UN จัดอันดับความยั่งยืนไทย อันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันปีที่ 5

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ Sustainable Development Report 2023 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และมีความยินดีที่การพัฒนาของประเทศไทยดีขึ้น โดย SDG Index ของไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลคะแนน SDG Index ที่ 74.7 คะแนน ในปี 2566 ทำให้ไทยมีคะแนนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ซึ่งนับเป็นการตอกย้ำผลสัมฤทธิ์ที่รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนการพัฒนาประเทศในทุกระดับ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งฉบับที่ 12 และ ฉบับที่ 13

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2023/312516

“ทุเรียนไทย” ส่งออกไปเวียดนามพุ่งทะยาน 10,000% ประตูใหม่สู่จีน

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกทุเรียนและทุเรียนแช่แข็งของไทย มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 63,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 166% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุด คือ ตลาดตจีนมีมูลค่า 62,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170% จากปีก่อน รองลงมาฮ่องกงและไต้หวัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดเวียดนามเป็นตลาดอันดับ 10 ที่มีมูลค่าการส่งออกเพียง 0.15 ล้านบาท แต่เติบโต 10,769% ทั้งนี้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่าสถานการณ์การส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 100% อย่างไรก็ดีต้องทำการติดตามและประเมินถึงแนวโน้มครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนในภาคใต้ รวมไปถึงดูแลเรื่องการขนส่งผ่านด่านทางเวียดนามและสปป.ลาว เพื่อส่งออไปยังประเทศจีน

ที่มา : https://www.khaosodenglish.com/news/2023/06/24/thai-durian-exports-to-vietnam-soar-10000-as-new-gateway-to-china/

‘สแตนชาร์ด’ คาดส่งออกเวียดนามปี 2030 ยอดพุ่งเกิน 620 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่าเวียดนามพร้อมที่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางการค้าโลก จากการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกที่จะสูงถึง 618 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 พร้อมกับเวียดนามมีศักยภาพอย่างมากที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าได้ในระดับโลก ทั้งนี้ จากรายงานฉบับก่อนที่เผยแพร่ในปี 2021 ได้มีการประเมินไว้ว่าตัวเลขการส่งออกของเวียดนามจะสูงถึง 535 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับล่าสุดที่ปรับตัวเลขการคาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางด้านการส่งออกของเวียดนาม ด้วยสัดส่วนราว 50% ของตัวเลขที่คาดการณ์ในปี 2030

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/standard-chartered-forecasts-vietnams-2030-export-revenue-to-reach-us620-billion/

เริ่ม 1 ส.ค.2566 ธุรกรรมทางการเงินของการนำเข้าที่ชายแดนเมียนมา-จีน ผ่านระบบธนาคาร

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ได้ออกกฎระเบียบและข้อบังคับที่ 10/2566 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ว่าด้วยเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับการนำเข้าที่ชายแดนเมียนมา-จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 โดบเบื้องแต้นเริ่มใช้ระบบการทำธุรกรรมผ่านธนาคารในวันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่จุดผ่านแดนไทย-เมียนมา และระบบนี้จะเริ่มดำเนินการที่ชายแดนเมียนมา-จีน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องใช้ระบบธนาคารด้วยสกุลเงิน ‘หยวน’ นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ต้องแสดงรายได้จากการส่งออกหรืองบกำไรขาดทุน หรือรายการเดินบัญชีธนาคาร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/banking-transactions-for-imports-on-myanmar-china-border-to-commence-1-august/#article-title

ตัวแทนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว ร่วมหารือลดต้นทุนด้านพลังงาน

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว (ALGI) เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยทางสมาคมได้จัดหลักสูตรทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการฝึกอบรม ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การดำเนินการตามแผนที่มีอยู่ของบริษัทสำหรับภาคส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน ณ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว (LNCCI) ที่ได้รับความร่วมมือกับทางกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ในการถ่ายทอดความรู้

โดยภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสอดคล้องกับนโยบายและพระราชกฤษฎีกาการอนุรักษ์พลังงานของรัฐบาล นอกจากนี้ คู่ค้าในปัจจุบันยังต้องการสินค้าที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นมิตรต่อแรงงานในสายการผลิต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Garment120.php

ม.ค.-เม.ย. กัมพูชาส่งออกเครื่องแต่งกายไปยังสหรัฐฯ ลดลงกว่า 50.32%

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่มูลค่า 643.89 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 50.32 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แม้สถานการณ์การส่งออกจะลดลง แต่สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกสินค้าหมวดเสื้อผ้าของกัมพูชา และเมื่อแยกย่อยผลิตภัณฑ์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า กางเกงขายาวและกางเกงขาสั้น ถือเป็นสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด สร้างรายได้ให้กัมพูชากว่า 230.292 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.39 ของการส่งออกเสื้อผ้าทั้งหมด รองลงมาเสื้อเจอร์ซีย์ ทำรายได้ 122.014 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.63 ตามมาด้วยเสื้อเชิ้ตมูลค่าส่งออกรวม 67.086 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อนละ 9.14 ชุดเด็ก 47.581 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.48 เสื้อยืด 43.340 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 5.91 ชุดนอน 33.623 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 4.58 และเดรส 31.846 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.34 ตามข้อมูลจาก TexPro สำหรับในปี 2022 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่า 4.438 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 34.37 ของการส่งออกโดยรวมของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 12.910 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501313525/50-32-yoy-fall-in-jan-apr-2023-for-cambodian-apparel-exports-to-us/

นายกฯ กัมพูชาคาดเศรษฐกิจภายในประเทศโต 5.6 ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปีนี้ และขยายตัวอีกร้อยละ 6.6 ในปีหน้า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย โดยนายกฯ ได้กล่าวคำแถลงดังกล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษแมนฮัตตัน ณ จังหวัดสวายเรียง แม้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าจะมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงยังคงเติบโต ภายใต้การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ฮุน เซน กล่าวเสริมว่า แม้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องคอยติดตามกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาทิเช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของชาติมหาอำนาจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501313848/pm-hopes-for-5-6-percent-economic-growth-this-year-and-6-6-percent-next-year/

เอดีบี ชี้ ‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ส่อผิดนัดชำระหนี้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ในเอเชียว่าดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามปรับตัวลดลงอย่างมากประมาณครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เดือน ม.ค. และรายงานยังเปิดเผยว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ ช่วงอายุต่างๆ ลดลง ตั้งแต่ 1 มี.ค. จนถึง 2 มิ.ย. เนื่องจากธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่งคงทางการเงิน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีสัดส่วนหนี้เสียสูงถึง 20% อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯ ยังมีสัดส่วนยอดคงค้างพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 33.8% ของมูลค่าทั้งหมด

ที่มา : https://vir.com.vn/adb-highlights-default-risks-in-vietnams-property-markets-102853.html

“เวียดนาม” ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอาเซียน

คุณ Le Hoang Anh ผู้อำนวยการกรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศเวียดนาม เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน Google, Temasek และ Bain & Company ในปี 2565 ที่มุ่งเน้น 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม โดยในปีที่แล้ว มีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 460 ล้านคน ทั้งนี้ ตามรายงานของ Statista คาดการณ์ว่าอาเซียนจะบรรลุอัตราการเติบโต 2 เท่าต่อปี และจะเติบโตที่ 11.43% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีนและแคนาดา นอกจานี้ เมื่อศึกษากรณีประเทศเวียดนาม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-fosters-cross-border-e-commerce-in-asean-2157258.html

“สหรัฐฯ” คว่ำบาตรกระทรวงกลาโหมและธนาคารเมียนมา

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่ากองทัพเมียนมาได้อาศัยทรัพยากรจากต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานของรัสเซียหลังได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร จึงหันไปซื้อและนำเข้าอาวุธ ชิ้นส่วนและยุทธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อทำการผลิตอาวุธและสนับสนุนการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของกองทัพเมียนมา โดยคาดว่าการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ มีมูลค่าอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ทั้งนี้ ธนาคารการค้าต่างประเทศของเมียนมา (MFTB) และธนาคารการลงทุนและการพาณิชย์เมียนมา (MICB) โดนคว่ำบาตรเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี โฆษกกองทัพของเมียนมาไม่ได้กังวลต่อการคว่ำบาตรครั้งใหม่ และมองว่าไม่เป็นปัญหาหากมีธนาคารของรัฐเมียนมาก่อตั้งใหม่

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/us-places-sanctions-on-myanmars-defence-ministry-banks/