‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ คาดการณ์ GDP เวียดนามไตรมาส 1/67 โต 6.1%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (Standard Chartered) คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) จาก 6.7% ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่า GDP ของปี 2567 จะขยายตัวที่ 6.7% โดยจากข้อมูลในเดือน มี.ค. แสดงให้เห็นว่าทิศทางของภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จากแรงหนุนภาคการค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น 9.2%YoY ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 5.2%YoY และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.0%YoY ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2%YoY ในเดือน มี.ค ดีดตัวสูงขึ้นจาก 4.0% ในเดือน ก.พ.

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้จะมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง แต่คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีควรประเมินและเตรียมการรับมือในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากเผชิญกับปัญหาอุปสรรคการค้าโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/standard-chartered-forecasts-vietnam-s-gdp-in-q1-to-moderate-to-6-1-2263679.html

‘เมตา’ เผยเวียดนามมีศักยภาพขึ้นแท่นผู้นำเทคโนโลยี AI

นายราฟาเอล ฟรังเคล (Rafael Frankel) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Meta Group กล่าวในงานแถลงข่าวของโครงการ “Vietnam Innovation Challenge 2024” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา และมองเห็นความมุ่งมั่นของคนเวียดนามที่จะนำไปสู่การเติบโตของประเทศ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและธุรกิจจากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ รายงานจาก McKinsey 2023 เปิดเผยว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ นับเป็นรากฐานที่สำคัญของการการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งจากผลกระทบในครั้งนี้ จะปฏิรูปเทคโนโลยี งานแบบพลวัตและการสร้างเนื้อหาดิจิทัล ตลอดจนรายได้ของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นหลายล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ทางบริษัท Meta มีแผนงานในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ AI ใน WhatsApp, Messenger และ Instagram ปี 2567 ในเอเชียแปซิฟิกแล้ว และเวียดนามก็อยู่ในแผนงานดังกล่าว โดยเชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้สามารถรองรับกับความต้องการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในเวียดนามได้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1652586/viet-nam-s-potential-to-become-an-ai-dragon-meta.html

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้เศรษฐกิจเวียดนามโตตามคาด

ผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2567 จะขยายตัว 5.5% เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ธนาคารยูโอบี (ประเทศสิงคโปร์) ประเมินตัวชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก โดยการส่งออกของเวียดนามขยายตัวและภาคอุตสาหกรรม 17.6% และ 5.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม อยู่ในทิศทางที่เป็นบวก เนื่องจากดัชนีอยู่เหนือระดับ 50 ในช่วงเดือน ม.ค. และ ก.พ. บ่งชี้ให้เห็นว่าภาคอุตสากรรมแข็งแกร่ง แม้ว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-economy-proceeding-as-predicted-experts/283125.vnp

‘เอเชีย อินไซเดอร์’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตแรง

จากรายงานของเอเชีย อินไซเดอร์ (Asian Insiders) เครือข่ายที่ปรึกษาด้านธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจแบบไดนามิก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มการขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยจากรายงานชี้ให้เห็นว่าเวียดนามเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลกที่มีเศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก ในขณะเดียวกันประชากรเวียดนามมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 102 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจในปี 2567 อยู่ที่ 469 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับที่ 35 ของโลก นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ได้แก่  Samsung, LG, Foxconn, Panasonic, Bosch, GE, Piaggio และ Yamaha ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยหรือฐานการผลิตอย่างเต็มรูปแบบ บ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่จะก้าวไปสู่แหล่งนวัตกรรมและศูนย์กลางการผลิต

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-remains-one-of-globe-s-rising-economies-asian-insiders-2260651.html

‘ยูโอบี’ คาดไตรมาส 1 ศก.เวียดนามโต 5.5%

ธนาคารยูโอบี (UOB) ประเมินทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คาดว่าจะขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว กลับมาฟื้นตัวและเร่งขยายตัว 6.72% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องมาจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิเช่น ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในเดือน ก.พ.67 โดยการส่งออกหดตัว 5% ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี สาเหตุสำคัญมาจากอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของ UOB มองว่าโมเมนตัมยังคงไปในทิศทางเชิงบวก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตฯ เซมิคอนดักเตอร์ และการเปลี่ยนแปลงของธนาคารกลางทั่วโลกไปสู่นโยบายผ่อนคลาย

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-q1-economic-expansion-projected-at-5-5-uob/

‘GDP เวียดนาม’ ก้าวกระโดด มูลค่าทะลุ 430 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 66

จากรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม มีมูลค่าราว 433.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย มูลค่า 1.54 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไทย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของโลกในปีที่แล้ว คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 104.48 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกายังคงมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยมูลค่าที่ 26.95 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์และวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร (CEBR) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการจัดอันดับของขนาดเศรษฐกิจเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในอนาคตข้างหน้าและคาดว่าเวียดนามจะขึ้นอันดับที่ 24 ภายในปี 2576 ด้วยขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 1,050 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://en.baochinhphu.vn/vietnamese-gdp-size-hits-over-us430-billion-in-2023-111240312092316328.htm

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว แตะระดับ 25.35% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวอยู่ที่ 25.35% เพิ่มขึ้นจาก 24.44% ในเดือนก่อน โดยเงินเฟ้อในหมวดโรงแรมและร้านอาหารมีการปรับขึ้นราคาสูงสุด ขยายตัวที่ 35.1% แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในเดือนนี้ ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า การรักษาพยาบาลและยา อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการสื่อสารและการขนส่ง สินค้าทั้งหมดนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 22.6% ถึง 35.1% โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ประการแรก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลเวียดนามและตรุษจีน ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น ประการที่สอง ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยดีเซลเพิ่มขึ้น 7% และน้ำมันเบนซิน 5% ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ประการสุดท้าย การอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ และบาทไทย ส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจตึงตัวมากขึ้น โดยเงินกีบอ่อนค่าลง 1.70% และ 0.61% ตามลำดับ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/01/laos-inflation-hits-25-35-percent-in-february/

คาด GDP กัมพูชาปีนี้พุ่งแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์

คาด GDP กัมพูชาปีนี้ อาจเพิ่มขึ้นไปแตะมูลค่ารวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) นอกจากนี้คาดว่า GDP ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,071 ดอลลาร์ ภายในปี 2024 เทียบกับมูลค่า 1,917 ดอลลาร์ ในปี 2023 ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 6.6 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายวงกว้าง ด้าน Phan Phalla รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มในระบบเศรษฐกิจกำลังเติบโตได้ดี รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นำมาโดยนักลงทุนจากประเทศจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501443985/cambodias-gdp-likely-to-touch-35b-this-year-ministry-says/

‘IMF’ ชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวสูง

นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ‘Dau Tu’ บอกถึงข้อสังเกตของทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการบริโภคและการผลิต ขณะที่เร่งการเบิกจ่ายจากงบประมาณการลงทุนภาครัฐได้อีกด้วย และแนวโน้มชองเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่สูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่เห็นช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปี 2567 เนื่องมาจากได้แรงหนุนจากการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือ ภาคอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดตราสารหนี้ขององค์กร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-likely-to-maintain-high-economic-growth-in-medium-term-imf-expert-2251714.html

‘ธุรกิจแคนาดา’ เร่งศึกษาตลาดเวียดนาม ดันโอกาสสินค้าและบริการ

สำนักงานพัฒนาการส่งออกของแคนาดา (EDC) ได้ประสานงานกับสำนักงานการค้าเวียดนามในการจัดกิจกรรมสัมมนา ระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค. มีคณะผู้แทนธุรกิจของแคนาดา 150 ราย เพื่ออัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม และประเมินผลการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ทั้งนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่าการค้าทวิภาคีราว 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 นอกจากนี้ยังเป็นคู่ค้าสำคัญของแคนาดาในข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งได้นำโอกาสให้กับสินค้าและบริการของแคนาดาในการเข้าถึงตลาดเวียดนามและอาเซียน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/canadian-enterprises-learn-about-vietnamese-market/279723.vnp