 1.92% ในไตรมาสแรกของปีนี้ นโยบายการคลังจึงต้องลดภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้  ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะยังต่ำกว่า 4% และเสริมว่ารัฐบาลมีความสามารถที่จะควบคุมราคาสินค้าให้มีความยืดหยุ่น เช่น การลดภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำหรับเชื้อเพลิง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1174694/fiscal-policies-work-to-keep-inflation-under-control.html

 

ทางการกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 22%

กรมภาษีอากรกัมพูชา (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษี ณ ไตรมาส 1 ปี 2022 คิดเป็นมูลค่ารวม 1,263 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ครอบคลุมร้อยละ 45 ของเป้าหมายการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 ซึ่งในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว GDT จัดเก็บภาษีได้ 750 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของรายได้ทั้งหมดที่ตั้งเป้าไว้ ในด้านของกรมศุลกากรและสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีได้มูลค่า 512 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันกรมภาษีอากรยังคงเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการตามกรอบนโยบายการคลังและมาตรการด้านการบริหารงาน ควบคู่ไปกับมาตรการสำคัญหลายประการเพื่อนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501060747/tax-income-collection-rises-by-22-percent-in-q1/

‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามควรเร่งฉีดวัคซีนและดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการดำเนินนโยบายการคลัง คาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ สำหรับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้นในเดือน พ.ย. หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการกลับมาฟื้นตัว และยังสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ย. ก็เพิ่มขึ้น 45% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสองเดือนติดต่อกัน นับจากเดือน พ.ค. นอกจากนี้ ประเด็นการส่งออก พบว่ายอดส่งออกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 31.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในเดือน พ.ย. เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นจาก 6.1% ในเดือน ต.ค. มาอยู่ที่ 26.5% ในเดือน พ.ย.

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อแผนการฉีดวัคซีนแบบเร่งด่วน การใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการกักกันโรค เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-push-for-rapid-vaccination-and-fiscal-policy-support-to-help-reboot-economy-911545.vov

สำรวจเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV ยัง ‘ฟื้นตัว’ แตกต่างกันจากพิษโควิด-19

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า เศรษฐกิจกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 หลังเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2563 ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV ยังคงฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง โดยระดับการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวแบบช้าๆ และไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 และประสิทธิภาพของมาตรการรองรับ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะในรายประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเศรษฐกิจเวียดนามกลับมาฟื้นตัวได้ดี ด้วยแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจลาวยังเผชิญแรงกดดันจากข้อจำกัดในการทำนโยบายการคลัง (Fiscal Space) และความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประเด็นการผิดชำระหนี้ สำหรับเมียนมา การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่กลับมาเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในปีงบประมาณ 2020/2021

ที่มา : https://thestandard.co/the-clmv-economic-survey-continued-to-recover/