รัฐบาลไทยหนุนธุรกิจสินค้าฮาลาลในมาเลเซีย มุ่งเป้า 1.02 ล้านล้านบาทในปี 68

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย-มาเลเซียที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการค้าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 รวมถึงจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566นี้

ที่มา : https://www.posttoday.com/politics/domestic/697479

ครึ่งแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัว 6.5%

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยมีมูลค่ารวมมากกว่า 527 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา สำหรับไทยมีมูลค่าการค้ากับกัมพูชามากเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม ที่มูลค่าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วงปลายปี 2022 นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวไว้ในการประชุมกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาว่า กัมพูชาและไทยวางแผนที่จะมีมูลค่าการค้ารวมกันถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025 ด้านสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ เสื้อผ้า สินค้าเกษตร อัญมณีและวัตถุดิบ ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และการก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328681/cambodias-exports-to-thailand-up-6-5-in-h1/ 

EXIM BANK จับมือ SME D Bank เติมเต็มบริการ ติดปีก SMEs ไทยสู่ตลาดโลก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ SME D EXIM ARI CONNEXT “เติมทุน เสริมทักษะ ยกระดับ SMEs ไทยสู่เวทีโลก” ณ SME D Bank สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อในการเติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุนอย่างครบวงจรและตอบทุกโจทย์ (Total Solutions) ของผู้ประกอบการ SMEs ไทยตลอด Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เชื่อมโยงไปสู่ Supply Chain การค้าโลก ภายใต้ความร่วมมือ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับอบรมบ่มเพาะโดย EXIM BANK ร่วมกับ SME D Bank และพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศจากทั้งสองธนาคาร เพื่อให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจการค้าภายในประเทศและส่งออกได้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ต้องการเงินทุนเกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการสนับสนุนโดย EXIM BANK เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2023/07/21/394511/

“พาณิชย์” จับมือมาเลเซีย ส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ เร่งฟื้นฟูการค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบหารือกับดาตุ๊ก อัซมัน บิน โมฮัมหมัด ยูโซฟ ปลัดกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย และคณะ โดยมี ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายกำแหง กล้าสุคนธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าร่วม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน เพื่อให้การค้าทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 102,000 ล้านบาท ในปี 2568 ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์ มาเลเซียแจ้งว่ามีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย ซึ่งถือเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีความร่วมมือระหว่างกันมาก่อน โดยจะเริ่มจากการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย เพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะเร่งฟื้นการค้าชายแดนและเศรษฐกิจท้องถิ่นแถบพรมแดน ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน และการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างกันบรรลุตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยจะหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ที่มา : https://ibusiness.co/detail/9660000065727

ส่งออก “ปลากระป๋องและแปรรูป” ไปตลาด FTA 5 เดือนโต 15.7% ทูน่ากระป๋องแชมป์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ที่มา : https://www.commercenewsagency.com/news/6183

‘จีน’ เลือก ‘ไทย’ ตั้งโรงงานแบตรถยนต์ไฟฟ้า แห่งแรกในอาเซียน

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เอสวีโอแอลที (SVOLT) ผู้ผลิตแบตเตอรีของจีน จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานแบตเตอรีโมดูลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) ด้วยเป้าหมายเข้าถึงตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของภูมิภาค

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เอสวีโอแอลทีเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสอดคล้องกับกระแสบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีน เช่น จีดับเบิลยูเอ็ม (GWM) เอสเอไอซี (SAIC) และบีวายดี (BYD) ที่เข้าตั้งโรงงานผลิตในท้องถิ่นในไทย ขณะตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง หยางหงซิน ประธานและซีอีโอของเอสวีโอแอลที เน้นย้ำบทบาทนำร่องของไทยในฐานะศูนย์กลางระดับภูมิภาคด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์ ทำให้เอสวีโอแอลทีมีโอกาสยอดเยี่ยมในการขยับขยายในต่างประเทศและการเติบโตทางธุรกิจ

ที่มา : https://ch3plus.com/news/economy/ch3onlinenews/356955

พาณิชย์หนุนโมเดล “คาเฟ่อเมซอน” ปักหมุด สปป.ลาว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2566 และได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. และ Cafe Amazon สาขาเมืองหลวงพระบาง เพื่อหารือเรื่องโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนใน สปป.ลาว พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมฟาร์มควายนมแห่งแรกของหลวงพระบาง เพิ่มทางเลือกทางโภชนาการสำหรับผู้แพ้นมวัว โดยพบว่า สปป.ลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนร้านคาเฟ่ แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 7.5 ล้านคน แต่เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว ในช่วง 5 เดือนแรก 111,816.37 ล้านบาท ไทยส่งออก 67,564.83 ล้านบาท นำเข้า 44,251.54 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 23,313.29 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าการค้า 112,940.02 ล้านบาท ไทยส่งออก 64,289.16 ล้านบาท นำเข้า 48,650.86 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 15,638.3 ล้านบาท

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1343466

ความหวังผู้ส่งออกไทย เร่งตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ดันตลาดครึ่งปีหลัง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2566 มีมูลค่ารวม 24,340 ล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 4.6 แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2566 ที่มูลค่า 20,249 ล้านดอลลาร์ ติดลบร้อยละ 4.5 ต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน ซึ่งกล่าวเสริมว่าการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและยังดีกว่าบางกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงมองว่าเดือน มิ.ย. นี้จะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น และหากดูในแง่ของดัชนีผู้ซื้อ เรื่องการฟื้นตัวของจีนแม้ว่าจะฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังสามารถบังคับคองไปได้ ดีกว่าโซนภูมิภาคยุโรป และอีกตลาดที่มีกำลังซื้อที่สำคัญ คือ อินเดีย สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 มิ.ย.2566 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ หากมองปีต่อปีพบว่าอ่อนค่า 1.7% และหากเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 อ่อนค่าที่ 3.19% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค แต่ถือเป็นทิศทางที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในไทย และอีกปัจจัยคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน จึงส่งผลให้การไหลออกของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมากระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมุ่งส่งสินค้าที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐที่ไทยส่งออกเกือบร้อยละ 20 รวมถึงเร่งสิ่งสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงได้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ที่ต้องเร่งการค้าชายแดน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1076884

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัวร้อยละ 10 แตะ 480 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องที่มูลค่ารวมกว่า 480 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันการส่งออกของไทยมายังกัมพูชากลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 14 ที่มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ด้านนายจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสภาธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) กล่าวเสริมว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาในตลาดไทย ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการค้าทวิภาคีกัมพูชา-ไทย มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 โดยหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายการส่งออกระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315920/kingdom-exports-to-thailand-surge-10-to-480-million/

นายกฯ คาดส่งออกข้าวปี 66 ทะลุ 8 ล้านตัน ดันไทยกลับเป็นที่ 2 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้าการส่งออกข้าวของไทย และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยตั้งแต่ปี 2563-2567 ผลักดันไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยนายกเชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 จะเป็นไปตามการคาดการณ์ ที่ยอดมากกว่า 8 ล้านตัน และไทยกลับมาเป็นอันดับที่ 2 ประเทศส่งออกข้าวของโลก ซึ่งยอดส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีปริมาณสูงถึง 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.41 ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผลักดันให้เกิดการกระชับสัมพันธ์คู่ค้าสำคัญ และการหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าวมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ประกอบกับ ที่ผ่านมาไทยเพิ่มโอกาสทางการค้าด้วยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และเพิ่มโอกาสด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน China–ASEAN Expo (จีน) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) และงาน ANUGA (เยอรมนี) เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/740713