สปป.ลาว เปิด ด่านค้าชายแดน12 แห่ง หนุนส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนแรก (ม.ค.) ปี 2566 ที่ 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.5% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งยังเป็น การหดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยจะหดตัว 3.0% ทั้งนี้อัตราการหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทผันผวน สอดคล้องกัน ตัวเลขการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ผ่านด่านพรมแดนหนองคาย เดือนม.ค. 2566 หดตัวทั้งมูลค่าการค้าชายแดน การส่งออกและการค้าผ่านแดน ด้วยตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดนรวม 7,149.38 ล้านบาท ลดลง 7.50% แต่ยอดส่งออกยังสูงกว่านำเข้าได้ดุลการค้า 4,156.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 91.50 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.25%

อีกทั้ง โอกาสนี้ไทยได้ขอให้ สปป.ลาว เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเปิดด่านพรมแดนที่ติดกับไทยเพิ่มอีก 12 แห่ง และช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าไทย ผ่านแดน สปป.ลาวไปยังจีน เพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากเร็วๆ นี้

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/559913

“อีคอมเมิร์ซ” โตพุ่ง 60% ของเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม

จากรายงานในปี 2566 “การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยอีคอมเมิร์ซ – พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ระบุว่ายอดขายสินค้าออนไลน์รวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 31% คิดเป็นมูลค่า 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะคงรักษาระดับการเติบโตของการซื้อของออนไลน์ที่ 19% ในช่วงปี 2568-2573 และจากผลการสำรวจของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเวียดนามกว่า 55% เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีและอีคอมเมิร์ซ มีบทบาทสำคัญในการผลิตและการดำเนินกิจการ ตลอดจนชาวเวียดนามราว 60 ล้านคน นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และใช้จ่ายออนไลน์เฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 260-285 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการพัฒนาอีคอมเมิร์ซต้องมีปัจจัยหลายประการ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมบุคลากรและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-accounts-for-60-of-vietnamese-digital-economy-2124771.html

“เงินเฟ้อเวียดนาม” คาดพุ่งสูง 4.8% ปี 2566

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ลดลง 0.1-0.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. แต่เพิ่มขึ้น 3.4-3.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อของเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น 3.9-4.8% ในปี 2566 ใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 4.5% เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงสูงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจ้งกับที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลราคาสินค้า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เลมิงค้าย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาผลของการคำนวณราคาที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ขั้นต้น ได้แก่ ปิโตรเลียม ธัญพืช อาหาร อัตราค่าไฟฟ้าในครัวเรือน วัสดุการก่อสร้าง การศึกษา การดูแลสุขภาพและค่าเช่าที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ รองนายกฯ ยังได้แนะนำให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการทบทวนและวิเคราะห์ปัจจัยหรือสาเหตุที่มีผลกระทบต่อวัตถุดิบและผลผลิต เพื่อนำไปปรับปรุงการจัดการด้านราคา

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-inflation-forecast-to-reach-4-8-in-2023/

“เมียนมา” เผยแนวโน้มราคาข้าวโพดในประเทศปรับตัวลดลง

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง เปิดเผยข้อมูล ณ สิ้นเดือน ม.ค. พบว่าราคาข้าวโพดอยู่ในระดับทรงตัวที่ 1,300 จัตต่อ viss และได้ปรับตัวลดลงเหลืออยู่ที่ 1,200 จัตต่อ viss ในเดือน ก.พ. ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมาระบุว่าในปัจจุบัน เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังจีนและไทยผ่านชายแดน และยังส่งออกไปทางเรือไปยังจีน อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ โดยประเทศไทยได้รับอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 31 ส.ค. อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 73% สำหรับในกรณีที่มีการนำเข้าข้าวโพดในช่วงฤดูข้าวโพดของไทย นอกจากนี้ อู มิน ข่าย ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพด เมียนมา กล่าวว่าทิศทางการส่งออกข้าวโพดไปยังต่างประเทศจะเกินกว่า 2 ล้านตัน ในปี 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-price-on-downward-trend-in-domestic-market/#article-title

ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน จ่อให้บริการในช่วงเดือน เม.ย.

บริษัท รถไฟ สปป.ลาว-จีน จำกัด จะเปิดให้บริการรถไฟข้ามพรมแดนในช่วงกลางเดือนเมษายนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งปัจจุบันรถไฟวิ่งให้บริการระหว่างสถานีในประเทศ สปป.ลาว-เวียงจันทน์ และบ่อเต็น เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางจากมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด่านภาษีสากลบ่อเต็น ณ ชายแดน สปป.ลาว-จีน ได้เปิดให้ผู้คนสามารถข้ามพรมแดนระหว่างกันได้ และด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ บริษัท วางแผนที่จะเปิดให้บริการรถไฟเส้นทาง เวียงจันทน์-คุนหมิง ขณะที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจำนวนมาก เดินทางโดยรถไฟไปยังสถานีบ่อเต็นเพื่อเข้าสู่ประเทศ สปป.ลาว ซึ่งมียอดผู้โดยสารพุ่งสูงเฉลี่ย 1,500-1,600 คนต่อวัน นับตั้งแต่การรถไฟเปิดให้บริการในวันที่ 3 ธ.ค. 2021

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laos59.php

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา โดยเฉพาะเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ กล่าวโดย Chea Somethy ผู้ว่าการจังหวัดไพรแวง จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจังหวัดไพรแวกสามารถผลิตข้าวเปลือกได้มากกว่า 7 ล้านตัน หรือเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งหลังหักจากการบริโภคภายในจังหวัดแล้ว พบว่ามีข้าวเปลือกส่วนเกินกว่า 5 ล้านตัน และได้ทำการกระจายไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบัน Ouk Samnang ผู้อำนวยการกรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และประมงจังหวัดไพรแวง กล่าวเสริมว่า การขยายตัวของผลผลิตข้าวในจังหวัดมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทาน จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501261721/prey-veng-the-biggest-rice-producer-in-cambodia/

ฮุนเซนคาดจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกัมพูชาและอาเซียน

จีนยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับภาคการค้า ของทั้งกัมพูชาและประเทศในกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลทำให้ภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามายังกัมพูชาเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนปรับนโยบายในการรับมือต่อโควิด-19 ให้เหมาะสม โดยการค้าของกัมพูชากับจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณการค้าในช่วงปี 2022 สูงถึง 14.5 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2021 ซึ่งสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อผ้าและสินค้าเกษตร ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย สิ่งทอ ฝ้าย โลหะ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501262376/prime-minister-hun-sen-says-china-huge-market-for-cambodia-other-asean-countries/

เศรษฐกิจชายแดนสตูล-มาเลเซียคึกคัก รับเดือนรอมฎอน เงินสะพัดสองสัปดาห์ 10 ล้านบาท

เศรษฐกิจชายแดนต้อนรับเดือนรอมฎอน ที่จังหวัดสตูลคึกคักมีรายได้สะพัดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 10 ล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยมุสลิมแห่จับจ่ายเพื่อเข้าสู่เดือนถือศีลอด และที่ตลาดชายแดนวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งติดต่อกับบ้านวังเกลียน ประเทศมาเลเซีย มีการจับจ่ายก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนคึกคักมีชาวไทยมาเลเซียและนักท่องเที่ยวไทยมุสลิมเข้าจับจ่ายซื้อสิ่งของจำเป็นใช้สำหรับเดือนถือศีลอด โดยเฉพาะอินทผาลัม น้ำมัน น้ำตาล ผลไม้อบแห้ง ของใช้ในครัวเรือน สร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดชายแดนกันคึกคัก ทั้งนี้ นายกฤดิพรรธน์ สิงห์อุบลปิติกุล ด่านศุลกากรวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เปิดเผยว่าตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวไทยและมาเลเซียมาจับจ่ายกันคึกคักเพื่อเตรียมข้าวของ อาหารแห้งไว้สำหรับการละศีลอด และเพื่อท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายที่ตลาดชายแดนแห่งนี้กันคึกคึก รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จากพ่อค้าแม่ค้าที่มาวางขายกว่า 50 ร้านสร้างเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 10 ล้านบาท และเชื่อว่าในช่วงเทศกาลฮารีรายา บรรยากาศลักษณะนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/433026