การขนส่งทางรถไฟ ดันส่งออกกล้วย สปป.ลาว ไปยังจีน

คาดเกษตรกรใช้เส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน ขนส่งกล้วยจาก สปป.ลาวไปยังจีน ซึ่งจะใช้เวลาอันสั้นเพื่อให้มั่นใจว่าผลไม้จะถึงปลายทางก่อนที่ผลผลิตจะสุกงอม โดยในอดีตการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรประสบปัญหาเนื่องจากใช้เวลานาน จากการขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังประเทศจีน ซึ่งสินค้าจำนวนมากเน่าเสียก่อนส่งมอบ โดยการเข้ามาของเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรและป่าไม้กำลังเร่งสนับสนุนการเพาะปลูกผลิตผลทางการเกษตรให้มากขึ้นเพื่อลดความต้องการนำเข้าผักและผลไม้จากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการเพิ่มปริมาณการส่งออกให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง โดยเกษตรกรชาวลาวสามารถขายพืชผลทางการเกษตรให้กับจีนได้มากขึ้น นับตั้งแต่มีการลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองในปี 2012

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Railway238.php

ทางการกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีเกินเป้าหมายกว่า 114%

กรมสรรพากร กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง รายงานการจัดเก็บภาษีมูลค่าแตะ 3.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเกินกว่าเป้ากรอบงบประมาณที่ได้กำหนดไว้กว่าร้อยละ 114 โดยคาดว่าในปี 2022 การจัดเก็บภาษีจะสูงกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับแผนการจัดเก็บประจำปี 2022 ซึ่งปริมาณการจัดเก็บที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีและการบริหาร ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ได้ส่งเสริมให้การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198406/taxation-revenue-collection-exceeds-114-of-budget-plan/

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.8% ปีนี้

ธนาคารโลกรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาที่กำลังกลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาไว้ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2022 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง รวมถึงภาคการส่งออกก็เริ่มกลับมาขยายตัว ซึ่งได้ระบุไว้ในรายงานเศรษฐกิจกัมพูชาของธนาคารโลกประจำเดือนธันวาคม โดยอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเดินทาง และรองเท้าของกัมพูชาสามารถฟื้นตัวได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Living with COVID-19” ได้กระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะ 1.2 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2022 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2023 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 จากภาคการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น สนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501198797/world-bank-says-cambodias-economy-on-recovery-path-forecast-4-8-percent-gdp-growth-for-this-year/

บ.เสื้อผ้าญี่ปุ่นหนีจีนซบอาเซียนเหตุ ‘ค่าแรงพุ่ง-ซีโร่ โควิด’

บรรดาซัพพลายเออร์ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นให้แบรนด์เสื้อผ้าดังของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแทน โดยเฉพาะในเวียดนามและกัมพูชา เนื่องจากต้นทุนค่าแรงงานในจีนที่แพงขึ้นและนโยบายกำจัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของทางการปักกิ่งให้เป็นศูนย์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของบรรดาผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าและต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นมาก ขณะที่ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยต่อลมหายใจให้แก่บริษัทเหล่านี้ได้มาก โดยข้อมูลขององค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ระบุเสริมว่า ค่าจ้างแรงงานรายเดือนโดยเฉลี่ยของคนงานในโรงงานในกวางโจวของจีนอยู่ที่ประมาณ 670 ดอลลาร์ สูงกว่าค่าจ้างรายเดือนคนงานในโฮจิมินห์ ซิตี้ของเวียดนามซึ่งอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์และในกรุงธาดา บังกลาเทศซึ่งอยู่ที่ 120 ดอลลาร์

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1042066

‘เวียดนาม’ นำเข้าเนื้อสุกร 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 10 เดือนแรก

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าเวียดนามใช้เงินกว่า 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเข้าเนื้อสุกรประมาณ 89,000 ตัน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเนื้อสุกรของเวียดนาม หดตัว 34.4% และ 39.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ตามลำดับ ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว เวียดนามมีการนำเข้าเนื้อสุกรประมาณ 12,000 คัน หดตัว 5.6%YoY คิดเป็นมูลค่า 26.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 22.4%YoY นอกจากนี้ หน่วยงานการค้าต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าปริมาณการส่งออกเนื้อสุกร มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผลผลิตเนื้อสุกรทั้งหมดของประเทศ เนื่องมาจากข้อจำกัดการแปรรูป การควบคุมและป้องกันโรคในสุกร

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-spends-nearly-190-million-usd-on-importing-pork-in-ten-months/245120.vnp

‘เวียดนาม’ รองรับนักท่องเที่ยวในประเทศ 100 ล้านคน เกินที่ตั้งเป้าไว้

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รายงานว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 100 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับเป้าหมายทั้งปี (60 ล้านคน) สาเหตุจากผลกระทบจากโควิด-19 และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่น่าพอใจ จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศจึงสูงเกินกว่า 85 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-hosts-over-100-million-domestic-visitors-surpassing-all-forecasts-2088422.html

เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ยาผ่านทางทะเล ทะลุ 500 ตัน มูลค่ากว่า 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์ เผย ในช่วงวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2565 เมียนมานำเข้าผลิตภัณฑ์ยามากกว่า 500 ตัน คิดเป็นมูลค่า  10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ผ่านการค้าทางทะเล โดยนำเข้าจากออสเตรเลีย บังคลาเทศ บราซิล ไซปรัส เอกวาดอร์ เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ปากีสถาน สเปน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โปรตุเกส สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ส่วนการนำเข้าผ่านชายแดนจำนวน 120 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.371 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทย 100 ตันจาก และจากจีนอีก 15 ตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/over-500-tonnes-of-pharmaceuticals-worth-us10-5-mln-imported-by-sea/#article-title

เดือน เม.ย.-ต.ค 65 เมียนมาส่งออกข้าวทะลุ 1.4 ล้านตัน

สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมา (MRF) เผย 8 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน-เดือนตุลาคม 2565) ของปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกข้าวไปแล้วมากกว่ามากกว่า 1.4 ล้านตัน โดยมากจากบริษัทผู้ส่งออกมากกว่า 42 แห่ง ซึ่งเป็นการส่งออกทางทะเล 1.09 ล้านตัน และผ่านทางชายแดน 315,677 ตัน ซึ่งตลาดส่งออกข้าวและปลายข้าวที่สำคัญได้แก่ ประเทศในแอฟริกา และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอบ่าง จีน และไทย โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา โดยนำเข้าข้าว 224,000 ตัน และปลายข้าว 237,000 ตัน ซึ่งราคาข้าวคุณภาพดีจะอยู่ที่ 60,000-90,000 จัตต่อกระสอบ และข้าวคุณภาพต่ำจะอยู่ที่ 35,500-45,000 จัตต่อถุงกระสอบ โดยราคาข้าวของเมียนมาค่อนข้างต่ำกว่าอัตราของไทยและเวียดนาม ด้าน MRF ตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 2 ล้านตันในปีนี้ ที่ทั้งนี้ในช่วงงบประมาณย่อยที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2564 – เดือนมีนาคม 2565) เมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวมากกว่า 1.4 ล้านตัน ในขณะที่ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกข้าว 2 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-conveys-over-1-4-mln-tonnes-of-rice-to-external-markets-in-apr-oct/#article-title

รัฐบาล สปป.ลาว ลงนามข้อตกลงฟาร์มกังหันลมในเขตเซกองและอัตตะปือ

รัฐบาล สปป.ลาว ไฟเขียวให้ บริษัท Monsoon Wind Power Company Limited ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Monsoon ขนาด 600MW ในอำเภอดังจึง จังหวัดเซกอง และอำเภอซานไซ ในแขวงอัตตะปือ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,000 เฮกตาร์ใน 25 หมู่บ้าน ด้วยเงินลงทุนรวม 930 ล้านดอลลาร์ ในโครงการดังกล่าว และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025 โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และตัวแทนจาก Monsoon Wind Power Company Limited ซึ่งได้ร่วมวางแผนและกำหนดกรอบในการดำเนินระหว่างกัน โดยฟาร์มกังหันลมถือเป็นโครงการพลังงานลมแห่งแรกใน สปป.ลาว และคาดว่าจะใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งกระแสไฟทั้งหมดจะขายให้กับเวียดนาม ระยะเวลาสัมปทานดำเนินการ 25 ปี นับจากเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten237_govtinks.php

ข้อจำกัดด้านสุขอนามัย กระทบการส่งออกมะม่วงกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้

มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ที่เข้มงวดได้ก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับภาคการส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังตลาดเกาหลีใต้ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการส่งออกมะม่วงสดในปี 2015 ด้าน Hean Vanhan รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวว่า แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะไฟเขียวให้ส่งออกมะม่วงสดของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ แต่กัมพูชาก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเนื่องจากปัญหาทางเทคนิคในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่กัมพูชาเริ่มเจรจาเพื่อส่งออกมะม่วงไปยังเกาหลีใต้ แต่ยังไม่เป็นผลเนื่องจากขาดเครื่องมือหรือขั้นตอนตามข้อกำหนด เช่น กระบวนการทางความร้อนด้วยน้ำ (HWT) และกระบวนการทำความร้อนด้วยไอน้ำ (VHT) เพื่อเป็นการขจัดสิ่งเจือปนในผลไม้ ตามรายงานของกระทรวงเกษตร รายงานว่าการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 138,000 ตันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังเวียดนาม ไทย จีน และบางประเทศในสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501197614/hygiene-requirements-hit-fresh-mango-export-to-south-korea/