ไทยชูแผนคุมโควิด-เปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสหรัฐ

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมทางไกล กับคณะนักธุรกิจ จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) ทั้งนี้ ได้ใช้โอกาสนี้สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนสหรัฐฯ ในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความพร้อมการเปิดประเทศ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาวบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model และการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยช่วง 8 เดือนของปี 64 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 36,460 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.56% โดยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 26,884 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 20.56% และนำเข้ามูลค่า 9,576 ล้านเหรียญสหรัฐลด 12.79%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/609480

ไทย-เวียดนาม ตลาดสำคัญส่งออกสินค้าเกษตรกัมพูชา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกัมพูชา กล่าวถึงการรายงานของกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรไปยัง 90 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ด้วยปริมาณรวม 5.93 ล้านตัน โดยในบรรดา 90 ประเทศ เวียดนามและไทย ถือเป็นตลาดหลักสำคัญของสินค้าเกษตรกัมพูชา ซึ่งเวียดนามทำการนำเข้าสินค้าเกษตรจากกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 64.11 ไทยร้อยละ 21.49 จีนร้อยละ 9.69 และ อีก 87 ประเทศ ราวร้อยละ 4.71 โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสินค้าส่งออกทางการเกษตรของกัมพูชาที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ถั่วเหลือง กล้วยสด ส้มโอ มะม่วงสด น้ำเชื่อมมะม่วง น้ำมันมะพร้าว พริกไทย ยาสูบ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50953268/thailand-and-vietnam-remain-key-markets-for-cambodian-agricultural-products-out-of-90-markets/

ราคาข้าวเวียดนามพุ่งแซงไทย

สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) เปิดเผยว่าราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามพุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ แซงหน้าราคาข้าวไทย อินเดียและปากีสถาน โดยในช่วงกลางเดือน ส.ค. ราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามลดลงเหลือ 385 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง 100 เหรียญสหรัฐต่อตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ในขณะที่ราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 8 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าข้าวหัก 5% ของไทย แต่ยังสูงกว่าข้าวของอินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 25 เหรียญสหรัฐ และ 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกข้าวหัก 5% ของเวียดนามในปัจจุบัน อยู่ที่ 433-437 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือว่าสูงกว่าของไทย อินเดียและปากีสถานอยู่ที่ 49, 68 และ 55 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-rice-price-surges-surpasses-that-of-thailand/

คลังเตรียมให้สัตยาบันตั้งบริษัทลูกธนาคารในอาเซียน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การเปิดเสรีด้านบริการการเงินในอาเซียนมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยเตรียมให้สัตยาบัน (Ratification) ข้อตกลงให้ธนาคารของสมาชิกอาเซียน เข้าไปตั้งบริษัทลูกในประเทศสมาชิกอาเซียนอีกประเทศหนึ่งได้ไม่เกิน 49% ซึ่งการจัดทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ดำเนินสืบเนื่องในหลายครั้งผ่านการเจรจาหารือร่วมกันและครั้งนี้ ถือเป็นข้อตกลงฉบับที่ 9  ซึ่งทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน มีความลึกและกว้างขึ้น โดยจะเป็นการลดข้อจำกัดของการเข้ามาลงทุนในกิจการธนาคารภายในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเรียกว่า ASEAN Framework Agreement on Services ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานหลักในการเจรจาร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้เห็นชอบร่างข้อตกลงนี้แล้ว โดยร่างข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน หลังจากลงนามให้สัตยาบัน สำหรับสาระสำคัญของข้อตกลงฉบับที่ 9 ดังกล่าว เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันแก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/965526

9 เดือนขอลงทุนทะลุ 5 แสนล้านบาท บีโอไอโชว์ตัวเลขต่างชาติโตกว่า 200%

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2563 เงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 432,000 ล้านบาท พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุน 269,730 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด รองลงมาคือ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่น่าสนใจคือ มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ มี 587 โครงการ เงินลงทุน 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 220% เมื่อเทียบกับปีก่อน ประเทศที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_2985772

ส่งออกรถยนต์ไปเมียนมาสะดุด ทางการประกาศห้ามนำเข้าชั่วคราว

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ได้ระงับการเปิดศูนย์ขายรถยนต์ใหม่ รวมทั้งระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าและการอนุญาตนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดการใช้เงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าสินค้ารถยนต์ฯ ประกาศฯ มีดังนี้ 1.กรณีการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วและการนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคล 2.กรณีการนำเข้าจากศูนย์การขายรถยนต์และโชว์รูมรถยนต์ 3.กรณีที่มีการนำเข้าให้กับข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ทหารและตำรวจที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ทั้งนี้ในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค. 2564 ไทยส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปเมียนมา มูลค่า 1,991.13 ล้านบาท โดยผ่านชายแดนมูลค่า 1,500.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 75.35%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/608193

รัฐห้าม‘โรงแรม’โก่งราคา ขู่ตัดสิทธิ์ร่วมโครงการเที่ยวด้วยกัน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้เริ่มโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 โดยเปิดให้ประชาชนผู้ร่วมโครงการใช้สิทธิ์จองที่พักตามโครงการตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. เป็นต้นมา ได้พบการร้องเรียนจากประชาชนมาเป็นจำนวนมากถึงโรงแรมที่พักซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ ปรับขึ้นราคาเป็นจำนวนมากในจังหวัด เช่น ภูเก็ต พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ เขาใหญ่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบหากตรวจสอบพบว่าการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาที่พักหรือให้บริการจริง นอกจากจะถูกลงโทษตัดสิทธิ์จากโครงการในรอบนี้แล้ว และส่งผลถึงการพิจารณาเข้าร่วมโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลจัดขึ้นในระยะต่อๆ ไปด้วย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/607938

 

‘บาทอ่อน’ทำสถิติใหม่ ‘กรุงศรี’ชี้สัปดาห์นี้แตะ 34.20

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปี ท่ามกลางแรงซื้อดอลลาร์เป็นวงกว้างในตลาดโลก ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังประเมินว่าไตรมาส 3 เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจซึ่งจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงประมาณการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ที่ 0.7% และเพิ่มคาดการณ์ปี 2565 เป็นเติบโต 3.9% จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.7% ขณะที่เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดดอกเบี้ย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/606601

คาดค้าชายแดนไทยปี 64 ฝ่าวิกฤตเติบโตกว่า 28%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เติบโตสูง 38% ผลจากเศรษฐกิจในหลายประเทศมีสัญญาณพื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนตอนใต้ คาดว่าการส่งออกชายแดนและผ่านแดนตลอดปี 2564 เติบกว่า 28% ทำสถิติใหม่ที่ราว 980,000 ล้านบาท และมีโอกาสขยายตัวถึง 33% แตะมูลค่าสูงถึง 1,020,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ตลาดจีนตอนใต้เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย แซงหน้ามาเลเซียได้เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-สปป.ลาว ในเดือนธ.ค.64 ทำให้การขนส่งสินค้าไปยังมณฑลหยุนหนานมีความรวดเร็ว ประหยัดค่าขนส่ง และมีมูลค่าการส่งออกช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไปจีนตอนใต้ให้น่าสนใจมากขึ้นไปอีก จากเดิมที่สินค้าส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวที่เขตปกครองตนเองกว่างซีเป็นหลัก

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/664721

 

การค้า กัมพูชา-ไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 8 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 คิดเป็นมูลค่า 5,238 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทย แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 623 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทย ลดลงร้อยละ 31.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76 คิดเป็นมูลค่า 4,614 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าภาคการเกษตรถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ในขณะที่การส่งออกของไทยไปกัมพูชาส่วนใหญ่ประกอบด้วย ปุ๋ยทางการเกษตร อาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งทั้งสองประเทศตั้งเป้าทำการค้าทวิภาคีร่วมกันสูงถึง 15 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023 โดยเมื่อปีที่แล้วมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 7.236 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 23 จากปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50943079/cambodia-thailand-eight-month-trade-inches-up/