CRF-Alibaba ส่งเสริมการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังจีน

Lun Yeng เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่าปัจจุบันกำลังร่วมมือกับ Alibaba Group แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน ในการหารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในตลาดจีน ภายใต้การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าข้าวสารของจีนจากกัมพูชาบางราย ได้เริ่มขายข้าวสารออนไลน์แล้วในจีน โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดจีนกว่า 118,041 ตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 77.4 ล้านดอลลาร์ รายงานโดย CRF ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับข้าวสารของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 42.43 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318853/crf-alibaba-to-promote-cambodian-rice-in-china/

คาดการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจ จีน-กัมพูชา ดันเศรษฐกิจโต

หลังจากการร่วมทุนกันระหว่างภาคธุรกิจจีนและกัมพูชา เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชา รวมถึงชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ที่ปัจจุบัน มีขนาดกว้างถึง 11.13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกว่า 175 แห่ง ภายใต้โครงการความร่วมมือ Belt and Road Initiative โดยนับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจาก 139 ล้านดอลลาร์ ในปี 2013 เป็นเกือบ 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดธุรกิจจากประเทศเข้ามาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนอุตสาหกรรมได้เปิดคลินิกสุขภาพ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันโปลีเทคนิคมิตรภาพพระสีหนุกัมพูชา-จีน และสถาบันธุรกิจและเทคโนโลยีสีหนุวิลล์-จีน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นการสารสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501319228/chinese-cambodian-joint-venture-changes-lives-for-the-better/

“พาณิชย์” จัดมหกรรมการค้าชายแดน จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้

กรมการค้าต่างประเทศจัดงาน “มหกรรมการค้าชายแดน” จ.สระแก้ว วันที่ 7-9 ก.ค.นี้ เปิดบูธนำสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาจำหน่ายกว่า 50 คูหา จัดสัมมนาติดปีก SMEs ด้วย E-commerce และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-คู่ค้า CLMV พร้อมลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ดันเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ เอื้อการขนส่งและส่งออก โดยมี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ณ ห้าง Big C อรัญประเทศ มีสินค้าจากผู้ประกอบการไทยและกัมพูชาที่ผ่านการคัดเลือกมาร่วมออกร้าน กว่า 50 คูหา 2.การสัมมนา “ติดปีก SMEs ด้วย E-commerce” ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล โดยวิทยากรจาก Klangthai.com , EXIM Bank และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะมาถ่ายทอดความรู้ในการเพิ่มศักยภาพด้านการค้าต่างประเทศ กฎระเบียบ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และ 3.การเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย–คู่ค้า CLMV ณ โรงแรม เดอะ เวโล โฮเต็ล เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ กรมฯ จะลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (หนองเอี่ยน–สตึงบท) ที่ปัจจุบันได้เปิดใช้งานชั่วคราวแทนจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ที่ไม่สามารถขนส่งสินค้าผ่านได้ เนื่องจากเหตุอัคคีภัยที่กาสิโนฝั่งปอยเปต โดยหากสามารถเปิดใช้งานด่านบ้านหนองเอี่ยนได้อย่างเต็มรูปแบบ จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจังหวัดสระแก้วได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนเพิ่มมูลค่าส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาให้สูงขึ้นในอนาคต ในปี 2565 การค้าชายแดนไทย–กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 198,315 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปกัมพูชา 164,186 ล้านบาท นำเข้า 34,129 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้า 130, 058 ล้านบาท ซึ่งจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก (ด่านศุลกากรอรัญประเทศ) จังหวัดสระแก้ว เป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 103,062 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.77 ของการส่งออกชายแดนไทย–กัมพูชาทั้งหมด

ที่มา : https://www.amarintv.com/spotlight/positioning/detail/48347

‘Google’ ชี้การท่องเที่ยวเวียดนามพุ่ง จากจำนวนค้นหาการท่องเที่ยวอยู่ในอันดับ 6 ของโลก

สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยว่าปริมาณการค้นหาสำหรับการท่องเที่ยวของเวียดนาม ผ่านเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามแนวโน้มตลาดของกูเกิล (Google) เติบโตขึ้น 10-25% จากต้นปีนี้ ไต่ขึ้นสู่อันดับที่ 6 จากอันดับที่ 11 ในการจัดอันดับทั่วโลก ทั้งนี้ อินเดียและออสเตรเลียมีศักยภาพในการเติบโตในระดับสูง เนื่องจากสายการบินต่างๆ เริ่มฟื้นตัวและขยายเส้นทางการบินที่เชื่อมต่อกับเมืองต่างๆ ของเวียดนามและทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ แหล่งที่มาของจำนวนการค้นหาเพื่อการท่องเที่ยวมากที่สุดในเวียดนาม ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เยอรมนีและฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการที่จะท่องเที่ยวในเวียดนามมากขึ้น และมีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งในภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/search-volume-for-vietnamese-tourism-ranks-6th-worldwide-2161432.html

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเวียดนาม ฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าในเกณฑ์ที่กำหนด

S&P Global เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ 50.0 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI เดือน มิ.ย. อยู่ที่ 46.2 เพิ่มขึ้นจาก 45.3 ในเดือน พ.ค. และจากรายงานล่าสุดชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ยังอยู่ในทิศทางที่ย่ำแย่ เนื่องมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงตามยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง ตลอดจนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และยอดคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง ไฟดับในเวียดนาม เหตุจากคลื่นความร้อนสูง ทำให้ผลผลิตมีจำกัด

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1550654/pmi-recovers-slightly-but-still-below-threshold-of-50-points.html

“เมียนมา” เผยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดค้าระหว่างประเทศ แตะ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศของเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึง 23 มิ.ย. ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีมูลค่า 2.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าสำเร็จรูปจากอุตสาหกรรม ขณะที่เมียนมาส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ลดลงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-totals-7-37-bln-in-past-three-months/#article-title

คาดรัฐบาล สปป.ลาว ใช้งบประมาณ 22 ล้านดอลลาร์ สำรวจสำมะโนประชากร

รัฐบาล สปป.ลาว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 22.2 ล้านดอลลาร์ จ้างงานเจ้าหน้าที่ 18,000 คน เพื่อจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะแห่งชาติครั้งที่ 5 โดยถือเป็นสถิติสำคัญเกี่ยวกับลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม ขณะที่การสำรวจสำมะโนประชากรได้รับความช่วยเหลือจาก UNFPA, USIAD, DFAT Australia และธนาคารโลก ทั้งทางด้านความร่วมมือทางเทคนิคและการเงิน ซึ่งสถิติดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อการกำหนด การติดตาม ประเมินผล และการประเมินแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นอย่างมาก เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างของประชากร ด้านรองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร. Kikeo Khaykhamphithoune ระบุเสริมว่า ปัจจุบันประชากรของ สปป.ลาว มีอยู่ประมาณ 7.5 ล้านคน โดยอ้างอิงจากการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจำนวน 4 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1985-2015 ครอบคลุมการสำรวจประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนจน คนชรา คนพิการ ผู้ย้ายถิ่น วัยรุ่นและเด็กผู้หญิง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_127_Govt_y23.php

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศกว่า 2.57 ล้านคน

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 2.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 409 จากจำนวน 506,762 คน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดย Thong Khon รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ซึ่งไทยรั้งอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม จีน สปป.ลาว และสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาเยือนยังกัมพูชาแตะ 7 ล้านคน ภายในปี 2025 มากกว่าในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 6.6 ล้านคน ณ ปี 2019 ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกัมพูชาเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องแหล่งมรดกโลก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ในจังหวัดเสียมราฐ ปราสาทพระวิหารในจังหวัดพระวิหาร และแหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุกในจังหวัดกำปงธม ซึ่งทางการกัมพูชาคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318525/cambodia-attracts-2-57-mln-intl-tourists-in-h1-of-2023-minister/