คาด “Belt and Road Initiative” ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ สปป.ลาว

โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ สปป.ลาว กล่าวโดยรองประธานรัฐสภา นาง Sounthone Xayyachack และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for Land-Sea Interconnected Development ซึ่งได้จัดขึ้น ณ เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการ Belt and Road Initiative มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ สปป.ลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเพื่อปรับปรุงการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการให้บริการด้านการขนส่งทางรางบนเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ทั้งในแง่ของการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Belt96.php

รัฐบาลกัมพูชา เห็นชอบร่างกฎหมายว่าด้วยแหล่งกำเนินสินค้า

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติร่างกฎหมายว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้า นอกจากนี้ยังจะช่วยป้องกันการปลอมแปลงของสินค้าที่มีการผลิตในกัมพูชา ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติในการประชุมระหว่างคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ที่มีนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เป็นประธาน ซึ่งร่างกฎหมายนี้มี 9 บท และมี 35 มาตรา ในการกำหนดหลักการและกฎเกณฑ์สำหรับการกำหนดแหล่งกำเนิดของสินค้าที่ส่งออกและนำเข้าระหว่างกัมพูชา

นอกจากนี้ยังช่วยให้กัมพูชาสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กรอบ WTO และส่งเสริม อำนวยความสะดวกทางการค้ากับภาคเอกชน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้ากัมพูชาที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้าที่ให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับกัมพูชาและภายใต้การค้าเสรีต่างๆ รวมถึงความตกลงที่กัมพูชาเป็นสมาชิก ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองรวม 8.6 ล้านตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ 74 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501294323/government-approves-draft-law-on-rules-of-origin/

4 เดือนแรกของปี กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ารวม 588 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 65 โครงการ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 588 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีนเป็นสำคัญ คิดเป็นกว่าร้อยละ 73.5 ของ FDI ทั้งหมดที่ได้เข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ด้าน Chea Vuthy รองเลขาธิการ CDC กล่าวเสริมว่า FDI มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา รวมถึงก่อให้เกิดการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และเป็นการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยการลงทุนของจีนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ไปจนถึงกัมพูชายังมีข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีอีกหลายฉบับ อาทิเช่น FTA กัมพูชา-จีน, FTA กัมพูชา-เกาหลี และ RCEP

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501294135/588m-investment-projects-approved-in-four-months/

พาณิชย์ เดินหน้าทำเอฟทีเอใหม่สร้างโอกาสทางการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ขณะนี้ไทยกำลังเดินหน้าเร่งเจรจาเอฟทีเอทั้งที่ทำใหม่และที่ยังค้างอยู่ ประกอบ  1.เอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หรือ การเจรจาจัดทำ CEPA โดยจะมีการนัดประชุมครั้งที่ 1  ระหว่างวันที่ 16 – 18 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน 2.เอฟทีไทยกับสหภาพยุโรปหรืออียู โดยจะมีการประชุมรอบแรกในเดือน ก.ย. 2566 คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี จบได้ในปี 2568 3.เอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) 4.เอฟทีเอไทย -ศรีลังกา  ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ  และได้นัดเจรจารอบที่ 5 ในเดือน มิ.ย. นี้ ตั้งเป้าสรุปผลต้นปี 67 และ 5.เอฟทีเออาเซียน – แคนาดา โดยเริ่มเจรจารอบแรกเมื่อปี 2565  ล่าสุดเจรจารอบ 3 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้เตรียมจัดประชุมอีก 2 รอบ ตั้งเป้าสรุปผลเจรจา ปี 2567

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1069312

“อิออน” รุกเดินหน้าพัฒนาศูนย์การค้ามากกว่า 20 แห่งในเวียดนาม

AEON บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ในญี่ปุ่น เตรียมเปิดศูนย์การค้าเพิ่มอีกในเวียดนาม และนำเข้าสินค้าเพิ่มจากเวียดนาม เพื่อจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากงานเลี้ยงรับรองของบริษัทอิออน ทางนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ชื่นชมบริษัทในการมีส่วนร่วมเชิงบวกและการพัฒนาภาคการค้าปลีกและภาคการส่งออกในเวียดนาม ตลอดจนเสนอแนะให้บริษัทเลือกเวียดนามเป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับโลก และเดินหน้าลงทุนศูนย์การค้าและเอาท์เล็ท มอลล์ในบริเวณชานเมือง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้บริษัทอิออนนำเข้าสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น เพื่อให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะสินค้าที่เวียดนามมีความแข็งแกร่ง เช่น เครื่องแต่งกาย รองเท้า ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและผลผลิตทางการเกษตร

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/companies/prime-minister-receives-japanese-corporate-executives-4607658.html

“เวียดนาม-แคนาดา” ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคี 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามและแคนาดาได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างการประชุมของนาย ฝ่าม มีง จีง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจากการประชุมสุดยอด G7 ที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ นาย จัสติน ทรูโด กล่าวว่าแคนาดาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเวียดนาม เช่นเดียวกับบทบาทและตำแหน่งของเวียดนามในเวทีโลก แสดงให้เห็นมาจากเวียดนามเป็นหนึ่งในสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญให้มาร่วมประชุม G7 นอกจากนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้าทางการค้าชั้นนำของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียนตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่แคนาดาเป็นหนึ่งในคู่ค้านำเข้า 10 อันดับแรกของเวียดนาม

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/economy/vietnam-canada-to-increase-bilateral-trade-turnover-to-10b-4607655.html

งานแสดงสินค้าชายแดนเมียนมา-จีน จัดขึ้นที่เมืองเนปิดอว์

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ระบุว่าการจัดงานแสดงสินค้าชายแดนจีน-เมียนมา จัดขึ้นที่เมืองเนปิดอว์ โดยงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศและยกระดับความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้าน งานแสดงสินค้าจะมีร้านค้ามากกว่า 100 ร้าน รวมถึงมีร้านค้าจากประเทศจีน 40 ร้าน และอีกประมาณ 70 ร้านมาจากเมียนมา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจีนได้นำเสนอสินค้าที่หลากหลาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กาแฟและชา แมคคาเดเมีย อาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัวและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ในขณะที่เมียนมานำเสนอสินค้า ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME)

ที่มา : https://english.news.cn/20230520/db4afc67d0894fa795d0726bc53bac2a/c.html

การขนส่งผ่านทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ขยายตัวต่อเนื่อง

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่าการขนส่งผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน มีปริมาณพุ่งไปแตะเกือบ 6.7 ล้านตัน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 156 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดำเนินการโดย China Railway Kunming Group Co., Ltd. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท อุปกรณ์เครื่องจักรกล, เครื่องใช้ในครัวเรือน, ผักและดอกไม้ เป็นสินค้าหลักที่ทางรถไฟขนส่งจากจีนไปยัง สปป.ลาว ขณะที่สินค้าที่ทำการขนส่งจาก สปป.ลาว ไปยังจีน ได้แก่ แร่โลหะและมันสำปะหลัง เป็นสินค้าหลัก ในจำนวนสินค้าที่ขนส่งนั้น ปริมาณการขนส่งข้ามพรมแดนอยู่ที่ 4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.77 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 2.54 พันล้านดอลลาร์)

โดยทางรถไฟสายดังกล่าวเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative) ซึ่งถูกนำมาใช้มากขึ้นสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ในแง่ของการให้บริการขนส่งผู้โดยสารในช่วง 500 วันแรก มีผู้เข้าใช้บริการรวมอยู่ที่ 14.43 ล้านคน โดยทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน มีความยาวอยู่ที่ 1,035 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิงของจีน กับกรุงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Laoschina95.php

ธนาคารโลก แนะกัมพูชากระจายความเสี่ยงด้านผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชากำลังฟื้นตัว แนะกัมพูชาควรกระจายความเสี่ยงไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 ในปี 2023 นำโดยการส่งออกและภาคการผลิตภายในประเทศ แต่ถึงอย่างไรการชะลอตัวที่เพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายนอก อาจทำให้ภาคการผลิตที่เน้นการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคการเงินทั่วโลกตึงตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะกลางธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ซึ่งได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการที่แข็งแกร่ง และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือและถนน เพื่อเอื้อต่อการเชื่อมต่อการขนส่งในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ และการส่งเสริมการส่งออกที่หลากหลายในการเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501293706/world-bank-says-cambodia-needs-to-diversify-its-tourism-products-and-improve-its-trade-competitiveness/

EU หนุนกัมพูชา ส่งเสริมด้านการค้าระหว่างประเทศ

สหภาพยุโรป (EU) พร้อมให้การสนับสนุนกัมพูชาทางด้านเทคนิค ในการริเริ่มโครงการ “ARISE Plus Cambodia” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของกัมพูชาในการปฏิบัติและดำเนินการตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค โดยองค์ประกอบหลักสามประการของโครงการ ARISE Plus Cambodia ได้แก่ นโยบายการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปและรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา Sok Sopheak โดยโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบูรณาการการค้าของกัมพูชา (CITS 2019-2023) ซึ่งจะเน้นการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศให้เข้ากับห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501293704/eu-backed-project-to-boost-cambodias-trade/