‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ ทะลักไหลเข้าอสังหาฯ และอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าประมาณ 6.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นับว่าเป็นเม็ดเงินทุนไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยังคงได้รับเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด มูลค่า 4.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 78.5% ของเงินทุน FDI ทั้งหมด รองลงมาภาคอสังหาฯ 607.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ และการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลายๆ โครงการใหม่ อย่างไรก็ดี เวียดนามจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมกำลังแรงงานให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/fdi-flows-strongly-into-manufacturing-real-estate-post285568.vnp

‘เวียดนาม’ คว้าโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก

ศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ (NIC) และบริษัทซัมซุง เวียดนาม (Samsung Vietnam) ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Samsung Innovation Campus’ หรือเรียกว่า SIC สำหรับปี 2566-2567 โดยตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ 50,000 คนภายในปี 2573 รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ผลักดันให้เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาคและโลก

ทั้งนี้ นายเหงียน จิ ยวุง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าอุปทานด้านแรงงานที่มีคุณภาพและความพร้อมทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เวียดนามมีข้อได้เปรียบสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ การมุ่งเน้นไปที่การฝึกอบรม เพื่อให้แรงงานสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเร็วที่สุด จึงเป็นกลยุทธ์หลักและเป็นปัจจัยชี้ขาดถึงการสร้างโอกาสอีกมากมายแก่เวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-acts-to-seize-opportunity-to-join-global-semiconductor-supply-post285514.vnp

World Bank มอบเงินช่วยเหลือตลาดแรงงานกัมพูชา 1.2 พันล้านดอลลาร์

ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงานล่าสุดว่าโครงการช่วยเหลือทางสังคมที่มอบเงินให้แก่กัมพูชาในการช่วยเหลือตลาดแรงงานกัมพูชาภายใต้โครงการจัดสรรเงินโอนสู่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถือเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งกรอบความช่วยเหลือนับตั้งแต่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 จนถึงเดือนกันยายน 2022 คิดเป็นวงเงินรวม 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงข้อจำกัดการเดินทาง ข้อจำกัดการรวมตัวของคนจำนวนมาก และการปิดเมืองอย่างเข้มงวด แม้ว่าวิธีดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส แต่ก็ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ด้านธนาคารโลกยังกล่าวอีกว่า การสนับสนุนทางการเงินแก่คนงานที่ถูกเลิกจ้างยังช่วยในตลาดแรงงานของกัมพูชา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ซบเซา งานในภาคการผลิต (ข้อมูลทางการ) ลดลงจาก 1.05 ล้านตำแหน่ง ในเดือนกรกฎาคม 2022 เหลือเพียง 1.0 ล้านตำแหน่ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2023 ก่อนที่จะฟื้นตัวบางส่วนเป็น 1.02 ล้านตำแหน่งในเดือนสิงหาคม 2023 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อตลาดแรงในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501478392/covid-19-cash-assistance-of-1-2b-helped-labour-market/

14 พ.ค.ได้ลุ้น คกก.ค่าจ้างฯ ถกค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี การประกาศค่าแรงขั้นต่ำเพื่อเป็นของขวัญวันแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้ว่า ในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่ได้มีการขึ้นทันที

ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เนื่องจากเป็นนักการเมือง และหากมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม จะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำได้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

อีกทั้ง การประกาศขึ้นค่าแรงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับไตรภาคีในทุกเดือน โดยในแต่ละการประชุมจะมีความชัดเจนว่าอาชีพไหนสมควรขึ้นค่าแรงบ้าง และขึ้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ครั้งต่อไป ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ฯ จะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ซึ่งจะมีการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ทำให้มีความชัดเจนว่าอาชีพไหน หรือจังหวัดใดได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทบ้าง

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/575899/

กัมพูชา-เกาหลี ร่วมลงนามในข้อตกลงหวังอำนวยความสะดวกด้านแรงงานระหว่างประเทศ

กระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพได้ลงนามในข้อตกลงกับหน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้การจัดหาแรงงานชาวกัมพูชาภายใต้ระบบใบอนุญาตการจ้างงาน (EPS) ของเกาหลี เพื่ออำนวยความราบรื่นด้านการจ้างงานระหว่างประเทศ หลัง Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมอาชีวศึกษา เข้าพบ Lee Woo Yong หัวหน้าหน่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงการจ้างงานและแรงงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (HRDK) ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 เม.ย. โดยเกาหลีกำลังกลายเป็นตลาดแรงงานที่น่าสนใจสำหรับแรงงานกัมพูชา ซึ่งโครงการริเริ่มใหม่นี้ร่วมกับเกาหลีจะไม่เพียงมุ่งเน้นไปที่การสรรหาบุคลากรเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างทักษะการจ้างงานของคนงานชาวกัมพูชาในอนาคตร่วมด้วย ด้านระบบใบอนุญาตการจ้างงานของเกาหลี (EPS) อนุญาตให้นายจ้างในเกาหลีที่ไม่สามารถจ้างคนในท้องถิ่น จ้างแรงงานต่างชาติได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งอุตสาหกรรมบางประเภทในเกาหลีที่กำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ เกษตรกรรม การประมง การก่อสร้าง และการผลิต เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501476322/ministry-signs-agreement-with-korea-for-ease-of-overseas-recruitment/

กระทรวงแรงงานกัมพูชา หารือกับตัวแทนญี่ปุ่น ขยายตลาดแรงงานระหว่างประเทศ

สำนักข่าว Dap-news รายงานเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ระบุว่า Ith Sam Heng รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพ ได้หารือร่วมกับ Shoji Sakaki นายกสมาคมส่งเสริมมิตรภาพกัมพูชา-ญี่ปุ่น ณ จังหวัดนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการหารือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การขยายโอกาสในตลาดแรงงาน และการเสริมสร้างทักษะของคนกัมพูชา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงการขยายตลาดแรงงานระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่น ด้านนาย Shoji Sakaki  กล่าวว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังเปิดกว้างในด้านความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนของกัมพูชาได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพอย่างมืออาชีพ ภายใต้เทคนิคสมัยใหม่ของญี่ปุ่น สำหรับรัฐมนตรีฯ เห็นด้วยกับการเสริมสร้างทักษะให้กับภาคแรงงาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการร่วมมือที่กัมพูชาต้องการ เพื่อเสริมสร้างผลผลิตทางด้านแรงงาน และเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้กับตลาดแรงงานกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501465134/cambodia-japan-seeks-opportunities-to-expand-markets-and-strengthen-skills/

‘เวียดนาม’ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 6% มีผล 1 ก.ค.

จากพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 38 ที่เสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม (MOLISA) รายงานว่าค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 6% ทั้งค่าจ้างรายเดือนและรายชั่วโมง เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะช่วยค่าครองชีพของแรงงานและคนในครอบครัว รวมถึงหนุนตลาดแรงงานเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นและส่งเสริมการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกิจการ อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคใหม่บางประการที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000-280,000 ดองต่อเดือน เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/minimum-wage-to-increase-by-6-from-july-1-2263650.html

‘เวียดนาม’ เผชิญกับดักรายได้ปานกลาง งานไม่ดี ค่าจ้างต่ำ

หลังจากมีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ “โด่ยเหมย” เวียดนามก็ขึ้นแท่นประเทศดาวรุ่งและมีการพัฒนาทุกภาคส่วนด้วยการใช้โมเดลแรงงานจำนวนมากหรือแรงงานเข้มข้น ซึ่งแรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกอบรมและผลักดันให้เวียดนามเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ อย่างไรก็ดี เวียดนามใช้โมเดลนี้จนนานเกินไปและไม่ได้เตรียมบุคลากรและเทคโนโลยีให้มีความพร้อมที่ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมแรงงานและยกระดับขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ Pham Manh Hung อาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามฮานอย กล่าวว่าเวียดนามยังไม่ได้ลงทุนกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณที่ยังไม่เพียงพอ

ในขณะที่จากรายงานพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฝึกอบรมและมีเพียงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น ทำให้ไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ และส่งผลให้แรงงานมีทักษะต่ำและค่าจ้างไม่ดี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/bad-jobs-low-pay-and-the-risk-of-a-middle-income-trap-2256840.html

แรงงานเมียนมาเตรียมย้ายจากมาเลเซีย หลังประกาศกำหนดเส้นตายวีซ่า

เจ้าหน้าที่จากสหพันธ์หน่วยงานจัดหางานในต่างประเทศ (MOEAF) ของเมียนมา กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศว่าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุมัติให้เรียกวีซ่าจะถูกคัดเลือกในมาเลเซียภายในวันที่ 31 พฤษภาคม แรงงานเมียนมาจำนวนมากก็กระตือรือร้นที่จะไปที่นั่น ดังนั้นคนหนุ่มสาวจึงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการฉ้อโกง ทั้งนี้ ธุรกิจในมาเลเซียจะต้องดำเนินการยื่นวีซ่าเรียกให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 31 มีนาคม สำหรับแรงงานต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติจาก KSM แล้ว ซึ่งยังมีเงื่อนไขอยู่ ธุรกิจของมาเลเซียจะรับสมัครแรงงานต่างชาติที่ได้รับวีซ่าเรียกจากกรมตรวจคนเข้าเมืองภายในวันที่ 31 พฤษภาคม เข้าสู่มาเลเซีย ตามประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อแผนการสรรหาบุคลากรของมาเลเซียหยุดชะงัก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะหันไปให้ความสนใจมากขึ้นสำหรับการไปทำงานในเกาหลีใต้และไทย นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม รัฐบาลมาเลเซียหยุดการอนุมัติ KSM สำหรับการหาแรงงานต่างชาติตามโรงงาน และบริษัทต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หน่วยงานที่ส่งคนงานเมียนมาไปมาเลเซียโดยเฉพาะอาจหยุดการดำเนินงาน ตามที่เจ้าของตัวแทนจัดหางานในต่างประเทศระบุ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/many-myanmar-workers-prepare-to-go-to-malaysia-after-announcement-on-deadline-for-submission-of-calling-visa/

เกาหลีใต้เพิ่มโควตาคนงาน สปป.ลาว ไปทำงานในฟาร์ม

กรมแรงงานและสวัสดิการสังคม นครหลวงเวียงจันทน์ ได้เปิดให้แรงงาน สปป.ลาว มาสมัครงานเพื่อไปเป็นคนงานฟาร์มที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยการเปิดรับคนงานครั้งนี้ เป็นการรับแรงงานวัยรุ่นจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึง สปป.ลาว เพื่อทำงานให้กับบริษัทเกษตรกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลและมีสัญญาจ้างระยะสั้นเพียง 3-5 เดือนเท่านั้น หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกภายใต้การดูแลของตัวแทนบริษัทเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยผู้สมัครจะต้องมีอายุ 18-39 ปี ทั้งนี้ โอกาสในการทำงานที่เกาหลีใต้นั้นน่าดึงดูด แต่พนักงานจะต้องสามารถจัดการกับความยากลำบากที่ต้องเผชิญอันเป็นผลมาจากการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยแรงงานจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 1,400ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_09_SouthKorea_y24.php