สหรัฐผนึกอาเซียน ฟื้นเศรษฐกิจ-พัฒนายั่งยืน

ท่ามกลางวิกฤติซ้ำวิกฤติที่ทุกประเทศเผชิญอยู่ทั้งโรคระบาดโควิด-19 และผลกระทบจากสงคราม ความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ น่าจะเป็นทางออก หรือ บรรเทาผลจากวิกฤติต่างๆ ได้ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 2565 ตามคำเชิญของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 (ASEAN-U.S. Special Summit) ร่วมกับผู้นำอาเซียนชาติต่างๆ ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐ เพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค รวมทั้งเป็นโอกาสให้พบกับภาคเอกชนสหรัฐเพื่อย้ำความพร้อมของไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับสหรัฐ ด้านสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย การเดินทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ ได้ทราบถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อการเป็น Regional Hub ทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงโปรโมท โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มเติม

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/1003673

กัมพูชาวางแผนเพิ่มการส่งออกกล้วยไปยังเกาหลีมากขึ้น

นักธุรกิจกัมพูชาและเกาหลีใต้ ร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการส่งออกกล้วยสดของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ในปีนี้ หลังได้รับสัญญาณเชิงบวกจากตลาด โดยตัวแทนของสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลีและผู้ส่งออกในท้องถิ่น Longmate Agriculture ได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นทุนการขนส่ง การผลิต และการตลาด ก่อนที่จะตัดสินใจขยายการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังเกาหลี ซึ่งตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง การส่งออกกล้วยสดของกัมพูชาไปยังจีนลดลงร้อยละ 13 มาอยู่ที่ 98,530 ตันในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้กัมพูชาต้องเร่งหาตลาดแหล่งใหม่เพื่อรองรับกับผลผลิตกล้วยที่อาจจะมีแนวโน้มการส่งออกไปยังจีนที่ลดลง โดยตลาดเกาหลีถือเป็นตลาดในอนาคตที่น่าสนใจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501071993/cambodia-optimistic-about-banana-exports-to-korea/

เปิดพรมแดนกระตุ้นการท่องเที่ยว กัมพูชา-ไทย-เวียดนาม

หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้เปิดพรมแดนระหว่างกัมพูชาอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สมาคมและบริษัทเอกชนหลายแห่งในภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา ไทยและเวียดนาม ได้ร่วมมือกันวางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมสมาชิกในสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ได้ร่วมหารือระหว่างกัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการเดินทาง ตลอดจนการจัดทำเอกสาร ณ ด่านตรวจชายแดนทั้งฝั่งกัมพูชาและไทย โดยคาดว่าการไหลของนักท่องเที่ยวทางบกจะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นหากฝ่ายไทยผ่อนคลายเงื่อนไขหรือเอกสารบางอย่าง ซึ่งปัจจุบันข้อกำหนดจากฝั่งไทยยังคงไม่แน่นอนในหลายประเด็น ในขณะที่ทางฝั่งกัมพูชารายงานว่าได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ อย่างนครวัดมีจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 622 หรือเป็นจำนวน 33,205 คนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้ประมาณ 1.35 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีนักเดินทางมาเยือนถึง 13,365 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501072171/border-opening-boost-tourism-among-cambodia-thailand-vietnam/

กระทรวงการวางแผน ADB ประเมินความร่วมมือด้านต่างๆ

สปป.ลาวกำลังทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เพื่อบรรลุ 24 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารด้วยเงินมากกว่า 829 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงเงินกู้มูลค่า 470.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินช่วยเหลือมูลค่า 358.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความร่วมมือระหว่างสปป.ลาวและ ADB เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระยะยาว 5 ปีตั้งแต่ปี 2560-2564 และแผนธุรกิจ Country Operations Business Plan ซึ่งจะมีการทบทวนทุก 3 ปี นอกจากนี้ สำนักงาน ADB ได้ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของประเทศเพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดสรรงบประมาณสำหรับแต่ละภาคส่วนอย่างเหมาะสม แนวทางการกำกับของ ADB เป็นเพื่อนำพาสปป.ลาวสู่ความสำเร็จทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจโดยมีแบบแผนและกลยุทธ์ที่สำคัญ ตามกรอบแนวทางที่ ADB เป็นผู้วางและติดตาม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten88_Planning.php

‘พาณิชย์’ ดึงญี่ปุ่นลงทุนไทยชูใช้สิทธิ ‘FTA-RCEP’ ปักหมุดอุตสาหกรรม BCG

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ ประธานเปิดงานสัมมนาเชิงนโยบาย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามิติใหม่ ไทย – ญี่ปุ่น” โอกาสฉลองครบรอบ 135 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเรื่องนโยบายและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน ในมิติใหม่ที่สอดรับกับสถานการณ์โลกหลังวิกฤตโควิด-19 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์

ทั้งนี้ ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/138495/

‘สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด’ มองศก.เวียดนาม การฟื้นตัวหลังโควิด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด รายงานผลการวิจัยระดับโลกในหัวข้อ “เวียดนาม – RCEP: โอกาสและความท้าทาย” พบว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว คาดว่าจะยกเลิกภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกลง 90% ภายในระยะเวลา 20 ปี ในขณะเดียวกันการเป็นสมาชิกในข้อตกลงจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการค้าของเวียดนามและเป็นส่วนช่วยสำคัญในการฟื้นตัวหลังโควิด-19 สินค้าส่งออกหลักที่ได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ได้แก่ สินค้าไอที สิ่งทอ รองเท้า เกษตรกรรม ยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร

นอกจากนี้ RCEP จะช่วยผลักดันภาคการส่งออกของเวียดนามและการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนแก่ผู้ผลิตเวียดนามและการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1189946/standard-chartered-bank-regional-focus-to-support-viet-nams-post-covid-recovery.html

‘เวียดนาม’ เผย CPI เดือน เม.ย. 65 ขยายตัว 0.18%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน ขยายตัว 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุโภคบริโภคและบริการ จำนวน 11 รายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณดัชนี CPI พบว่าวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.7%, ราคาก๊าซ เหล็กและวัสดุสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในขณะเดียวกัน การบริการด้านวัฒนธรรม ความบันเทิงและการท่องเที่ยว และบริการด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ขยายตัว 1.8% และ 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการเติบโตในเดือนก่อนหน้า อันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cpi-inches-up-0-18-in-april/

เดือนเม.ย. 4 บริษัททุ่มเม็ดเงิน FDI ในภาคการผลิตของเมียนมา พุ่งแตะ 5.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) เผย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเดือนเม.ย. 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 มี 4 บริษัทจีนและเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตประมาณ 5.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถสร้างโอกาสในการทำงานให้กับชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แม้สถานประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมกำลังกลับสู่สภาวะปกติหลังจากการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับผู้ใช้แรงงานในประเทศ  ที่ผ่านมาในช่วงงบประมาณย่อย (เดือนต.ค.2564-มี.ค.2565) เมียนมาสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 647.127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 49 บริษัทต่างชาติ ในจำนวนนี้ มี 40 บริษัท ที่ลงทุนในภาคการผลิต โดยมีเงินลงทุนโดยประมาณ 202.667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/4-enterprises-pump-5-99-mln-of-fdi-into-manufacturing-sector-in-april/

การท่องเที่ยวเมียนมาคึกคัก เริ่มฟื้นตัวเป็นปกติ

หลังจาการคลี่คลายของการแพร่ระบาดโควิด-19  ภาคการท่องเที่ยวของเมียนมาเริ่มกลับมาคึกคักเป็นปกติอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด เทศกาลติงยาน (Thingyan) หรือสงกรานต์ของชาวเมียนมาในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางกันอย่างล้นหลาม ซึ่งก่อนช่วงเทศกาล และนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญมักจะนิยมเหมารถเพื่อการเดินทางมากกว่าใช้บริการโดยสารประจำทาง ส่งผลให้รถโดยสารต้องหันไปใช้สำหรับบรรทุกสินค้าในทุกๆ วัน แทน จากข้อมูลของผู้ขายสินค้าออนไลน์รายหนึ่ง พบว่า ค่าใช้จ่ายในการขนสินค้าใช้บริการขนส่งโดยรถโดยสารค่อนข้างมีราคาสูง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำในการจัดส่งสูงถึง 3,000 จัต ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสินค้า จากข้อมูลของกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยว ในช่วงก่อนเทศกาลติงยาน ค่าตั๋วโดยสารรถประจำทางอยู่ที่ประมาณ 35,000 จัต จากนั้นลดลงเหลือ 25,000 จัตในช่วงเทศกาล ซึ่ง รัฐยะไข่ หาดซวงทา หาดงาปาลี เมืองพุกาม เมืองตองยี และทะเลสาบอินเลย์ เป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นที่สุด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/domestic-tourism-back-in-operation-almost-as-usual/

สะพานมิตรภาพลาว-ไทยเปิดอีกครั้ง ด้านสปป.ลาวแอร์ไลน์วางแผนเที่ยวบินเพิ่ม

จุดผ่านแดนหลักของสปป.ลาวที่สะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งแรกที่เชื่อมระหว่างเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคายในประเทศไทย ได้เปิดขึ้นอีกครั้งหลังจากถูกปิดมานานกว่าสองปีเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของ Covid-19 ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทาง ชาวต่างชาติและคนไร้สัญชาติสามารถเข้าและออกจากลาวได้อย่างอิสระในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมี 100 คนข้ามสะพานมายังประเทศไทย ขณะที่อีกเกือบ 300 คนเข้าสู่ลาว ด้านสายการบินจะเพิ่มเที่ยวบินระหว่างเวียงจันทน์และกรุงเทพฯ เป็น 2-3 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม รัฐบาลได้เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจ และทุกภาคส่วนในสังคม เตรียมพร้อมต้อนรับและให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten87_Lao_thai_y22.php