อาเซียน-แคนาดา ถกทำ FTA รอบ 5 คืบหน้าต่อเนื่อง นัดรอบ 6 พ.ย.นี้

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา รอบที่ 5 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25-29 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ว่า การประชุมรอบนี้ ได้เน้นหารือ 9 กลุ่ม ได้แก่ การค้าบริการ บริการโทรคมนาคม บริการด้านการเงิน การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายและสถาบัน การค้าสินค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ส่วนอีก 4 กลุ่ม ได้หารือผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาการค้าได้กำชับให้คณะทำงานเจรจาทุกคณะ หารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนการประชุมรอบที่ 6 ในเดือน พ.ย.2566 พร้อมทั้งกำหนดแผนที่จะประชุมกันอีก 5 รอบ ในปี 2567 เพื่อให้อาเซียนและแคนาดาสามารถสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568 ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาได้ตั้งเป้าหมายไว้

ที่มา : https://commercenewsagency.com/news/6408

‘ธนาคารโลก’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามเหลือ 4.7% ปีนี้

จากรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและสถานการณ์ความยากจนในเวียดนามของธนาคารโลก เปิดเผยว่าได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ชะลอตัวลงเหลือเพียง 4.7% และกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นที่ 5.5% ในปี 2567 และ 6.0% ในปี 2568 โดยธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง เป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ ตกต่ำ และอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-projects-vietnam-s-economic-growth-to-slow-to-4-7-this-year-2197044.html

‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ปรับตัวลดลงเล็กน้อย มียอดคำสั่งซื้อใหม่ เดือน ก.ย.

รายงานของ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม เดือน ก.ย.66 อยู่ที่ระดับ 49.7 จากระดับ 50.5 ในเดือน ส.ค.66 ได้ส่งสัญญาถึงภาวะถดถอยทางธุรกิจแก่ภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม ถึงแม้ว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพื้นฐานแสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมทางการตลาดมีความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น แต่หากพิจารณาในภาพรวมยังเผชิญกับอุปสรรคหลากประการ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อสูง ผลผลิตและการจ้างงานลดลง ต้นทุนวัตถุดิบและราคาผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าประมงครึ่งปีแรก กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทะลุ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

U Nyunt Win อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีแรก (เม.ย.-ก.ย.) เมียนมาส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำรายได้ราว 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐของปีงบประมาณปัจจุบัน 2566-2567 โดยตลาดส่งออกสินค้าประมงสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย ทั้งนี้ สหพันธ์ประมงเมียนมาและกรมประมงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าประมง ตลอดจนเมียนมาปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-fishery-exports-to-over-40-foreign-countries-bag-us270-mln-in-h1/#article-title

บริษัทต่างชาติเข้าลงทุนจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใน สปป.ลาว

บริษัท China International Water & Electric Corp (CWE) พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและภาคส่วนอื่นๆ ใน สปป.ลาว แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยปัจจุบันบริษัทได้เข้าลงทุนใน สปป.ลาว มานานกว่าสองทศวรรษ ซึ่งลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 5 โครงการ และโครงการสายส่งและสายแปลง 4 โครงการ มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งโครงการเหล่านี้กำลังสร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับพนักงานท้องถิ่นราว 300-400 คน ในจังหวัดเซียงขวาง เวียงจันทน์ และอัตปือ โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงถนนและสะพาน โรงเรียน สนามเด็กเล่น ห้องปฏิบัติการ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสะอาดสอดคล้องกับการมุ่งเน้นของโครงการ Belt and Road Initiative ในด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการแสวงหาหนทางสำหรับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_192_Foreign_y23.php

ภาคประกันภัยกัมพูชา รายงานการจัดเก็บเบี้ย ณ ส.ค. แตะ 31 ล้านดอลลาร์

ภาคประกันภัยกัมพูชารายงานการจัดเก็บเบี้ยประกันภัยในช่วงเดือนสิงหาคมมูลค่ารวมกว่า 31.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยรวมของตลาดประกันภัยทั่วไปในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 13.5 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 12.8 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 ตามรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยของกัมพูชา สำหรับในรายงานยังได้ระบุเสริมว่าสำหรับเบี้ยประกันชีวิตมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 17.3 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 2.43 ในขณะที่เบี้ยประกันรายย่อยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40.2 ซึ่งปัจจุบันภายในกัมพูชามีบริษัทประกันทั่วไป 18 ราย บริษัทประกันชีวิต 14 ราย บริษัทประกันภัยรายย่อย 7 ราย บริษัทรับประกันภัยต่อ 1 ราย นายหน้าประกันภัย 20 ราย และตัวแทนองค์กร 34 ราย สำหรับเบี้ยประกันภัยขั้นต้นของกัมพูชามีมูลค่ารวมประมาณ 332 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดประกันภัยในกัมพูชา ซึ่งภาคประกันภัยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369987/insurance-sector-logs-31-million-premium-in-august/

CGCC จับมือร่วมกับกสิกรไทย หนุน MSMEs กัมพูชา

บรรษัทประกันสินเชื่อแห่งกัมพูชา (CGCC) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพนมเปญ ได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) โดยในพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงาน CGCC นำโดย Ros Seileva รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน ร่วมกับ Wong Keet Loong ประธาน CGCC และ นาย Cherdkiat Atthakor เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา รวมถึง นาย Suwat Techawatanawana รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งความร่วมมือกับ CGCC จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขยายขอบเขตการเข้าถึงผู้ประกอบการในกัมพูชาที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับปรุงขีดความสามารถด้านบริการของธนาคารอีกด้วย ในฐานะที่เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ด้าน CGCC มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและพัฒนา MSME ภายในประเทศ โดยมีภารกิจหลักในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ MSME ผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFI) สำหรับการค้ำประกัน ณ เดือนกรกฎาคม 2023 CGCC ได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วมูลค่ากว่า 139.5 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ธุรกิจ 1,648 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369986/cgcc-kasikornbank-join-hands-to-support-msmes/