กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าเดินทาง (GFT) มูลค่ารวม 3,763 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากมูลค่าราว 3,211 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าประเภทเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีการส่งออกมากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 2,748 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 ขณะที่การส่งออกรองเท้ามีการส่งออกมูลค่ารวม 453.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และการส่งออกกระเป๋าเดินทางมีการส่งออกมูลค่า 562 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ซึ่งภาคอุตสาหกรรม GFT ถือเป็นแหล่งรายได้เงินด้านการส่งออกที่สำคัญที่สุดของกัมพูชา ด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าภาค GFT จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโตร้อยละ 5.8 ภายในปี 2024 สำหรับภาคอุตสาหกรรม GFT ยังเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ โดยมีโรงงานและสาขาประมาณ 1,680 แห่ง จ้างแรงงานราว 918,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501489411/cambodia-records-17-pct-rise-in-garment-footwear-travel-goods-export-in-first-four-months/

การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้น 16% ใน 4 เดือน

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจครอบคลุม (RCEP) มูลค่ากว่า 3.36 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.2 จากมูลค่า 2.89 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งคาดว่าการเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากภาษีศุลกากรทางด้านการค้าที่ลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ ส่งผลให้ผู้ส่งออกสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้า กระตุ้นให้การส่งออกและนำเข้าจากกัมพูชาปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 โดยสามอันดับแรกของประเทศที่กัมพูชาส่งออกไปยัง RCEP ได้แก่ เวียดนาม ไทย และจีน โดยมีมูลค่าการส่งออก 1.25 พันล้านดอลลาร์, 958 ล้านดอลลาร์ และ 328 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่แหล่งนำเข้าของกัมพูชายังคงมาจากจีนที่มูลค่ารวม 2.53 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6.34 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีกก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501489447/cambodias-exports-to-rcep-countries-up-16-percent-in-4-months/

ข้าวเหนียวมะม่วงไทยสุดฮอต จีน-อาเซียน ดันส่งออกมะม่วงสดโต 130%

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “ข้าวเหนียวมะม่วง” เป็นขนมหวานไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคนานาประเทศ ล่าสุด เว็บไซต์จัดอันดับอาหารระดับโลก “TasteAtlas” ได้จัดอันดับให้ข้าวเหนียวมะม่วงไทย ติดอันดับ 2 ของโลก ในฐานะพุดดิ้งข้าวที่ดีที่สุด ทำให้สินค้าดังกล่าว รวมทั้งมะม่วงสดและข้าวเหนียว ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสทองที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากสถิติการค้าระหว่างประเทศ ไทยส่งออกมะม่วงสดไปตลาดโลกปริมาณเฉลี่ยกว่าปีละ 1 แสนตัน มูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท โดยในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2567) ไทยส่งออกมะม่วงสดไปตลาดโลก มูลค่า 1,626 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปตลาดคู่ค้า FTA มูลค่าถึง 1,580 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 130 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของการส่งออกมะม่วงทั้งหมด

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1565498

กัมพูชาส่งออกยางพาราในช่วง 4 เดือนแรกของปีแตะ 125 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกยางแห้งจำนวน 85,428 ตัน ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากจำนวน 82,359 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของ General Directorate of Rubber โดยรายงานระบุว่า กัมพูชาสร้างรายได้จากการส่งออกยางแห้งกว่า 125 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากมูลค่า 116.4 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปัจจุบันยางแห้งหนึ่งตันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,465 ดอลลาร์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 51 ดอลลาร์ สำหรับประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญยังคงเป็นมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีน เป็นหลัก ด้านพื้นที่เพาะปลูกภายในกัมพูชาอยู่ที่ 407,172 เฮกตาร์ โดยมีพื้นที่พร้อมเก็บเกี่ยว 320,184 เฮกตาร์ หรือร้อยละ 78.6 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501488697/cambodia-makes-125-mln-from-rubber-export-in-first-4-months/

การส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้น 15% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน โดยยอดการค้าระหว่างกัมพูชาและคู่ค้าทางการค้าทั้งหมด อยู่ที่ 16.67 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากการมีอยู่ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านการส่งออกของกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชาได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งคาดว่าช่วยส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชาตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบ พร้อมทั้งมีความสามารถในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501487228/cambodias-exports-rise-15-in-four-months/

มะริดส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมูลค่า 19.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

U Zaw Min Oo รองผู้อำนวยการกรมประมง เมืองมะริด เขตตะนาวศรี รายงานว่า ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากเขตตะนาวศรี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมะริด ถูกส่งออกผ่านเส้นทางการค้าชายแดนมอตอง ในขณะที่บางส่วนขนส่งโดยตรงจากเกาะสองไปยังระนอง ในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรวม 32,567.61 ตัน สร้างรายได้ 19.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 3,854 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2567-2568 โดยมีรายได้ 3.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี อำเภอมะริดขึ้นชื่อเรื่องการผลิตปลาน้ำเค็มและกุ้ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ส่งออกสำคัญจากเขตตะนาวศรี ได้แก่ ปลา กุ้ง ปลาเลี้ยง และผลิตภัณฑ์ทางทะเลอื่นๆ จากเกาะสอง อำเภอทวาย และมะริด ที่ถูกขนส่งผ่านห้าเส้นทางเพื่อการส่งออก และสินค้าบางส่วนยังขนส่งไปยังย่างกุ้งก่อนส่งออกไปต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myeik-district-exports-us19-41-million-worth-of-aquatic-products-in-2023-24-financial-year/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

การค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวม 4.48 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2022 ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการค้าในปัจจุบัน ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าทั้งสองฉบับทำให้สินค้ากัมพูชา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูง เช่น ข้าวเปลือก กล้วยหอม มะม่วง ลองกอง มันสำปะหลัง และพริกไทย เป็นสำคัญ ซึ่งสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486365/cambodia-china-trade-continues-to-rise-in-jan-april/

การส่งออกของกัมพูชาโตกว่า 13% เมื่อเทียบกับในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกของกัมพูชาเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 13.3 ในระหว่างปี 2017-2023 ที่มูลค่าราว 23.47 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2023 โดยตัวเลขดังกล่าวเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ขณะเป็นประธานในพิธีเปิด National Single Window ณ โรงแรมโซคา พนมเปญ สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 แนวโน้มการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 17.2 สำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 12.49 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชา 6,261 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าที่มูลค่า 6,234 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของกัมพูชาในการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501484828/cambodias-exports-grow-by-13-in-past-seven-years/

บริษัทกว่า 450 แห่งยังคงไม่สามารถส่งรายได้จากการส่งออกในปี 2564 กลับประเทศได้

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่ามีบริษัทมากกว่า 450 แห่งที่ยังไม่ได้ส่งรายได้จากการส่งออกในปี 2564 กลับประเทศได้ ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 26 เมษายน โดยรายได้จากการส่งออกจะต้องฝากเข้าบัญชีธนาคารในประเทศภายใน 45 วันสำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังประเทศในเอเชีย และภายใน 90 วันสำหรับประเทศอื่น ๆ นอกเอเชีย อย่างไรก็ดี กรมการค้าระบุเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ว่าธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ควรส่งรายชื่อบริษัทที่ไม่สามารถนำรายได้จากการส่งออกส่งกลับประเทศได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้กับกระทรวงพาณิชย์ และแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ธนาคาร) ที่เกี่ยวข้องทราบเกี่ยวกับรายชื่อพร้อมกัน นอกจากนี้ กรมการค้าจะแจ้งให้สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมาร์ (UMFCCI) ทราบถึงรายชื่อเพื่อให้สามารถฝากเงินได้อีกครั้ง รวมทั้ง กรมการค้าจะระงับการจดทะเบียนผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าเป็นเวลาสองสัปดาห์หลังจากแจ้งให้บริษัทเหล่านั้นทราบ หากรายได้จากการส่งออกไม่ถูกส่งกลับประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-450-companies-still-fail-to-repatriate-export-earnings-in-2021/#article-title

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 18.4%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวมถึง 365 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังทำให้มั่นใจได้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกของกัมพูชาที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของกัมพูชาในอนาคต ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 5.8 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับปัจจุบันญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 5 ของกัมพูชา โดยมีมมูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 507 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้กัมพูชาคงเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่นราว 223 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษและอุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องหนัง ด้านสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ผ้า และพลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501479402/cambodias-exports-to-japan-rise-18-4/