ส่งออก “ปลากระป๋องและแปรรูป” ไปตลาด FTA 5 เดือนโต 15.7% ทูน่ากระป๋องแชมป์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ที่มา : https://www.commercenewsagency.com/news/6183

‘ผู้ค้าปลีกเวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

บริษัทหลักทรัพย์ เอส เอส ไอ (SSI) คาดการณ์ว่าธุรกิจจะกลับมาทำกำไรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 4 และในปี 2567 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายเงินให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ค้าปลีกเวียดนามมีแนวโน้มที่จะหันไปสู่การค้าสมัยใหม่ รวมไปถึงการระดมเงินทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ของผู้ค้าปลีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าธุรกิจค้าปลีกได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานสถิติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่ารายได้รวมจากการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 3.01 ล้านล้านด่อง

ในขณะเดียวกันจากผลการสำรวจของ ‘Infocus’ พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเวียดนาม ลดลงมาอยู่ที่ 54 จุด ในเดือน มิ.ย.66 จากเดือน ก.ค.65 อยู่ที่ 63 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/domestic-retailers-on-path-to-recovery/259465.vnp

‘เวียดนาม’ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมมะพร้าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และควรได้รับพิจารณาให้เป็นส่วนสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชอุตสาหกรรมหลักของเวียดนามภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากกว่า 188,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1.67% ของพื้นที่ทั่วโลก ในขณะที่ต้นมะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรกว่า 389,530 ครัวเรือน และทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปมะพร้าว จำนวน 854 ราย และอีกกว่า 90 บริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างแรงงานมากกว่า 15,000 คน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

‘เมียนมา’ ส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ทะลุ 4 แสนตัน

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses) ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 424,187 ตัน คิดเป็นมูลค่า 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติตั้งแต่เดือน 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.2566 เมียนมาทำการซื้อขายถั่วและถั่วพัลส์ผ่านทางเรือ ประมาณ 369,237 ตัน และผ่านทางชายแดน 54,950 ตัน อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ระบุว่าการส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ของเมียนมาปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ถั่วและถั่วพัลส์นับเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ในเมียนมา รองจากข้าว โดยมีสัดส่วน 33% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-exports-over-420kt-of-beans-pulses/

รมว.ท่องเที่ยว สปป.ลาว วางแผนรับนักท่องเที่ยวจีน

รัฐบาล สปป.ลาว เร่งจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากระหว่างปี 2023-2025 โดยนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มาเยือน สปป.ลาว กลุ่มสำคัญ นับตั้งแต่รัฐบาลจีนอนุญาตการเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาล จีน-สปป.ลาว ได้เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเอื่อต่อการเดินทางและการขนส่ง ร่วมกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อถนนระหว่างสถานีรถไฟ สถานที่ท่องเที่ยว และถนนสายหลัก ขณะที่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับสายการบินที่ต้องการกำหนดเที่ยวบินระหว่าง สปป.ลาวและจีน เป็นสำคัญ ตามรายงานของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชาวจีนมากกว่าหนึ่งล้านคนเดินทางมาเยือน สปป.ลาว คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Tourism136.php

FDI ในกัมพูชาพุ่งแตะ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 พุ่งแตะ 4.58 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากจีนคิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกัน FDI ที่ไหลเข้ามายังกัมพูชาครอบคลุมภาคส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ภาคการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต เกษตรกรรม และภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยภาคการผลิตมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 31.6 ของการลงทุนทั้งหมด ด้าน Heng Sokkung เลขาธิการแห่งรัฐและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รายงานเสริมว่า ภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ของกัมพูชา จะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด FDI ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501324951/cambodia-fdi-registered-capital-at-45-billion/

กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/