สปป.ลาว ไทย และจีน หารือเส้นทางการบินใหม่เพื่อรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

เส้นทางการบินใหม่อยู่ระหว่างการหารือระหว่างไทย จีน และ สปป.ลาว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเพื่อตอบสนองต่อการคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอีก 100,000 เที่ยวในน่านฟ้าประเทศไทย สปป.ลาว และจีน โดยเส้นทางคู่ขนานที่นำเสนอนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความแออัดในเส้นทางการบินที่มีอยู่ซึ่งกำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของลาว แผนเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่จะวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค ความต้องการเดินทางจากจีนมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนเที่ยวบินสูงถึงประมาณ 80% ของระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยอินเดียมองว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเที่ยวบินเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 900,000 เที่ยวบินในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 800,000 เที่ยวบินในปี 2566 และภายในปี 2568 ปริมาณเที่ยวบินจะดีดตัวกลับไปสู่ระดับ 1 ล้านเที่ยวบิน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/01/thailand-laos-china-in-talks-for-new-aviation-routes-to-handle-surge-in-flights/

สปป.ลาว เดินหน้าร่างกฎหมายคาร์บอนเครดิต

กรมจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ร่วมกับพันธมิตรด้านการพัฒนาได้พูดคุยถึงรายละเอียดของพระราชกำหนด รวมถึงกระบวนการในการซื้อและขายคาร์บอนเครดิตในตลาดต่างประเทศ โดยร่างกฎหมายนี้มุ่งเน้นไปที่การคำนวณและรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ ภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและการขายคาร์บอนเครดิต เจ้าหน้าที่จากกรมการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะส่งเสริมการลงทุนในการลดก๊าซเรือนกระจกและทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้รับการจัดการผ่านระบบรวมศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าตลาดคาร์บอนของ สปป.ลาว มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน และจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและจำหน่ายคาร์บอนเครดิตทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_67_Govtmakes_y24.php

เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหัก 250,000 ตัน มูลค่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม

ตามข้อมูลของสมาพันธ์ข้าวเมียนมา รายงานว่า ในช่วงเดือนมีนาคมของปีนี้ จากบริษัท 55 แห่งของเมียนมามีการส่งออกข้าว 147,041 ตัน และการส่งออกข้าวหัก 109,996 ตัน คิดเป็นยอดรวม 257,037 ตัน สร้างรายได้จากการส่งออกทั้งหมดกว่า 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากยอดรวมดังกล่าวเป็นการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 252,993 ตัน และการค้าชายแดนอยู่ที่ 4,077 ตัน ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในการส่งออกข้าวของเมียนมาโดยมีการส่งออกไป 41,000 ตัน, แคเมอรูน 28,645 ตัน, โกตดิวัวร์ 24,000 ตัน, เบลเยียม 9,000 ตัน, สเปน 8,380 ตัน และประเทศอื่นๆ 36,016 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในตลาดส่งออกข้าวหักเมียนมา ส่งออกไปยังเบลเยียม 45,022 ตัน, จีน 33,299 ตัน, สเปน 10,000 ตัน, ฟิลิปปินส์ 4160 ตัน, อินโดนีเซีย 4160 ตัน และประเทศอื่นๆ 133,55 ตันตามลำดับ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-exports-250000-tonnes-of-rice-and-broken-rice-worth-us-133-mln-in-march/

รองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเมียนมา เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอาเซียนครั้งที่ 20

ดร. ลิน ออง รองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเมียนมา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอาเซียน (ACDM) ครั้งที่ 20 และการประชุมเจ้าหน้าที่การเงินและธนาคารกลางอาเซียน (AFCDM) เมื่อวานนี้ โดยรองผู้ว่าการธนาคารกลางลาว กล่าวถึง การจัดหาเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) ในภูมิภาคในปี พ.ศ. 2567 จากนั้น ผู้เข้าร่วมได้ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่คณะทำงานต่างๆ รวมถึง การเปิดเสรีบัญชีทุน, กรอบบูรณาการการธนาคารของอาเซียน, การรวมกลุ่มทางการเงิน, ระบบการชำระเงินและการชำระบัญชี, การเปิดเสรีบริการทางการเงิน รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ Swap ของอาเซียน และความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ของอาเซียนและแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูล อย่างไรก็ดี สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้นำเสนอเกี่ยวกับสถานะของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน พิมพ์เขียว AEC พ.ศ. 2568 วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2588 และรายงานการติดตามบูรณาการทางการเงินของอาเซียน พ.ศ. 2567 ในระหว่างการประชุม AFCDM หลังจากนั้น คณะทำงานต่างๆ ได้ให้ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับความคืบหน้าของคณะกรรมการระดับอาวุโสด้านการบูรณาการทางการเงินของอาเซียน และสรุปภารกิจสำหรับปีงบประมาณ 2024-2568

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-deputy-governor-attends-20th-asean-central-bank-deputies-meeting-virtually/

Royal Group เตรียมสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ในจังหวัดกันดาล

บริษัท Royal Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของกัมพูชา กำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แห่งใหม่ในจังหวัดกันดาล เพื่อรองรับความต้องการพื้นที่การผลิตที่มีคุณภาพรอบกรุงพนมเปญที่เพิ่มขึ้นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษรอยัล กรุ๊ป กันดาล (RGKSEZ) ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 120 เฮคเตอร์ ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษรอยัล กรุ๊ป พนมเปญ (RGPPSEZ) ที่บริษัทดำเนินการอยู่เดิม บริษัท รอยัล กรุ๊ป โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบจะสามารถสร้างงานให้กับชาวกัมพูชาได้ประมาณ 200,000 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบัน เขตเศรษฐกิจพิเศษรอยัล กรุ๊ป พนมเปญ มีบริษัทผู้ผลิต 85 แห่ง และบริษัทที่ไม่ได้ผลิตสินค้า 29 แห่ง มีพนักงานรวมกว่า 43,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501466083/royal-group-developing-new-sez-in-kandal/

Q1/2024 สนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ ได้รับเที่ยวบินตรงจาก 8 ประเทศ

สนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ มีเที่ยวบินตรงจาก 8 ประเทศ ณ ไตรมาสแรกของปี 2024 โดย 6 ประเทศ อยู่ในภูมิภาคอาเซียน นอกนั้นมาจากจีนและเกาหลีใต้ ด้าน Pich Sopondara ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเที่ยวบิน ของสนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะมีเที่ยวบินตรงจากประเทศอินเดียเชื่อมมายังกัมพูชาเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับผู้โดยสารกลุ่มสำคัญส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยและเวียดนาม ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินโดยสารเข้าและออกเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เที่ยวบินต่อวัน โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 5,000 คนต่อวัน ซึ่งจำนวนนี้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501466414/siem-reap-angkor-international-airport-received-direct-flights-from-eight-countries-in-2024/

‘ข้าวเวียดนาม’ เผชิญกับการแข่งขันในตลาดฟิลิปปินส์

สำนักงานการค้าเวียดนาม ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับแจ้งมาว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวเวียดนาม โดยจะกระจายแหล่งอุปทานหรือผลผลิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

นาย Phung Van Thanh ที่ปรึกษาสำนักงานการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ กล่าวว่าธุรกิจข้าวของเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ ได้สร้างชื่อเสียงและความไว้วางใจให้กับคู่ค้ามาเป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะที่ข้าวเวียดนามตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ ตลอดจนมีราคาไม่แพง ด้วยเหตุนี้จึงสามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติพบว่าฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าข้าวสูงถึง 3.5-3.8 ล้านตันในปีนี้ และฟิลิปปินส์ยังเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของเวียดนามมาหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1653095/vietnamese-rice-facing-competition-in-the-philippines.html

‘PMI’ ภาคการผลิตเวียดนามลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

เอสแอนด์พี โกลบอล เวียดนาม (S&P Global Vietnam) รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม ลดลงสู่ระดับ 49.9 ในเดือน มี.ค. จากระดับ 50.4 ในเดือน ก.พ. แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การผลิตของธุรกิจมีแนวโน้มที่จะคงที่หรือไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากในช่วง 2 เดือนก่อนหน้าที่มีการเติบโตดีขึ้น ท่ามกลางอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ลดลง

ทั้งนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าการเติบโตของภาคการผลิตเวียดนามได้หยุดชะงักในเดือน มี.ค. เนื่องมาจากความต้องการหรืออุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดคำสั่งซื้อและการผลิตใหม่เกิดหยุดชะงัก รวมถึงอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ สะท้อนให้เห็นจากดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อของต้นทุนวัตถุดิบ และราคาสินค้าที่ลดลง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1653138/production-dips-for-first-time-in-three-months-pmi.html

อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว มีนาคม 67 อยู่ที่ 24.98% ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

 

Update: April 3, 2024 (เผยแพร่ต้นฉบับ: April 2, 2024)

ที่มา: Laotian Times.

สำนักงานสถิติของ สปป.ลาว เผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 24.98% ปรับลดลงจาก 25.35% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยราคาสินค้าหมวดเสื้อผ้าและรองเท้ามีราคาพุ่งสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 36.23% โรงแรมและภัตตาคาร 35.90% หมวดการแพทย์และยา 34.61% แอลกอฮอล์และยาสูบ 26.42% เครื่องใช้ในครัวเรือน 26.39% อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 23.61% การสื่อสารและการขนส่ง 23.58% ปัจจัยหลักเกิดจากสกุลเงินกีบของ สปป.ลาว อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศที่สำคัญ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทของไทย และเงินหยวนของจีน ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการนำเข้าสินค้ามาในประเทศลาว โดยเงินกีบอ่อนค่าลง 18.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 21.5% เมื่อเทียบกับเงินบาท นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการราคาสินค้าและบริการภายในประเทศทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงมีความรุนแรง ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2567 เงินเฟ้อของ สปป.ลาว อยู่ที่ 24.93%

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/02/inflation-rate-in-laos-dips-slightly-to-24-98-percent-in-march/

รัฐบาลให้ความสำคัญกับเสถียรภาพชายแดนและแผ่นดินใหญ่ผ่านการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์

พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย และนายเติ้ง ซีจุน ผู้แทนพิเศษด้านกิจการเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หารือเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ เพื่อประกันสันติภาพและเสถียรภาพทั่วทั้งประเทศ รวมถึงบริเวณชายแดน อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความช่วยเหลือของจีนในกระบวนการสันติภาพ ความร่วมมือในการกำจัดยาเสพติด ความร่วมมือทวิภาคีในการขจัดการพนันออนไลน์และการหลอกลวงออนไลน์ กระบวนการการค้าชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ และความก้าวหน้าทางการเมืองในเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/govt-prioritizes-border-and-mainland-stability-through-peace-talks-with-eaos/