กัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 18% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 988,574 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยมากที่สุดที่จำนวน 247,530 คน รองลงมาคือ เวียดนาม 185,385 คน และ จีน 109,990 คน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่าร้อยละ 42 เดินทางเข้าประเทศทางเครื่องบินขยายตัวกว่าร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาที่เดินทางออกนอกประเทศลดลงปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3.9 ที่จำนวน 262,580 คน สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สำคัญทางเศรษฐกิจของกัมพูชา นอกเหนือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเชื่อมโยงตลาดเป้าหมายสำคัญ โดยการจัดหาเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชาและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501460336/foreign-tourist-arrivals-go-up-18-in-jan-feb/

ไทยอันดับ 1 ประเทศผู้ผลิตยานยนต์มากที่สุดในอาเซียน ด้านการแพทย์ดีที่สุดระดับโลก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ให้ไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในภูมิภาค มุ่งมั่นส่งเสริมทุกด้านที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Hub) ทั้งนี้ เห็นความคืบหน้าจาก ไทยครองอันดับ 1 ประเทศผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 และผลการจัดอันดับ 250 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกประจำปีพ.ศ. 2567 (250 World’s Best Hospitals 2024) ที่จัดให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทย อยู่ในอันดับที่ 130 (สูงกว่าปีที่แล้วที่เคยอยู่ในอันดับที่ 182)

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/795150#google_vignette

รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจสอบโรงงานเครื่องจักรกลการเกษตร Myanma ในเมือง Kyaukse

ดร. ชาร์ลี ตัน รัฐมนตรีสหภาพอุตสาหกรรม พร้อมด้วยอู เมียว ออง หัวหน้าคณะรัฐมนตรีประจำเขตมัณฑะเลย์ และพรรคการเมือง ได้ตรวจสอบโรงงานเครื่องจักรกลการเกษตรเมียนมา ในเมืองจ็อกเซ เขตมัณฑะเลย์ โดยผู้จัดการโรงงานได้อธิบายกระบวนการวิจัยและพัฒนาเครื่องย้ายปลูกข้าว ด้านรัฐมนตรีสหภาพย้ำถึงความสำคัญของอุปกรณ์การเกษตรเนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศเกษตรกรรม การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลางสามารถช่วยลดการนำเข้าเครื่องจักร ซึ่งช่วยประหยัดการใช้เงินตราต่างประเทศได้  อย่างไรก็ดี เขายังกล่าวถึงความพยายามของเขตอุตสาหกรรมมัณฑะเลย์ในการผลิตเครื่องหีบฝ้ายแบบลูกกลิ้งคู่สำหรับแยกสำลีออกจากเมล็ด แม้ว่าประเทศจะมีการผลิตฝ้ายอย่างเพียงพอ แต่เครื่องจักรที่ไม่เพียงพอก็ขัดขวางศักยภาพในการเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตฝ้าย นอกจากนี้ รัฐมนตรีสหภาพฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของโรงงานฝ้ายในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น เส้นด้ายและเสื้อผ้า นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงศักยภาพในการผลิตน้ำมันบริโภคจากเมล็ดฝ้าย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moi-um-inspects-myanma-agricultural-machinery-factory-in-kyaukse/#article-title

ส.อ.ท. ร้องรัฐบาลสกัดเหล็กจากจีน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญกระแสสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาด โดยอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากการทุ่มตลาดและการทะลักของชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กจากจีน จนการใช้กำลังการผลิตเหล็ก ในปี 2566 ตกต่ำเหลือเพียง 31% เท่านั้น และแนวโน้มยังแย่ลงอีกในปีนี้จนเป็นที่น่ากังวลยิ่งว่าหากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆไม่ทันการณ์ โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก ส.อ.ท.จึงได้นำเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.กระทรวงอุตสาหกรรม ใช้มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็ก โดยมุ่งไปที่เหล็กที่มีกำลังการผลิตมากล้นเกินความต้องการ รวมทั้งบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมคุณภาพส่วนประกอบของสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูป 2.กระทรวงพาณิชย์ไต่สวนและบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล และพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) โดยเก็บอากร SG สินค้าเหล็กทุกประเภทสูงถึง 25% 3.ปรับปรุง/แก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ให้มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) 4.ขยายผลใช้มาตรการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไปยังการก่อสร้างประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และผู้แทนกลุ่ม 10 สมาคมเหล็ก เปิดเผยว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กวิกฤติยิ่งขึ้น จากเหล็กจีนทะลักเข้ามาไทยทั้งการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเหล็กไทยซึ่งมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 330,000 คน ได้รับผลกระทบรุนแรงจนบางโรงงานต้องปิดกิจการและเลิกจ้าง 10 สมาคมเหล็กจึงได้เร่งประสานทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ เพื่อให้มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาวิกฤติอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิจัยพบว่าการผลิตเหล็กในประเทศไทยที่หายไปทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทย ลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กลดลง 1.2%

ภาพจาก : Thaipubilca

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2766803

CDC อนุมัติโครงการลงทุน 22 โครงการ มูลค่ารวม 444 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้ออกใบรับรองสำหรับการจดทะเบียนโครงการลงทุน 22 โครงการ มูลค่า 444 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 15 วันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ โดยเน้นไปที่การโครงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ อย่างโรงงานทำกระเป๋าเดินทาง ถุงพลาสติก โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โดยในจังหวัดสวายเรียงที่มีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนามได้รับโครงการลงทุนอย่างโครงการผลิตเครื่องใช้ในบ้านจากโลหะรีไซเคิล รวมถึงโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิด ขณะที่พระสีหนุได้รับโครงการลงทุนโรงงานแปรรูปมะพร้าว โรงงานทำตุ๊กตา และโครงการผลิตโซฟาและเฟอร์นิเจอร์ ด้านจังหวัดกัมปงสปือเน้นการผลิตต้นคริสต์มาส หลอดไฟประดับ และกล่องกระดาษ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501442508/cdc-okays-22-investment-projects-to-tune-of-444m/

Chevron พร้อมขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา

บริษัท Chevron ซึ่งมีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา ภายใต้ บริษัท Chevron (Cambodia) จำกัด โดยได้เปิดเผยแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมในกัมพูชา รวมถึงคำนึงถึงความพยายามของประเทศในการร่วมสำรวจแหล่งน้ำมันสำรองกับประเทศไทยในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ซึ่งพื้นที่ OCA ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะกักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดย Keo Ratanak รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา (MME) ภายหลังการประชุมกับ Frank Cassulo รองประธานใหญ่ บริษัท Chevron ในกรุงพนมเปญ ซึ่งบริษัทได้เริ่มเข้าลงทุนในกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2021 มีสถานีบริการในปัจจุบันรวม 53 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชาอีก 100 สถานี เพื่อรองรับกับอุปสงค์ภายในประเทศ ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาได้เปิดเผยว่ากัมพูชานำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมในปีก่อนมูลค่ารวมอยู่ที่ 849 ล้านดอลลาร์ และน้ำมันดีเซลอีกราว 1.32 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440827/chevron-to-expand-service-station-network-in-cambodia/

ปี 2023 อุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชาโต 3%

หน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยแห่งกัมพูชา (IRC) รายงานมูลค่าเบี้ยประกันภัยรวมภายในประเทศแตะ 342 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากมูลค่า 331.8 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันกัมพูชามีบริษัทประกันภัยทั่วไป 18 แห่ง บริษัทประกันชีวิต 15 แห่ง บริษัทประกันภัยรายย่อย 7 แห่ง และบริษัทประกันภัยต่อ 1 แห่ง ที่มีการขยายตัวในภายรวม สำหรับมูลค่าการเคลมประกันในปีก่อนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 60.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากมูลค่า 46.6 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า ด้านมูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชามีอยู่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501441065/cambodias-insurance-industry-grows-by-3-pct-in-2023/

รายได้จากภาคการท่องเที่ยวกัมพูชาในปี 2023 แตะ 3 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชามีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงปี 2023 มูลค่ารวมกว่า 3.03 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 115 จากมูลค่า 1.41 พันล้านดอลลาร์ ที่ได้บันทึกไว้ในช่วงปี 2022 ซึ่งหากวัดเป็นปริมาณคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.43 ล้านคน ในช่วงเวลาดังกล่าว คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 139.5 รายงานโดยกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกัมพูชาหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าการเติบโตจะยังไม่ถึงระดับที่ทำได้ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อภายในประเทศที่ดีขึ้น เป็นส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนกัมพูชามากขึ้น โดยเสริมว่ากระทรวงและภาคเอกชนกำลังเร่งทำงานร่วมกัน เพื่อปรับปรุงบริการด้านการท่องเที่ยวและสร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501438735/kingdom-earns-3-billion-from-tourism-in-2023/

‘เวียดนาม’ เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ม.ค. เพิ่มขึ้น 18.3%

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (IIP) เดือน ม.ค.67 เพิ่มขึ้น 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสาขาของภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม พบว่าสาขาการผลิตและการแปรรูป ขยายตัว 19.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตฯ ในภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น 15.1 จุด ตามมาด้วยการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 21.6% การจัดการน้ำเสียและการบำบัดน้ำเสีย เพิ่มขึ้น 5.7% และการทำเหมืองแร่ เพิ่มขึ้น 7.3%

อีกทั้ง สินค้าอุตสาหกรรมที่มีส่วนให้ดัชนีผลผลิตอุตฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า โลหะ เคมีภัณฑ์ เครื่องหนังและสินค้าที่ได้จากการแปรรูปอาหาร

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650167/industrial-production-index-up-18-3-y-on-y-in-january.html

รัฐบาลกัมพูชาพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นเป็นอุตสาหกรรมหลักของชาติ

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ ภูมิภาค และต่างประเทศ กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต ในระหว่างการเป็นประธานในพิธีปิดการประชุมประจำปี 2023 ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากบริษัทต่างชาติอย่าง สิงคโปร์ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลที่ได้เพิ่มการลงทุนไปยังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบชลประทาน ระบบการขนส่งในชนบท โลจิสติกส์ ไฟฟ้าและกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อีกทั้งรัฐบาลยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างทุนมนุษย์และให้สิ่งจูงใจทางด้านการเงินเพื่อปรับปรุงคุณภาพประสิทธิภาพ ผลผลิต และความปลอดภัย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์เกษตรในตลาดภายในประเทศ ภูมิภาค และต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501432466/agricultural-modernisation-govts-top-priority-says-pm/