กัมพูชาส่งออกยางพุ่ง 41% ในปีนี้

กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพารามูลค่ารวมแตะ 260 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ขยายตัวกว่าร้อยละ 41.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDC) โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวกัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารากว่า 53.5 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปีนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม ด้านสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ซึ่งมีสำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้รายงานสถานการณ์การผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก (NR) ว่ามีการเติบโตลดลงที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือคิดเป็นปริมาณ 896,000 ตัน ในช่วงเดือนเมษายน และด้วยการผลิตที่ลดลง แต่ความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.7 ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2022 ตลาดยางธรรมชาติทั่วโลก คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตถึง 14.693 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคคาดว่าจะอยู่ที่ 14.738 ล้านตัน ตลอดทั้งปี ซึ่งโดยเฉพาะในตลาดยางพาราอย่าง จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311550/cambodias-rubber-exports-surge-by-over-41/

กัมพูชาส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนระหว่าง เวียดนาม และสปป.ลาว

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังเตรียมลงนามข้อตกลงกับธนาคารแห่งรัฐเวียดนามและธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียลของกัมพูชาในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันข้ามพรมแดน กล่าวโดย Chea Serey รองผู้ว่าการ NBC ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อของเวียดนามในกรุงพนมเปญ โดยเน้นย้ำว่าความคิดริเริ่มนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคใช้สกุลเงินเรียลในการซื้อสินค้า/บริการในประเทศมากขึ้น ผ่านการใช้งานบนระบบ QR Code ที่เชื่อมโยงกับบัญชีในประเทศของตน ซึ่งรองผู้ว่าการฯ สังเกตว่าความต้องการในการใช้เงินสกุลเรียลเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การไหลเวียนของเงินเรียลในกัมพูชามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.6 หรือคิดเป็นประมาณ 14.1 ล้านล้านเรียล (เทียบเท่ากับ 3.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 356 ล้านเรียลในปี 1998 โดยการใช้สกุลเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกัมพูชา เนื่องจากปริมาณเงินเรียลในระบบมีการใช้อยู่ค่อนข้างน้อย จนทำให้ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ใช้นโยบายทางการเงินได้ไม่เต็มที่ โดยปัจจุบันกลุ่ม ASEAN-5 ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ ได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อปีที่แล้ว เพื่อจัดตั้งระบบการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนโดยใช้ QR Code ร่วมกันภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311878/cambodia-to-promote-cross-border-digital-payment-with-viet-nam-laos/

‘ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง’ ปี 66 เติบโตต่อเนื่อง ดันไทยส่งออกอันดับ 1 อาเซียน ที่ 4 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีผลตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโตต่อเนื่อง เป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ตลาดการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังครองใจผู้บริโภคในตลาดโลก โดยข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.– เม.ย. 66) ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดโลก 750 ล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศไทยขึ้นเป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้า ปลดล็อคกำแพงภาษีศุลกากร ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น โดยช่วง 4 เดือนแรก ของปี 2566 ไทยส่งออกอาหาsสัตว์เลี้ยงไปตลาดคู่ค้า FTA มูลค่า 432 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 58% ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ซึ่งตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา และเปรู ปี 65 ส่งออกโต 15% ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินนโยบายเจรจากับประเทศคู่ค้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญ และคู่ค้าที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มตลาดส่งออกอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย

ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/news/business/1124725/

“เวิลด์แบงค์” คาดเงินเฟ้อเวียดนาม มีแนวโน้มลดลงเป็นเดือนที่ 4

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของธนาคารโลก เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยลดลงจาก 2.8% ในเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ 2.4% ในเดือน พ.ค. ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง 4.5% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ที่ 4.6% ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่าอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงอ่อนแอและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว การส่งออกและการนำเข้าที่หดตัวลง ในขณะที่การเบิกจ่ายการลงทุนยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ภาคเหนือของประเทศเวียดนามเริ่มประสบกับภาวะไฟดับในช่วงปลายเดือน พ.ค. ซึ่งหากไม่แก้ไขอย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลง ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/world-bank-vietnams-cpi-inflation-trends-down-for-fourth-month-post126588.html

นิกเคอิสื่อชั้นนำญี่ปุ่น ชี้ “ท่องเที่ยวเวียดนาม” โตเร็วกว่าไทย

นายออมรี มอร์แกนสเติร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Agoda แพลตฟอร์มจัดการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ กล่าวกับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ว่าการท่องเที่ยวของเวียดนามเติบโตเร็วกว่าไทย และอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ชาวเกาหลีจำนวนมากจะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นและเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากบริษัทเกาหลีได้ตั้งโรงงานและเปิดดำเนินการที่เวียดนามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งชุมชนชาวต่างชาติขึ้นมา ในขณะที่จากข้อมูลของสื่อชื่อดังญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเวียดนามมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เป็นรองจากญี่ปุ่นและไทยที่เป็นจุดหมายปลายทางในเอเชีย นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศกว่า 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.6 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวหลักของเวียดนาม รองจากจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-tourism-growing-faster-than-in-thailand-japan-nikkei-asia-2156461.html

“เมียนมา” เผยเดือน พ.ค. ส่งออกน้ำผึ้งทะลุ 330 ตัน

ตามรายงานของ Livestock Breeding and Veterinary Department (LBVD) ระบุว่าในเดือน พ.ค. ของปีงบประมาณ 2566-2567 เมียนมาประสบความสำเร็จครั้งใหญ่จากการส่งออกน้ำผึ้งไปยังต่างประเทศกว่า 300 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากการส่งออกน้ำผึ้งไปยังตลาดต่างประเทศนั้น ประเทศไทยนำเข้าน้ำผึ้งจากเมียนมา 140.7 ตัน, ญี่ปุ่น 176 ตัน และเกาหลีใต้ 20 ตัน ทั้งนี้ ธุรกิจการเลี้ยงผึ้งในเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตสะกาย เขตมัณฑะเลย์ เขตมาเกวและรัฐฉาน โดยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้หลายชนิด ได้แก่ น้ำผึ้งงา น้ำผึ้งพุทรา น้ำผึ้งไนเจอร์ น้ำผึ้งดอกทานตะวัน น้ำผึ้งลิ้นจี่ และน้ำผึ้งดอกไม้ นอกจากนี้ น้ำผึ้งของเมียนมายังเป็นยาแผนโบราณและทำรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกไปยังต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-honey-exports-exceed-330-tonnes-in-may/#article-title

แรงงานสัญชาติ สปป.ลาว เดินทางทำงานยังเกาหลีใต้มากขึ้น

รัฐบาล สปป.ลาว คาดส่งแรงงานไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เพื่อทำงานในภาคเกษตรและประมง โดยหวังว่าแรงงานจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์และได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในภาคการเกษตรของเกาหลี เพื่อให้สอดคล้องกับความตั้งใจของรัฐบาลในการส่งเสริมภาคการเกษตร ซึ่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมร่วมกับจังหวัด Gyeongsangnam-do ของเกาหลี ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนแรงงานภาคเกษตร โดยสิ่งนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการผลิตทางการเกษตรใน สปป.ลาว ซึ่งทางการ สปป.ลาว ตั้งเป้าส่งแรงงาน 1,500-2,000 คน ไปทำงานยังเกาหลีในแต่ละปีภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว โดยปัจจุบันทางการ สปป.ลาว รายงานว่ามีแรงงาน สปป.ลาว เดินทางไปทำงานยังเกาหลีอย่างน้อย 2,800 คน ด้วยการทำสัญญาระยะสั้นระหว่างปี 2022-2023 จนถึงขณะนี้ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้แรงงานตามฤดูกาลกับ 28 เมืองในเกาหลีใต้ ซึ่งแรงงานทำงานเป็นเวลา 90 วัน หรือ 5 เดือน ในภาคเกษตรกรรมและการประมง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten117_More_y23.php

นายกฯ ฮุนเซน เรียกร้องเร่งศึกษาแหล่งน้ำมันดิบใต้ก้นทะเลกัมพูชา

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวว่า กัมพูชามีแหล่งน้ำมันที่มีศักยภาพใต้ก้นทะเลที่รอการสำรวจและการลงทุน ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีเปิดโรงงานบำบัดน้ำ Bakheng ในกรุงพนมเปญ โดยสนับสนุนให้ทำการศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำมันใต้ก้นทะเลกัมพูชา เพื่อมองหาโอกาสในการลงทุน ซึ่งหวังว่าในอนาคตกัมพูชาอาจมีการลงทุนในอุตสาหกรรทการผลิตน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันอยู่ใต้พื้นที่โตนเลสาบที่ยังไม่ได้ศึกษาและสำรวจ ในอดีตกัมพูชาเคยมีการผลิตน้ำมันครั้งแรกดำเนินการโดย บริษัท KrisEnergy เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2020 และบริษัทได้ยื่นฟ้องล้มละลายประมาณหกเดือนหลังจากดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายน 2021 ส่งผลทำให้บริษัทต้องปิดกิจการลง แต่ในปัจจุบันกระทรวงและบริษัทพลังงานสัญชาติแคนาดา ได้ร่วมพูดคุยและหารือเกี่ยวกับการศึกษาร่วมกันเพื่อเริ่มต้นการทำงานใหม่ โดยอุปกรณ์ที่มีอยู่จะกลับมาทำงานในบล็อกน้ำมันในไม่ช้า ขณะที่การนำเข้าน้ำมันและก๊าซของกัมพูชาอยู่ที่ 1.15 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต โดยความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2020 เป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501310756/pm-calls-for-study-on-cambodias-untapped-oil-reserves/