รัฐบาล สปป.ลาว จัดอีเว้นท์ลดราคาสินค้าในนครเวียงจันทน์

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ร่วมมือกับบริษัทห้างร้านท้องถิ่นจัดงานขายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง โดยทางการได้ลดราคาสินค้าประเภทอาหารยอดนิยม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว น้ำมันพืช น้ำมันหอย น้ำปลา เครื่องปรุงรสแม็กกี้ น้ำยาล้างจาน และผงชูรส ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายสินค้ากลุ่มดังกล่าวกระจายไปยังร้านค้า 17 สาขา ในเขตศรีสัตตนาค จันทะบูลี ไชยเชษฐา นาทรายทอง และปากน้ำ นับตั้งแต่วันที่ 26-30 กันยายน โดยรัฐบาลยังได้จำกัดจำนวนสินค้าที่บุคคลสามารถซื้อได้ในแต่ละหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ เพื่อไม่ให้ร้านค้าต่างๆ ขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งพิจารณาขยายโครงการไปยังจังหวัดอื่นๆ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/27/lao-government-lowers-prices-for-essential-goods-in-vientiane-capital/

เวียดนามขึ้นแท่นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของกัมพูชา

จีน เวียดนาม และไทย ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามูลค่ากว่า 11.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ 70.8 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวมกว่า 16.3 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ประเทศกัมพูชา โดยจีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าลำดับแรกของกัมพูชา ด้วยมูลค่าการส่งออก 7.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.9 ของการนำเข้าทั้งหมด ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี สำหรับการส่งออกของเวียดนามมายังกัมพูชาลดลงร้อยละ 11.7 เหลือมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 15 ของการนำเข้าทั้งหมด ในขณะที่การส่งออกของไทยมายังกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ที่สัดส่วนร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการนำเข้ากัมพูชา สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี GDCE ได้รายงานเสริมว่ากัมพูชาได้ทำการส่งออกสินค้ามูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ให้กับจีน เวียดนาม และไทย คิดเป็นร้อยละ 21.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 15.7 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367609/vietnam-second-biggest-exporter-of-cambodia/

กัมพูชาถือเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ซึ่งได้รับการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน

การประชุมใหญ่เชิงวิชาการอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า (CEPSI) ครั้งที่ 24 มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยเหมินทางตอนใต้ของประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม นำโดยสภาการไฟฟ้าของจีน (CEC) ซึ่งโครงการลงทุนดังกล่าวครอบคลุม 10 ประเทศในภูมิภาค รวมถึงปากีสถาน กัมพูชา อุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 1.95 พันล้านดอลลาร์ ด้าน Xu Guangbin ผู้อำนวยการของ CEPSI กล่าวเสริมว่าในระหว่างการประชุมจะมีเซสชันและกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงานระหว่างกัน รวมถึงมองหาโอกาสในการร่วมมือและการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคพลังงาน ภายใต้ธีม “Low Carbon Energy Powering a Green Future” โดยเชื่อว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนของโลกเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวในระยะต่อไป สำหรับบริษัทพลังงานของจีนกำลังมุ่งเน้นไปที่โครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลก โดยจนถึงขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ ได้ลงทุนและสร้างโครงการพลังงานแล้ว 16 โครงการ ภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 66.7 ของการลงทุนภาคพลังงานในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501367595/cambodia-is-among-10-countries-where-1-95-billion-of-the-total-foreign-investment-by-major-chinese-power-companies-went/

“ศุภชัย” ฟันธง ปี 67 ส่งออกโตเด่น อานิสงค์เศรษฐกิจจีนพ้นปากเหว

ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการส่งออกไทยว่า ปี 2567 เป็นปีที่การส่งออกจะดีกว่าปี 2566 ขณะที่การส่งออกปีนี้ต้องยอมรับว่าไม่น่าจะดีขึ้น สาเหตุหลักที่การส่งออกไทยปี 2567 จะดีขึ้นมาจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 ถือว่าแย่มากเพราะการส่งออกของจีนไม่ดี เช่นเดียวกันการนำเข้าที่จีนไม่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในปี 2567 แม้ว่าปีนี้ถือว่าไม่น่าดีขึ้นได้แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ไทยควรทำการค้าขายในอาเซียนด้วยกันเองให้มากขึ้นและลดการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ นอกจากนี้ ประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันในรายละเอียดให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง และเมื่อได้เอฟทีเอแล้วก็ควรบริหารจัดการโดยให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จ่ายคืนส่วนต่างในรูปแบบภาษี หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อนำไปดูแลกลุ่มที่เสียประโยชน์ สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ตัวเลขการส่งออกของจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6 จากผลกระทบการค้ากับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปรับตัวลงหนัก และยังฉุดให้ตัวเลขนำเข้าของจีนลดลงถึงร้อยละ 7.6 นำโดยสินค้าในกลุ่มจอแอลซีดีและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ดิ่งลงหนักถึงร้อยละ 27 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวลง โดยอาเซียนหันมานำเข้าสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรจากจีนมากขึ้น แทนที่สินค้าจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1091052

‘เวียดนาม’ เผย 8 เดือน นำเข้าน้ำมัน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมทุกประเภทในช่วง 8 เดือนของปี 2566 อยู่ที่ 7.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้น 22.2% แต่มูลค่าลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซล อยู่ที่ราว 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18.5% หรือคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 55% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-spent-nearly-1-billion-on-gasoline-imports-in-8-months-2194858.html

‘ล็องอาน’ กลับมาฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง หลังวิกฤตโควิด-19

นาย Nguyen Van Ut ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดฯ กล่าวว่าจังหวัดล็องอาน (Long An) ที่ตั้งอยู่ในดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กลับมาฟื้นตัวได้ดีหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ของจังหวัด ขยายตัว 0.95% และ 8.32% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดฟื้นตัว ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 4% ต่อปี และกิจกรรมเชิงพาณิชย์เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับจังหวัด (PCI) ประจำปี 2565 ของจังหวัดล็องอาน ขยับดีขึ้น 6 อันดับเมื่อเทียบกับปีก่อน ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 10 จาก 63 จังหวัดทั่วประเทศ และในปัจจุบัน จังหวัดฯ มีธุรกิจทั้งสิ้น 16,100 แห่ง เพิ่มขึ้น 29.3% เมื่อเทียบกับปี 2563

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/long-an-makes-strong-recovery-following-covid19-pandemic/268639.vnp

‘เมียนมา’ เผยราคาข้าวโพดดิ่งลงฮวบ

ตามข้อมูลของหอการค้าและอุตสาหกรรมของเขตย่างกุ้ง เปิดเผยว่าราคาข้าวโพด (FOB) ในปัจจุบัน อยู่ที่ 270-290 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และราคาข้าวโพดในประเทศ อยู่ที่ 1,130-1,150 จ๊าตต่อ viss ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังตลาดจีนและไทยผ่านเส้นทางชายแดน และยังส่งออกไปยังจีน อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ผ่านทางทะเล นอกจากนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดแบบฟอร์มดี (Form D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค. อย่างไรก็ดี ประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีสูงสุด 73% เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-prices-in-steep-decline/#article-title

สปป.ลาว พร้อมส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หวังดันพลังงานสะอาดในประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของ สปป.ลาว ได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (EV) เพื่อลดงบประมาณในการนำเข้าปิโตรเลียมและเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงนโยบายที่พร้อมจะส่งเสริมการพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตลอดซัพพลายเชน และส่งเสริมการให้บริการหลังการซื้อ ไปจนถึงการก่อสร้างสถานีชาร์จทั่วประเทศ พร้อมทั้งดึงดูดนักลงทุนให้สร้างโรงงานผลิตใน สปป.ลาว ด้าน Buavanh Vilavong อธิบดีกรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม กล่าวว่า การใช้รถยนต์ไฟฟ้าใน สปป.ลาว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องผลักดัน เพื่อหวังลดงบประมาณในการนำเข้าปิโตรเลียม โดยเสริมว่ามูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมใน สปป.ลาว ค่อนข้างสูง ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ ขณะเดียวกัน สปป.ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูง ดังนั้น การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศจึงเป็นทิศทางที่ควรจะต้องผลักดัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรภายในและรักษาสมดุลทางการค้า โดย สปป.ลาว วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าประมาณร้อยละ 1 ของยานพาหนะทั้งหมดภายในปี 2025 และจะติดตั้งสถานีชาร์จอย่างน้อย 50 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ที่มา : https://nepalnews.com/s/global/laos-promotes-evs-for-clean-energy

ญี่ปุ่นพร้อมนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกัมพูชาเพิ่มขึ้น

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา Ueno Atsushi เรียกร้องให้ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกัมพูชาปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานการส่งออกมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้าไปยังตลาดญี่ปุ่น โดยปัจจุบันการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาไปยังตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตญี่ปุ่นพร้อมที่จะทำการนำเข้ามากขึ้นหากสินค้ามีมาตรฐานเป็นไปตามกำหนด ซึ่งกัมพูชาและญี่ปุ่นเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ได้มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2022 โดยญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าหลักของกัมพูชา ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นจากกัมพูชาคิดเป็นมูลค่า 515 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366903/japan-ready-to-buy-more-cambodian-agri-products/

ภาคเอกชนพร้อมหนุนการเติบโตด้านการท่องเที่ยวกัมพูชา

ภาคเอกชนกัมพูชาพร้อมส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ด้วยการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมที่มีการจัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับ Hor Sarun รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และChhay Sivlin ประธานสมาคมการท่องเที่ยวกัมพูชา (CATA) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแทนภาคเอกชนมากกว่า 100 คน ซึ่งกระทรวงได้จัดการประชุมเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาให้มีความทัดเทียมในระดับนานาชาติ ร่วมกับการพิจารณาถึงความท้าทายที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเผชิญ ผ่านแผนการยกระดับภาคบริการให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และพัฒนาขั้นตอนในการข้ามพรมแดนมายังกัมพูชา เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินเดียและจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501366904/private-sector-crucial-to-tourism-growth/