พณ.เปิดตัวเลขการค้า RCEP ครึ่งปีแรกพุ่ง 169 พันล้านเหรียญสหรัฐ โตกว่า 13% หนุนใช้ประโยชน์เพิ่มช่องทางนำเข้าสินค้าทุน

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถิติการค้าของไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับรายงานว่า นับจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.65) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.65 มีมูลค่า 204.13 ล้านเหรียญสหรัฐ (+2,296%) เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็นเดือนแรกของการมีผลบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีผู้ส่งออกขอใช้สิทธิ์ RCEP ไปยังญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ มากที่สุด และสินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป มันสำปะหลัง ทุเรียนสด และรถจักรยานยนต์ สำหรับการนำเข้าโดยใช้สิทธิ์ RCEP มีมูลค่า 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (+1,887%) และรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ์นำเข้าสูงสุด อาทิ ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคมีภัณฑ์ ไม้อัด เม็ดพลาสติก และส่วนประกอบเครื่องยนต์ (ลูกสูบ)

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/370441

สรท.หวังส่งออกปีนี้โต 10% อานิงสงส์จากเงินบาทอ่อน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า  สรท.คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ทั้งปีที่ 6-8%  โดยมีปัจจัยบวกมาจากค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (PMI) เดือนมิ.ย.ของประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น สหรัฐฯ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น ยังทรงตัวเหนือเส้น Baseline ระหว่าง 50-60 ขณะที่จีนเริ่มฟื้นกลับมาเหนือระดับ Baseline หลังจากก่อนหน้า PMI หดตัวต่ำกว่าที่คาดสะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1. ขอให้ธปท. คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เพื่อประคองให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจยังคงดำเนินการได้ และขอให้ธนาคารพาณิชย์ เร่งออกแคมเปญเพื่อช่วยเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการส่งออกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต  เร่งสร้างโอกาสทางการในตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ เช่น CLMV รวมถึงตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1018581

“เวียดนาม” เผยเดือน ก.ค. ยอดการค้าปลีกและบริการพุ่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดการค้าปลีกสินค้าและบริการในเดือนก.ค.65 อยู่ที่ 486 ล้านล้านดอง (20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัว 2.4% จากเดือนก่อน และ 42.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 ยอดการค้าปลีกสินค้ารวมทั้งสิ้น 3.2 พันล้านล้านดอง ขยายตัว 16% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

หากแบ่งยอดการค้าปลีกจะพบว่ารายได้จากการค้าปลีกสินค้าอยู่ที่ราว 2.55 พันล้านล้านดอง (13.7%YoY) ในขณะเดียวกัน รายได้จากที่พักและบริการจัดเลี้ยงอยู่ที่ 324.9 ล้านล้านดอง (37.5%YoY) เนื่องจากความต้องการในการเดินทางเพิ่มขึ้น หลังจากหายไป 2 ปีจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะรายได้ในเดือนก.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 134.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามมาด้วยรายได้จากการเดินทางและท่องเที่ยว 11.9 ล้านล้านดอง และรายได้จากบริการอื่นๆ 312.6 ล้านล้านดอง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/julys-retail-sale-of-goods-services-surges/234795.vnp

สื่อดังเยอรมัน ยกย่องเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวแข็งแกร่ง

หนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมัน “Junge Welt” เผยแพร่ข่าวที่เป็นประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเวียดนาม หลังจากใข้ระยะเวลากว่า 2 ปี ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทางฝั่งบทความของนาย Gerhard Feldbauer รายงานว่าในขณะที่เศรษฐกิจจากประเทศตะวันตก เริ่มแสดงสัญญาณของภาวะถดถอย แต่เศรษฐกิจเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงเร่งฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และยังได้อ้างข้อมูลที่รวบรวมมาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่าเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 85% มองทิศทางเศรษฐกิจอยู่ในเชิงบวกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรม 6,500 ราย และธุรกิจก่อสร้าง 6,800 รายที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการสำรวจครั้งนี้ ตลอดจนราว 20% จะจ้างแรงงานมากขึ้นในไตรมาส 3

นอกจากนี้ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ยังได้รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคภายในระยะเวลา 2 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/junge-welt-hails-strong-vietnamese-economic-recovery-post960574.vov

แรงงานย้ายถิ่นสปป.ลาว ส่งเงินกลับบ้านราวหลายล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ชาวลาวที่ทำงานในต่างประเทศได้ส่งเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังประเทศบ้านเกิด โดยเงินส่วนใหญ่จะส่งไปให้ครอบครัว การส่งเงินข้างต้นคาดว่าจะมีมูลค่าราว 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากนั้นจะใช้ไปกับการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ นับว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของสปป.ลาว กล่าวว่าการจ้างงานชาวลาวในต่างประเทศ มีข้อดีหลายประการทั้งคนงานเองและประเทศสปป.ลาว แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สปป.ลาวขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เดือนมิ.ย. ชาวลาวจำนวนมากกว่า 13,000 คน เดินทางไปเกาหลี ไทยและญี่ปุ่น เพื่อที่จะหางานทำหลังจากผ่านการทดสอบความสามารถในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten147_Lao_migrant_y22.php

เดือนส.ค.65 เรือบรรทุกสินค้า 55 ลำเข้าเทียบท่าในเมียนมา

การท่าเรือเมียนมา เผย รัฐบาลเมียนมาให้การสนับสนุนภาคการส่งออกและนำเข้ามากขึ้นและเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกสินค้าของประเทศ จะมีเรือสินค้าทั้งหมด 55 ลำเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือย่างกุ้งและท่าเรือติละวาซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของประเทศในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ โดยส่วนใหญ่เมียนมาจะส่งออกสินค้าทางทะเล เช่น ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าทางการเกษตร และสินค้าประมงเป็นหลัก ในขณะที่นำเข้าจะเป็น วัตถุดิบสิ่งทอ, วัสดุก่อสร้าง, เครื่องจักร และสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากประเทศมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในการค้าทางทะเลจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งสินค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตรและปศุสัตว์ และยังสามารถสร้างตำแหน่งงานให้กับคนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/55-cargo-ships-to-dock-in-myanmar-in-august/

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น 25% ในช่วงครึ่งปีแรก

กัมพูชานำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เกิดความยืดเยื้อ โดยกัมพูชานำเข้าน้ำมันมูลค่ารวม 1,910 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน ปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจาก เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย โดยความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตัน ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตัน ในปี 2020 ในขณะที่รัฐบาลได้ออกนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับภาคประชาชน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123526/kingdoms-oil-imports-surge-25-in-h1/

NBC คาดปีนี้ GDP กัมพูชาโต 5.3%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชากลับมาเติบโตในปีนี้ ตามการรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยคาดว่าการเติบโตจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ซึ่ง NBC คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 ในช่วงปี 2021 แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นผลทำให้เกิดเงินเฟ้อกับสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของกัมพูชาปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 94 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ผลักดันให้รัฐบาลเร่งเปิดพรมแดนของประเทศอีกครั้ง รวมถึงได้ทำการยกเลิกมาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส โดยในช่วงครึ่งแรกของปีกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 11,317 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 หรือคิดเป็นมูลค่า 15,400 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501123527/nbc-sees-cambodias-gdp-growth-at-5-3-in-2022/

มูลค่าการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา พุ่ง 330% ในช่วง H1

มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 870,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 330 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 201,143 ดอลลาร์ ด้าน Hong Sok Hour ผู้บริหาร CSX ระบุว่าการเติบโตดังกล่าวมาจากการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายย่อย โดยมีนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดบัญชีราวๆ ประมาณ 250-300 บัญชีต่อเดือน และมีบริษัทเข้าจดทะเบียนแล้ว 16 แห่ง ระดมทุนไปแล้วกว่า 280 ล้านดอลลาร์ โดยมีนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 31,000 ราย ที่ได้เปิดบัญชีซื้อขายใน CSX ณ เดือนมิถุนายนปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122946/csx-trading-value-up-330-in-h1/

SSEZ ดันมูลค่าการค้าขึ้นเป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) พยายามเป็นอย่างมากในการรักษาสายการผลิตภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาจัดตั้งรวม 170 แห่ง ทั้งจาก ยุโรป, สหรัฐฯ, จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 30,000 ตำแหน่ง กล่าวโดย Chhin Chien Kang ประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งแต่เดือน มกราคม-มิถุนายน มูลค่าการส่งออกและนำเข้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ พุ่งไปแตะที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมองว่าโครงการ Belt and Road Initiative จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตต่อไปในอนาคต โดย Chhin Chien Kang ยังได้กล่าวเสริมว่า ด้วยนโยบายที่ดีและน่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 มีบริษัทวางแผนที่จะจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่อีกแห่ง ในเขตเศรษฐกิจสีหนุวิลล์ (SEZ) ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501122950/sihanoukville-sez-trade-value-surges-to-1-3b/