โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ และโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในตะนินทยี

อู ซอ มิน อู เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการระบุว่า บริษัทเอกชนกำลังดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในเมือง Kyunsu เขตตะนาวศรี ทั้งนี้ โครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 3.77 เมกะวัตต์ที่เขื่อน Pahtaw ในหมู่บ้าน Pahtaw ในเมือง Kyunsu กำลังดำเนินการร่วมกันโดยบริษัท Pyae Phyo Tun International และบริษัท Myanmar Solar Power Trading Company โดยจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 6,384 แผงบนพื้นที่เจ็ดเอเคอร์ของผิวน้ำภายในเขื่อน ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังห้องเย็น สถานที่ทำงาน โรงงาน และที่พักอาศัยบนเกาะพะแทวพะเท็ด เมืองมะริด อย่างไรก็ดี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำอีกแห่งในหมู่บ้านพะเท็ด คาดว่าจะป้อนให้กับโรงกลั่นน้ำมันปาล์มที่สามารถผลิตน้ำมันได้ 60 ตันต่อวัน ซึ่งขณะนี้โรงกลั่นดังกล่าวยังไม่ได้เปิดใช้บริการ นอกจากนี้ น้ำมันปาล์มดิบ 800 ตันที่ผลิตได้ในพื้นที่ 8,000 จาก 15,000 เอเคอร์ในมอตอง จะถูกส่งออกไปยังย่างกุ้งผ่านทางท่าเทียบเรือมะริด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/taninthayi-welcomes-private-investment-in-floating-solar-power-plant-palm-oil-refinery/

Chevron พร้อมขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชา

บริษัท Chevron ซึ่งมีบริษัทแม่ในสหรัฐฯ ขยายการลงทุนมายังกัมพูชา ภายใต้ บริษัท Chevron (Cambodia) จำกัด โดยได้เปิดเผยแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ว่าจะเปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมในกัมพูชา รวมถึงคำนึงถึงความพยายามของประเทศในการร่วมสำรวจแหล่งน้ำมันสำรองกับประเทศไทยในพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ซึ่งพื้นที่ OCA ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะกักเก็บน้ำมันและก๊าซไว้ใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดย Keo Ratanak รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา (MME) ภายหลังการประชุมกับ Frank Cassulo รองประธานใหญ่ บริษัท Chevron ในกรุงพนมเปญ ซึ่งบริษัทได้เริ่มเข้าลงทุนในกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2021 มีสถานีบริการในปัจจุบันรวม 53 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันในกัมพูชาอีก 100 สถานี เพื่อรองรับกับอุปสงค์ภายในประเทศ ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชาได้เปิดเผยว่ากัมพูชานำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมในปีก่อนมูลค่ารวมอยู่ที่ 849 ล้านดอลลาร์ และน้ำมันดีเซลอีกราว 1.32 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501440827/chevron-to-expand-service-station-network-in-cambodia/

ปี 2023 อุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชาโต 3%

หน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยแห่งกัมพูชา (IRC) รายงานมูลค่าเบี้ยประกันภัยรวมภายในประเทศแตะ 342 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากมูลค่า 331.8 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันกัมพูชามีบริษัทประกันภัยทั่วไป 18 แห่ง บริษัทประกันชีวิต 15 แห่ง บริษัทประกันภัยรายย่อย 7 แห่ง และบริษัทประกันภัยต่อ 1 แห่ง ที่มีการขยายตัวในภายรวม สำหรับมูลค่าการเคลมประกันในปีก่อนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 60.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากมูลค่า 46.6 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า ด้านมูลค่าสินทรัพย์รวมของอุตสาหกรรมประกันภัยกัมพูชามีอยู่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501441065/cambodias-insurance-industry-grows-by-3-pct-in-2023/

รัฐบาลเพิ่มแต้มต่อสินค้าเกษตรไทยด้วย FTA ดันครองเบอร์ 1 ส่งออกในอาเซียน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างชาติ เดินหน้าทำการค้าเชิงรุก และผลักดันให้เกิดการขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยในต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าหากเดินหน้าผลักดันความร่วมมือ FTA ให้เต็มศักยภาพจะเพิ่มตัวเลขการค้าการลงทุนได้มหาศาล ถือเป็นโอกาสสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้ไทยในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก ในปี 2023 โดยตลาดคู่ค้า FTA ที่มีการส่งออกขยายตัวทางการค้าสูง ได้แก่ จีน ซึ่งขยายตัว 11% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ตามมาด้วยตลาดอาเซียนที่ขยายตัว 5% ด้านสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าศักยภาพที่ขยายตัวได้ดีในการส่งออกของไทยไปยังตลาดคู่ค้า FTA อันดับ 1 ยังคงเป็น ข้าว ที่มีการขยายตัวมากถึง 92% ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/787985

‘เวียดนาม’ ทำยอดขายรถยนต์รั้งอันดับ 5 ในอาเซียน

สมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน (AAF) รายงานว่าในปี 2566 อินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน จำนวนมากกว่า 1 ล้านคัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามมาด้วยมาเลเซียที่ 799,731 คัน เพิ่มขึ้น 10.9% ไทย 775,780 คัน และฟิลิปปินส์ 429,807 คัน ขณะที่เวียดนามตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 5 ของภูมิภาค ทำยอดขายรถยนต์ 301,989 คัน ลดลง 25.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในปี 2566 ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามทั้ง 3 ประเภท ปรับตัวลดลง โดยยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลง 27% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลง 16% และรถยนต์เฉพาะกิจลดลง 56% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อาทิเช่น ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและภาระดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนและทำให้ยอดขายรถยนต์ชะลอตัวลง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650549/vn-s-automobile-market-stands-fifth-place-in-the-region.html

สื่อญี่ปุ่น ‘นิกเกอิ’ เผยเวียดนามผลักดันแรงจูงใจ ดึงดูดบริษัทต่างชาติ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ได้อ้างคำพูดของนาย ฮวิ่งห์แถ่ง ดาด (Huynh Thanh Dat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม กล่าวในการให้สัมภาษณ์ถึงแผนระดับชาติที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านการจัดสรรกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับภาคเอกชนอย่างบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม “FPT” โดบบริษัทต่างๆ ตั้งแต่อินเทล (Indel) ไปจนถึงซัมซุง (Samsung) มีแผนที่จะขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งจะได้รับเงินจัดสรรหลายล้านเหรียญสหรัฐจากกฎหมาย CHIPS and Science Act รัฐบาลสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกัน นายโฮเซ เฟอร์นันเดซ (Jose Fernandez) ปลัดกระทรวงการเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่าเวียดนามดึงดูดบริษัทเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งที่จะไปลงทุนในเวียดนาม หากเวียดนามสามารถตอบสนองในเรื่องของพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-dangles-chip-incentives-to-draw-foreign-companies-nikkei-asia-post1077352.vov