สปป.ลาว คาดสถานการณ์น้ำมันใกล้กลับมาสู่ภาวะปกติ

ผู้อยู่อาศัยภายในจังหวัดเวียงจันทน์ มีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการขาดแคลนเชื้อเพลิง โดยสถานีบริการน้ำมันหลายแห่งในเมืองถูกปิดตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากสต็อกน้ำขาดแคลน แต่อย่างไรก็ตามภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ความมั่นใจว่าเร็วๆ นี้ สถานการณ์ทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงภายในจังหวัดจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งเจรจากับสมาคมเชื้อเพลิงและก๊าซแห่ง สปป.ลาว เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่น เนื่องจากคาดว่าสต็อกในปัจจุบันจะหมดลงภายในสิ้นเดือนนี้ และหวังว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ช่วยป้องกันไม่ให้ค่าเงินกีบมีมูลค่าลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามลดต้นทุนการขนส่งโดยการลดค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้กับกองทุนบำรุงรักษาถนน เช่นเดียวกับการลดภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่จ่ายโดยธุรกิจ เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าโดยภาพรวมสูงขึ้นไปมากกว่านี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Association149.php

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 169,766 ตัน ไปยังจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี สร้างรายได้เข้าประเทศ 89 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ครองสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 48.3 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ซึ่งกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะส่งออกข้าวไปยังจีนมากขึ้น ผ่านความตกลงการค้าเสรี RCEP โดยนอกจากการส่งออกแล้ว ทางการกัมพูชายังคาดหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ รวมถึงในอุตสาหกรรมการผลิตข้าว เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศกลุ่มสมาชิก RCEP ซึ่งตามรายงานของ CRF กัมพูชาส่งออกข้าวสารทั้งหมดทั้งสิ้น 350,902 ตัน ไปยัง 56 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบเป็นรายปี สร้างรายได้รวม 218 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501125411/cambodia-earns-89-million-from-milled-rice-export-to-china-in-jan-july/

สินเชื่อเพื่อการบริโภคกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2

สินเชื่อเพื่อการผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานโดยเครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 คำขอสินเชื่อเพื่อการผู้บริโภคลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ยอดขอสมัครบัตรเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วร้อยละ 23 โดยในปัจจุบันจำนวนบัญชีสินเชื่อรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41 หรือคิดเป็นจำนวนบัญชีประมาณ 1.43 ล้านบัญชี ซึ่งมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.28 สู่มูลค่า 13.03 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 2 ของปี นอกจากนี้ ลูกค้าโดยส่วนใหญ่มีบัญชีสินเชื่อผูกกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 71.72 ส่วนที่เหลือร้อยละ 28.28 มีการเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501125021/consumer-credit-performance-strong-in-second-quarter/

ภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาของ “อาเซียน”

สํานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ “แอมโร” องค์กรวิชาการอิสระ ที่ตั้งขึ้นตามกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้เผยแพร่ข้อมูลออกมาเมื่อเดือน ก.ค. 2022 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของชาติสมาชิกอาเซียนในปีนี้น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 โดยประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่มอาเซียนได้แก่ สปป.ลาว เงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันในสิงคโปร์เมื่อเดือน พ.ค. สูงขึ้นเกือบ 1 ใน 5 ของระดับราคาในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยในไทยราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ส่วนในฟิลิปปินส์ ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นถึงร้อยละ 86 ลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นกับธัญพืชทั้งหลายที่ราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก เพราะภาวะขาดแคลนในระดับโลก บวกกับต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อในเอเชียไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว กระทั่งอาจถึงจุดสูงสุดและเริ่มต้นลดระดับลงแล้วด้วยซ้ำ

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-997137

“เวียดนาม” ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

ตามข้อมูลหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) เปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.5% ในแง่ของจำนวนโครงการ และ 48.2% ในแง่ของเงินทุน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มในทิศทางเชิงบวกต่อการไหลเข้าของเงินทุนไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเงินทุนที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ เนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองและการค้า แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในด้านเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของเวียดนาม

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11739302-vietnam-remains-a-safe-destination-for-foreign-investors.html

“เวียดนาม” เผยยอดธุรกิจเลิกกิจการพุ่ง หลังเผชิญการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 4

กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนก.ค. 65 มีจำนวน 94,600 ราย เพิ่มขึ้นราว 15,000 ราย จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ธุรกิจหยุดกิจการชั่วคราว มีจำนวน 56,000 ราย เพิ่มขึ้น 39.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่บริษัทอื่นๆ 28,200 รายรอการเลิกกิจการ ทั้งนี้ หากพิจารณาภาพรวมจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่แล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 80,000 ราย เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบเป็นรายปี สาเหตุสำคัญมาจากการต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ มองว่าการปิดกิจการ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการปิดกิจการบางส่วน เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของโควิดและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/more-businesses-exit-market-after-fourth-covid-wave/

เดือนเม.ย.-ก.ค.65 เมียนมาส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 733,000 ตัน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เผย 4 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (เม.ย.-ก.ค.2565) เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักจำนวน 733,098 ตัน โดยมีรายได้ประมาณ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังพบว่าการส่งออกในเขตชายแดนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วสาเหตุความล่าช้าเกิดจากความเข้มงวดของชายแดนจีน ปัจจุบันมีการส่งออกข้าวและข้าวหักมากกว่า 10,000 ถุง ผ่านชายแดนมูเซไปยังจีนทุกวัน ส่วนใหญ่เมียนมาส่งออกข้าวไปยัง 20 ประเทศ เช่น จีน (92,622 ตัน) และฟิลิปปินส์ (91,374 ตัน) เป็นต้น โดยราคาพันธุ์ข้าวขาวอยู่ที่ประมาณ 325-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และพบว่าราคาข้าวของเมียนมาค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่งอย่างไทยและเวียดนาม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมามีรายได้ถึง 700 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ จากการส่งออกข้าว 2 ล้านตันไปยังต่างประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-249-mln-worth-of-over-733000-mt-of-rice-in-past-4-months/

เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนเปิดตัวเมกะโปรเจกต์ใน สปป.ลาว

เขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอน (SEZ) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว กำลังเริ่มก่อสร้างโครงการพัฒนาที่สำคัญ 2 โครงการ หลังจากเสร็จสิ้นการสำรวจที่ดินที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เขตและรัฐบาล โดยหนึ่งในโครงการพัฒนาคือโรงแรมขนาดใหญ่ใกล้กับแม่น้ำโขงและน้ำตกคอนพะเพ็ง ซึ่งรูปแบบอาคารจะสร้างขึ้นในรูปแบบแคนคู่ คาดว่าจะมีความสูงประมาณ 238.98 เมตร และคาดว่าจะเป็นอาคารที่สูงที่สุดใน สปป.ลาว โดยอีกหนึ่งโครงการคือคลังสินค้า ตั้งอยู่ห่างจากชายแดน สปป.ลาว-กัมพูชา 3 กม. โดยระยะแรกของการพัฒนาครอบคลุมพื้นที่ 120,000 ตารางเมตร ซึ่งโครงการจะประกอบด้วยคลังสินค้า สำนักงานศุลกากร หอพักของบริษัท พื้นที่ห้องเย็น และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงภาคการขนส่งในพื้นที่และส่งเสริมการค้าในภูมิภาค ในขณะที่ต้นทุนการก่อสร้างของทั้งสองโครงการยังไม่เปิดเผย ซึ่งการพัฒนาเฟสแรกของเขตพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สีทันดอนมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2025 โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten148_Sithandone.php

กัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับเกาหลีใต้ หวังเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของกัมพูชา (MAFF) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Korea Agro-Fisheries and Food Trade Corporation และ Orient Group ของกัมพูชา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.ค.) เพื่อปูทางให้ภาคเอกชนของกัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังเกาหลีใต้ได้เพิ่มขึ้น ด้าน Sokhon รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชามีผลผลิตส่วนเกิน อาทิเช่น ข้าว มันสำปะหลัง กล้วย มะม่วง และยางพารา พร้อมที่จะส่งออก หลังจากมีสต็อกเพียงพอสำหรับป้อนตลาดภายในประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรยังได้ลงนาม MoU ไตรภาคีอีกฉบับหนึ่งกับมหาวิทยาลัยและ Orient Group เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรในกัมพูชา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เพิ่มผลผลิต ห่วงโซ่มูลค่าการผลิต การเพิ่มมูลค่า และความสามารถในการแข่งขันในการส่งออก ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และความปลอดภัย โดยปัจจุบันกัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ารวม 111.35 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลีใต้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากคิดเป็นปริมาณการค้ารวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 421.33 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501124224/kingdom-inks-mou-to-export-agro-products-to-s-korea/

คาดอัตราเงินเฟ้อกัมพูชาลดลงเหลือ 3.2% ในช่วงครึ่งหลังของปี

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) คาดอัตราเงินเฟ้อกัมพูชาจะลดลงเหลือร้อยละ 3.2 หลังจากเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ดี ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.2 สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลก โดยอุปทานน้ำมันทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดของสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ควบคู่ไปกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวทั่วโลก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3.2 เป็นผลมาจากการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลงกว่าร้อยละ 9.3 ในขณะที่ราคาอาหารคาดว่าจะลดลงเหลือร้อยละ 2.5 โดยได้รับการสนับสนุนจากการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงจีนก็เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501124651/inflation-in-kingdom-expected-to-drop-to-3-2-pct/