‘สิงคโปร์’ นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา

จากสถิติของคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารเมียนมา เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.) ของปีงบประมาณ 2566-2567 สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อยู่ที่ 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยธุรกิจสิงคโปร์ส่วนใหญ่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ พลังงานและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเมียนมา ด้วยเงินลงทุนประมาณ 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 467.793 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด และอนุมัติโครงการจากต่างประเทศ จำนวน 18 โครงการ จาก 6 ประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/singapore-leads-myanmars-fdi-rankings-over-last-4-months/#article-title

นายกฯ ฮุน เซน เร่งส่งออกข้าวพรีเมียมไปยังสิงคโปร์มากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวเกรดพรีเมียมไปยังสิงคโปร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันข้าวพรีเมียมเป็นที่ต้องการของสิงคโปร์อีกทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยกัมพูชาคาดว่าจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญให้กับสิงคโปร์ในระยะต่อไป อีกทั้งสิงคโปร์ยังให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายล้านคนในแต่ละปี ทำให้สิงคโปร์ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เพื่อรองรับกับความต้องการที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งข้าวของกัมพูชา (Phka Rumduol) ได้รับรางวัล World’s Best Rice 2022 Award จากงาน World Rice Conference (WRC) โดยนับเป็นการได้รับรางวัลครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชา แสดงถึงคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สำหรับการส่งออกข้าวของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปีแตะ 278,184 ตัน ไปยัง 50 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 191 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ด้านนายกฯ ยังขอให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาส่งเสริมและสนับสนุนสินค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของกัมพูชาผ่านการทูตเชิงพาณิชย์ต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317626/pm-urges-premium-rice-exports-to-singapore/

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรกของปี 66 ดึงดูดเม็ดเงินทุน FDI แตะ 10.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยข้อมูลเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังเวียดนามตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงวันที่ 20 พ.ค.66 รวมถึงการลงทุนใหม่ การปรับเพิ่มเงินลงทุนและการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ พบว่ามีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นราว 10.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 10.6 จุดเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่ามากกว่า 6.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาภาคการเงินธนาคาร อสังหาริมทรัพย์และวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ในขณะที่สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ลงทุนไปกว่า 2.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยญี่ปุ่นและจีน อีกทั้ง ฮานอย (Hanoi) เป็นเมืองที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มีมูลค่ากว่า 1.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 17.2% ของเงินลงทุนรวม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1544340/viet-nam-s-five-month-fdi-reached-nearly-us-10-86-billion.html

“เวียดนาม” เผยไตรมาสแรกปี 66 เม็ดเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลดลง 39%

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) ระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่าราว 5.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และจากตัวเลขการลงทุนข้างต้น มีเงินทุนกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าไปยังโครงการใหม่ จำนวน 522 โครงการ ตามมาด้วยเงินทุนกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าไปยังโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 228 โครงการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมสำคัญของเวียดนาม พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปมีสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 73% รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 14.1% ในขณะที่ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุด คือ สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุน 1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 31% ของการลงทุนจากต่างประเทศ รองลงมาจีนและไต้หวัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1502972/viet-nam-s-foreign-investment-plunges-39-per-cent-in-q1.html

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ วางแผนนำเข้าพลังงานสะอาดจากกัมพูชา

สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (EMA) ได้อนุมัติภายใต้เงื่อนไขสำหรับการนำเข้าพลังงานสะอาดจำนวน 1 กิกะวัตต์ (GW) จากกัมพูชาส่งไปยังสิงคโปร์ ผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลระยะทางกว่า 1,000 กม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การนำเข้าพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ของสิงคโปร์ โดยการอนุมัติดังกล่าวมอบหมายให้กับ Keppel Energy ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานของสิงคโปร์ ในการต่อยอดจากการที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ขณะที่ PV Tech Premium อีกหนึ่งบริษัทด้านพลังงานของสิงคโปร์ วางแผนที่จะนำเข้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 4 GW ภายในปี 2035

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501259849/singapores-ema-gives-conditional-nod-to-project-importing-1gw-of-clean-energy-from-cambodia-inked-with-royal-group/

บริษัทจากสปป.ลาว และสิงคโปร์ เดินหน้าร่วมทุนสร้าง BioZEN Health

บริษัท Biospring.LTD จากสปป.ลาว และบริษัท Zen Science ของสิงคโปร์ได้ลงนามร่วมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ BioZen Health ในสปป.ลาว เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามทางการแพทย์ การบริการทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าสูง โดย BioZen Health ได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และมีเป้าหมายที่จะเริ่มจำหน่ายสินค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะวางจำหน่ายสินค้าในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ด้านนาย Eric Ju ผู้อำนวยการบริหารของ Zen science กล่าว่า สปป.ลาวจะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการขนส่งในคาบสมุทรอินโดจีนในอนาคต และนี่ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญสำหรับ Zen Science ในการขยายการลงทุนในสปป.ลาว

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/02/18/laos-biospring-and-singapore-zen-science-announce-new-joint-venture-biozen-health/

“นายกฯ เวียดนาม” เยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก

นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม จะเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ตามคำเชิญของนายลีเซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยการเยือนในครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตในโอกาสที่ครบรอบ 50 ปี และครบรอบ 10 ปี ของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ (MFA) เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศจะเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือหลายด้านระหว่างสิงคโปร์และเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/singapore/vietnam-prime-minister-pham-minh-chinh-official-visit-singapore-anniversary-3259141

7 เดือนของปี 65 สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่ง FDI ในเมียนมา

หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา  (DICA) เผย ใน 7 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเม.ย.-เดือนต.ค. 2565)  บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ 14 บริษัทได้เร่งอัดฉีดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมาเป็นมูลค่า 1.154 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิตรองลงมาเป็นบริษัทจากฮ่องกง 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จำนวน11 บริษัท และจีน 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 22 บริษัทที่เข้ามาลงทุน ซึ่งในช่วงงบประมาณย่อยที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2564-เดือนมีนาคม 2565) สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าในปีงบประมาณ 2562-2563 มีเม็ดเงินลงทุน .85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2561-2562 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา รองจากญี่ปุ่น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-fdi-ranking-in-myanmar-in-past-seven-months/#article-title

 

สิงคโปร์แซงหน้าจีน ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชา

ในปี 2021 สิงคโปร์ได้เข้ามาแทนที่จีนในฐานะประเทศผู้ลงทุนรายสำคัญของกัมพูชา ด้วย 6 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งประเทศจีนครองตำแหน่งผู้ลงทุนรายสำคัญในปี 2019 และ 2020 ตกลงมาเป็นอันดับ 2 ร่วมกับสหรัฐฯ ตามรายงานของ Investment Monitor ในเรื่อง “Cambodia punches above its weight in attracting FDI” โดยกัมพูชาถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก รองจากสิงคโปร์และนิวซีแลนด์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลโครงการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ GlobalData ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในกัมพูชาพุ่งสูงสุดในปี 2019 ด้วยโครงการลงทุนกว่า 43 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์ ที่เคยได้รายงานไว้ใน World Investment Report 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501178069/singapore-replaces-china-as-cambodias-top-fdi-source/

“ค่าแรงต่ำ แรงงานจำนวนมาก” ขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพสิงคโปร์ในเวียดนาม

หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท์ส ไทม์สของสิงคโปร์ รายงานว่าจำนวนพนักงานมาก ค่าแรงงานอยู่ในระดับต่ำและตลาดที่มีขนาดใหญ่ของเวียดนาม จึงทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพ (Startups) สิงคโปร์

ทั้งนี้ คุณ James Tan พาร์ทเนอร์ของบริษัทกองทุน “Quest Ventures” กล่าวว่ากำลังแรงงานของเวียดนาม มีการศึกษาที่ดีขึ้นและค่าแรงงานยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ประกอบกับเวียดนามมีประชากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว ทำให้กลายมาเป็นฐานลูกค้าของธุรกิจที่มีศักยภาพ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1315198/low-labour-costs-large-workforce-drive-singapore-start-ups-in-viet-nam.html