IMF คาดเศรษฐกิจเอเชียกระทบหนัก เหตุวิกฤตอสังหาจีนฉุดดีมานด์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในบล็อกวันนี้ ว่า เศรษฐกิจจีนที่กลับมาคึกคักหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์สมัยโควิดนั้นเสียแรงผลักดันเร็วกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐก็ไม่ได้ช่วยเอเชียได้มากนัก เพราะสหรัฐโฟกัสกับภาคบริการมากกว่า

นอกจากนี้ การที่สภาวะทางการเงินในหลายประเทศทั่วโลกเข้มงวดขึ้นอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชีย และทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลงด้วย ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) IMF คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% เหลือ 2.9%

ที่มา : https://www.thansettakij.com/world/578513

‘ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเวียดนาม’ เตรียมเปิดตัวบริการรถแท็กซี่ไฟฟ้าในสปป.ลาว

นาย Nguyen Van Thanh ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทกรีน แอนด์ สมาร์ท โมบิลลิตี้ เจเอสซี (GSM) กล่าวว่าบริษัทได้ดำเนินโครงการส่งรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทวินฟาสต์ (VinFast) จำนวน 150 คัน ไปยังประเทศสปป.ลาว เพื่อให้บริการรถแท็กซี่ไฟฟ้า และนับเป็นครั้งแรกของบริษัท GSM ที่เข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยตามแผนของบริษัทจะเปิดตัวรถแท็กซี่ไฟฟ้าในสปป.ลาว ในปี 2566 ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,000 คัน รุ่นวินฟาสต์ วีเอฟ อี5 พลัส (VF 5 Plus) และวินฟาสต์ วีเอฟ อี34 (VF e34) หลังจากนั้นจะพัฒนาระบบนิเวศการบริการอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าและให้บริการเสริม เช่น การจองรถแบบแพ็คเกจ การจองรถท่องเที่ยว และการจองรถยนต์ส่วนบุคคล

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-e-taxi-firm-gsm-to-provide-service-in-laos-post1052518.vov

‘การค้าเวียดนาม-กัมพูชา’ ช่วง 9 เดือนแรกปี 66 มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เวียดนามและกัมพูชามีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 4.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% การส่งออกของกัมพูชาไปยังเวียดนาม มีมูลค่า 2.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 2.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11% ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชา รองจากจีนและสหรัฐฯ และยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ

นอกจากนี้ สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศกัมพูชา รายงานว่าโครงสร้างการส่งออกสินค้าเวียดนามไปยังกัมพูชามีความหลากหลาย เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมและธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-cambodia-trade-hits-nearly-us5-billion-over-nine-months-post1052529.vov

เกาหลีใต้-สปป.ลาว พร้อมหนุนระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซคาร์บอน

การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง เกาหลีใต้-สปป.ลาว ในหัวข้อ “การสร้างแผนแม่บทสำหรับการนำระบบการค้าคาร์บอนไปใช้ใน สปป.ลาว” ซึ่งจัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา นำโดย ดร. Kim Jaehong ที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการอดีตประธาน สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของเกาหลี (KOTRA) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับผู้แทนกระทรวงและเอกชน ได้แก่ KOWEPO, EDL-GEN, บริษัท ไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ราย, กลุ่มพงษ์ทรัพย์ทวี และ AIDC เข้าร่วมประชุมสัมมนาในการแบ่งปันความรู้ในการจัดทำระบบการค้าคาร์บอนระหว่างเกาหลีและ สปป.ลาว ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาระบบพลังงานทดแทน, REDD+, การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาภาคอื่นๆ ภายในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ยังต้องมีรากฐานทางกฎหมายที่จำเป็นในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_SKorea200_23.php

กัมพูชา-ตุรกี ตั้งเป้าดันการค้าระหว่างประเทศแตะ 1 พันล้านดอลลาร์

HE SOK Chenda Sophea รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ร่วมกับ Ms. Ülkü Kocaefe เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกี ประกาศกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน โดยมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-ตรุกี ให้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ด้านรองนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลตุรกีที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่กัมพูชา ผ่านหน่วยงานความร่วมมือและประสานงานตุรกี (TIKA) ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาและการฝึกอบรมสำหรับนักการทูตและนักศึกษากัมพูชาต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501376155/cambodia-turkiye-aim-for-two-way-trade-goal-of-1-billion/

สหรัฐฯ ขึ้นแท่นจุดหมายปลายทางการส่งออกสำคัญของกัมพูชา

สหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางด้านการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยคิดเป็นร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมสูงถึง 6.8 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.1 จากมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ของกัมพูชาลดลงร้อยละ 27.8 มาอยู่ที่มูลค่า 181 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) แม้ปัจจุบันกัมพูชาจะถูกถอนถอนสิทธิพิเศษ GSP ของทางสหรัฐฯ โดยสินค้าหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง สินค้าสำหรับเดินทาง กระเป๋าถือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และรองเท้า ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักรและเครื่องใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยา เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501375662/united-states-remains-cambodias-biggest-export-destination/

‘เมียนมา’ เผยอุปสงค์จากต่างประเทศฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง หนุนราคาเมล็ดงาสูง

ราคาเมล็ดงาในตลาดมัณฑะเลย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยราคาเมล็ดงาดำจาก 340,000 จ๊าตต่อกระสอบ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 365,000 จ๊าตต่อกระสอบ และราคางาขาวจาก 365,000-370,000 จ๊าตต่อกระสอบ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 385,000-390,000 จ๊าตต่อกระสอบ ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวงาดำในฤดูกาลใหม่จากภาคกลางของประเทศกำลังไหลเข้าสู่ตลาด ผู้ซื้อชาวจีนยังคงซื้องาขาวและงาดำจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาเมล็ดงาเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ เมียนมาจึงส่งออกเมล็ดงาไปยังจีนผ่านชายแดนทางบก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/strong-foreign-demand-elevates-sesame-seed-price/#article-title

เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx