‘จุรินทร์’ลงใต้กระต้นศก. เอกชนเสนอประเด็นให้รัฐช่วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมทีมเซลส์แมนจ.ยะลา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง อำเภอเบตง มีข้อสรุปดังนี้ โดยประเด็นที่ 1 ต้องการให้ผ่อนปรนผังเมืองยะลา ให้สามารถสร้างห้องเย็นเก็บทุเรียนหรือผลไม้ได้โดยสะดวกขึ้น ไม่ต้องฝากเช่าห้องเย็นที่จังหวัดอื่น ประเด็นที่ 2 ขอให้ภาครัฐช่วยต่ออายุโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้ในอัตรา 1.5% ต่อปี วงเงิน 25,000 ล้านบาท จะหมดอายุในปีนี้ ขอต่อไปอีก 5 ปี คือ 2566-70 ขณะที่ความต้องการแรงงานต่างด้าวเมียนมาและกัมพูชา ได้มีการชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวโดยต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน เนื่องจากเงื่อนไขที่ ศบค. กำหนดเรื่องสถานการณ์โควิด-19

ที่มา: https://www.naewna.com/business/646851

‘ADB’ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ โต 6.5%

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย ประจำปี 2022 โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปีนี้อยู่ที่ 6.5% และ 6.7% ในปี 2566 ตามอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง ทั้งนี้ นาย แอนดรูว์ เจฟฟรีส์ ผู้อำนวยการธนาคารเอดีบี กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานเวียดนาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2564 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในรดับสูง ทำให้กิจกรรมการค้าขายกลับมาดีขึ้น นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเปิดได้อีกครั้งในช่วงกลางเดือนมีนาคมและประกาศยกเลิกการควบคุมเชื้อโรค โดยคาดว่าภาคท่องเที่ยวจะเคิบโตที่ 5.5%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/adb-forecasts-vietnams-2022-gdp-growth-at-6-5/

ผลสำรวจ ชี้โควิด-19 ทุบการผลิตภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม

เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 51.7 จากระดับของเดือนก.พ.ที่ 54.3 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเดือนมี.ค. ถึงแม้ว่าภาพรวมนั้น สถานการณ์การผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทไม่สามารถรักษาระดับปริมาณการผลิตได้และผลผลิตโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตลดลง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1171693/viet-nams-manufacturing-sector-hit-by-wave-of-covid-19-infections.html

 

COVID-19 กระทบการส่งออกทองคำเมียนมา

สมาคมผู้ประกอบการทองคำแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง (YGEA) เผย การส่งออกทองคำหยุดชะงักลงเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีการระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และไม่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้มีการเตรียมการส่งออกไว้แล้ว เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตและการติดเชื้อ COVID-19  ลดลงอย่างมาก ทำให้การระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิกตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.65 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อคลายมาตรการการเข้าประเทศ คาดว่าตลาดส่งออกทองคำจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ การโอนเงินระหว่างประเทศในการซื้อขายทองคำที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ระบบ Telegraph Transfer (TT) ทั้งนี้ตลาดส่งออกทองคำที่สำคัญของเมียนมาคือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/covid-19-impacts-stop-gold-exports/#article-title

มกอช. นำทีมคณะผู้แทนไทย เป็นเจ้าภาพประชุม EWG-OA เร่งปรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับ 10 ประเทศอาเซียน

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. พร้อมด้วย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (Expert Working Group for Organic Agriculture : EWG-OA) ครั้งที่ 6 ผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ซึ่งในปีนี้สาธารณรัฐสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมีประเทศไทยทำหน้าที่รองประธาน และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในอาเซียนที่ยั่งยืนมีระบบการจัดการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค ลดการสูญเสีย และลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการหารือประเด็นที่สำคัญ ประกอบไปด้วย 1. การปรับประสานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ให้เทียบเท่ามาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (ASOA) 2. การปรับประสานระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศสมาชิกเพื่อให้เกิดการยอมรับความเท่าเทียมของระบบของแต่ละประเทศ 3. การส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ASOA และการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงได้

 

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9650000033951

เงินเฟ้อสปป.ลาวพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมากกว่าที่คาดการณ์ และเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ในเดือนมีนาคมราคาในหมวดการสื่อสารและการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบเดือนที่แล้ว ราคาเชื้อเพลิงและก๊าซเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และยังมีราคาสินค้าในอีกหลายหมวดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับราคาน้ำมันที่ผันผวนทำให้ราคาสินค้าต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตหรือการขนส่งเพิ่มขึ้นและค่า kip ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทที่เพิ่มขึ้น เพราะสปป.ลาวยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและวัสดุเข้าเพื่อผลิต เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

 

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Investment68.php

ADB ชี้ RCEP-FTA ผลักดันเศรษฐกิจกัมพูชา

Anthony Gill ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำสาขากัมพูชา กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี (FTA) จะสร้างประโยชน์ให้กับกัมพูชาเป็นอย่างมากในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านของการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในประเทศ โดย ADB ระบุว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.3 ในปี 2022 และเติบโตร้อยละ 6.5 ในปี 2023 อันเนื่องมาจากภาคการส่งออกสินค้า และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501054249/adb-says-rcep-bilateral-ftas-to-bring-great-benefits-to-cambodia/

การค้า กัมพูชา-ไทย ในช่วง 2 เดือนแรก แตะ 1.3 พันล้านดอลลาร์

การค้าระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่าอยู่ที่ 1.12 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานทางสถิติอย่างเป็นทางการของกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ในขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง โดยทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายทางด้านการค้าทวิภาคีไว้ที่ 15 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501054340/cambodia-thailand-jan-feb-trade-tops-1-3-billion/

‘เวียดนาม’ ยกระดับเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์

หนังสือพิมพ์ Dau tu (Investment) จัดเสวนาหัวข้อ “Getting 5G Ready for Vietnam’s Digital Transformation” วันที่ 4 เม.ย. โดยผู้ให้บริการรายใหญ่ในวงการสื่อสาร อาทิ VinaPhone, MobiFone และ Viettel ประกาศเริ่มทดลองใช้บริการ 5G ในเมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองฮานอยและโฮจิมินห์ และจะเร่งขยายไปยังเมืองอื่นๆ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายดังกล่าว ได้นำเครือข่าย 5G ไปทดลองเชิงพาณิชย์ใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ เวียดนามตั้งเป้าที่จะพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัล โดยคาดว่าเครือข่าย 5G จะวางรากฐานในการเชื่อมโยงและพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-boost-5g-commercialisation/224626.vnp

‘เวิลด์แบงก์’ ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปี 65 เหลือ 5.3%

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดตัวรายงานอัพเดทด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้อยู่ที่ 5.3% จากที่ประมาณการณ์ครั้งก่อนไว้ที่ 5.5% ในเดือนมกราคม เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 และเร่งการฉีดวัคซีน ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจกลับมาดีขึ้น ในส่วนของภาคบริการคาดว่าจะฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัว และการท่องเที่ยวต่างประเทศจะทยอยกลับมาฟื้นตัวในช่วงกลางปี นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดส่งออกสำคัญที่มีแนวโน้มชะลอตัว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/wb-lowers-vietnam-s-2022-economic-growth-to-5-3-2005916.html