กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วง 7 เดือน แตะ 2.6 พันล้านดอลลาร์

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 68 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยคิดเป็นการส่งออกข้าวสารที่มูลค่า 504 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหากนับเป็นปริมาณตันรวมทั้งสิ้น 4.5 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็นข้าวสาร 3.63 แสนตัน, ข้าวเปลือก 1.51 ล้านตัน และสินค้าการเกษตรอื่นๆ 2.64 ล้านตัน แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดต่างประเทศจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอนาคต เนื่องจากการที่ประเทศอินเดียประกาศลดโควต้าการส่งออกข้าวเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เป็นผลทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวในตลาดโลกอาจจะเกิดความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณข้าวที่อาจน้อยลง ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้กัมพูชาต้องเร่งศึกษากลยุทธ์ในการตักตวงโอกาสดังกล่าวที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มขีดความสามารถของโรงสีในท้องถิ่นในการจัดเก็บสต๊อก และเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปเพื่อการส่งออก เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501339005/cambodias-agricultural-exports-reach-more-than-2-6-billion-in-seven-months/

เงินเฟ้อไทย ก.ค. 66 เพิ่ม 0.38% ยังต่ำสุดในอาเซียน

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 107.82 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ที่อยู่ที่ 107.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.38% ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเทียบเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน มิ.ย. 2566) พบว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในอีก 5 เดือนที่เหลือ เงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกินเดือนละ 1%

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1364174

‘เวียดนาม’ เผยรายได้อุตฯ ICT ลดลง 7%

กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม (MIC) เปิดเผยว่าในเดือนที่แล้ว รายได้จากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มีมูลค่ากว่า 1.71 พันล้านล้านด่อง หรือประมาณ 72.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุมาจากเศรษฐกิจหลายๆประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย และไม่เห็นสัญญาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ตลาดไอซีที (ICT) ยังคงปรับตัวลดลง พร้อมกับศักยภาพการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ เนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอาฟเตอร์ช็อกทางเศรษฐกิจ หลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดส่งออกสินค้าและบริการของเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/ict-revenue-falls-by-more-than-7-over-last-year-2174502.html

‘นิ่งห์ถ่วน’ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพลังงานหมุนเวียนของประเทศ

จังหวัดนิ่งห์ถ่วน (Ninh Thuan) ตั้งเป้าผลักดันประเทศสู่ศูนย์กลางผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 26,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ทางจังหวัดมุ่งพัฒนาโซลาร์ฟาร์มและฟาร์มกังหันลม รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศมีส่วนร่วมด้านความมั่งคงทางพลังงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564-2573 ทางจังหวัดจะมุ่งพัฒนาพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม ไฟฟ้าพลังน้ำ และก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว คาดว่าจะมีสัดส่วน 16% ของ GDP จังหวัด ในปี 2573

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/ninh-thuan-looks-to-become-renewable-energy-hub/

‘เมียนมา’ เผยราคาหัวหอมในตลาดย่างกุ้ง พุ่ง 2,400 จ๊าตต่อวิสส์

The Global New Light of Myanmar สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมา รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ราคาหัวหอมพุ่งแตะ 2,400 จ๊าตต่อวิสส์ นับเป็นครั้งแรกในปีนี้ของตลาดย่างกุ้ง ด้วยจำนวนหัวหอม 90,000 หัวต่อวิสส์ ราคาหัวหอมจะอยู่ที่ราว 1,800-2,400 จ๊าตต่อวิสส์ ทั้งนี้ เมียนมาได้ตั้งเป้าที่จะส่งออกหัวหอม 1 แสนตันในปีงบประมาณ 2566-2567 รวมไปถึงมีแผนที่จะส่งออกหัวหอมกว่า 20,000 ตัน และ 35,000 ตันในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/onion-price-rises-to-k2400-per-viss-in-yangon-market/

สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ พร้อมหนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และการเกษตร

Mr. Enrique Manalo รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวถึงโอกาสในการร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การค้า และภาคการเกษตร ร่วมกับกัมพูชา หลังร่วมหารือกับคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี สปป.ลาว-ฟิลิปปินส์ (JCBC) นำโดย Mr. Saleumxay Kommasith นอกจากการสนับสนุนในเรื่องข้างต้นทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเที่ยวบินตรงเชื่อมระหว่างสองประเทศเพื่อหวังกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวระหว่างกันในอนาคต ขณะที่ ACEN Renewables บริษัทสัญชาติฟิลิปปินส์ ได้เข้าถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมโครงการแรกใน สปป.ลาว และโครงการพลังงานหมุนเวียนข้ามพรมแดนโครงการแรกในเอเชีย โดยเชื่อว่าเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังานสีเขียวของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบันทั้งสองประเทศได้สานความสัมพันธ์ทางการทูตร่วมกันมาแล้วกว่า 70 ปี โดยได้จัดทำข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด 22 ฉบับ ภายใต้การวางกรอบความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นไปที่ความมีมนุษยธรรมมากขึ้น มั่งคั่งขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_151_Foreign_y23.php

SME Bank ปล่อยกู้ 54 ล้านดอลลาร์ แก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกัมพูชา

ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งกัมพูชา (SME Bank) ปล่อยเงินกู้รวม 54 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ให้แก่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศกัมพูชา ผ่านโครงการความร่วมมือทางการเงินเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนเงินกู้ที่เบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมายในการปล่อยกู้เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่กำหนดไว้ที่ 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นการสนับสนุนจากรัฐบาลมูลค่ารวม 75 ล้านดอลลาร์ ร่วมกับเงินสมทบของสถาบันการเงินอีก 75 ล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันมีบริษัท/องค์กรกว่า 349 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการในการฟื้นฟูธุรกิจหลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวยังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวให้สินเชื่อสูงสุด 400,000 ดอลลาร์ต่อราย ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ต่อปี และมีระยะเวลาเงินกู้สูงสุด 7 ปี สำหรับภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดกัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 6.6 ล้านคนในช่วงปี 2019 สร้างรายได้รวมกว่า 4.9 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501337906/sme-bank-disburses-54m-loans-to-tourism-related-biz/

มิ.ย. เบี้ยประกันภัยรับในกัมพูชาพุ่งแตะ 28.7 ล้านดอลลาร์

ภาคธุรกิจประกันภัยในกัมพูชารายงานสถานการณ์เบี้ยประกันภัยรับภายในประเทศมีมูลค่าแตะ 28.7 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนมิถุนายนปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีบริษัทประกันทั่วไป 18 แห่ง, บริษัทประกันชีวิต 14 แห่ง, บริษัทประกันรายย่อย 7 แห่ง, บริษัทรับประกันภัยต่อ 1 แห่ง, นายหน้าประกันภัย 20 แห่ง และบริษัทตัวแทนนายหน้าประกัน 34 แห่ง รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ดำเนินการอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งเบี้ยประกันขั้นต้นของตลาดประกันทั่วไปในเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.2 คิดเป็นมูลค่ารวม 11 ล้านดอลลาร์ จาก 8.9 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายนปีก่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 17 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.1 ขณะที่เบี้ยประกันรายย่อยที่ 562,487 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ด้านมูลค่าเงินค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายโดยบริษัทประกันในช่วงเวลาดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 88 หรือคิดเป็นมูลค่า 3.3 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 1.7 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501338092/insurance-sector-logs-28-7m-premium-in-june/