‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง

ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่  เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519

ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์

แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1064510

“แบงก์ชาติเวียดนาม” เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา

ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) เตรียมที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้และอื่นๆ เป็นต้น นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ขอให้ธนาคารกลางทำการร่างข้อมติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและขยายกรอบระยะเวลา โดยบริษัทเวียดนามหลายแห่งในปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคกำลังเผชิญกับอุปสรรค ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอและภาวะการส่งออกที่หดตัว 11.9% ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

ที่มา : https://www.investing.com/news/economy/vietnam-central-bank-plans-loan-restructuring-for-struggling-businesses-3062243

“บ.ต่างชาติ 3 แห่ง” รุกเวียดนามทุ่มเงิน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าบริษัทต่างชาติจำนวน 3 แห่ง ทุ่มเงินลงทุนไปยังเวียดนาม มูลค่ากว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากเกาหลีใต้ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าไปยังอุตสาหกรรมหนักและโลจิสติกส์การผลิต ตามมาด้วยนักลงทุนเยอรมนีเล็งมองหาโอกาสที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเงินทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักลงทุนญี่ปุ่นที่วางแผนจะเข้าไปลงทุนในอุปกรณ์การแพทย์ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ นาย Nguyen Chí Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าเวียดนามจำเป็นต้องเตรียมสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่างๆ ที่จะสนับสนุนการลงทุนใหม่ที่เป็นไปตามอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลกตั้งแต่ปี 2567 เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1524531/three-foreign-groups-plan-to-pour-3-7-billion-into-viet-nam.html

จับตาส่งออกข้าวไทย-เวียดนาม ระอุ ยอดส่งออกไตรมาสแรกเบียดสูสี

ปี 2565 ไทยส่งออกข้าวรั้งอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกได้  7.69 ล้านตัน เบียดเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่ครองอันดับ 2  ของโลกติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยเวียดนามส่งออกได้ 6.31 ล้านตัน แม้ว่าในปี 2565 เวียดนามจะถูกไทยเบียดแซงหล่นมาเป็นอันดับ 3 แต่เวียดนามก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับต้นของโลกอยู่ จากความได้เปรียบในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และราคาข้าวของเวียดนาม ไม่มีความผันผวนเกินไป ราคาข้าวยังคงที่ ทำให้สามารถทำตลาดค้าข้าวกับลูกค้าได้ง่าย โดยในปี 2566 เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 16% ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ไทยและเวียดนามส่งออกข้าวในปริมาณใกล้เคียงกัน ในส่วนของไทยส่งออกข้าว 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวได้ 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% จากแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EVFTA) ทำส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวได้เปรียบคู่แข่ง

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1064275

“เวียดนาม” เผยไตรมาสแรกปี 66 ยอดขายรถจักรยานยนต์หดตัวต่อเนื่อง

สมาคมผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เวียดนาม (VAMM) ระบุว่าตลาดรถจักรยานยนต์ของเวียดนามในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เนื่องจากความต้องการซื้อลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดดังกล่าวมียอดขายที่น่าประทับใจในปีที่แล้ว ด้วยยอดขายรถจักรยานยนต์ 3.38 ล้านคัน หลังจากยอดขายตกต่ำเป็นเวลา 2 ปีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ยอดขายรถจักรยานยนต์ข้างต้นในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 634,688 คัน หดตัว 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าในเดือน ม.ค. ตรงกับเทศกาลตรุษญวณ ทำให้ผู้คนลดการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังเทศกาลตรุษญวณ (Tet) และอีกสาเหตุอีกอน่างหนึ่ง คือ ในไตรมาสแรก ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไม่ได้เปิดคัวรถรุ่นใหม่ ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์มีความน่าสนใจน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้ซื้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1522936/motorcycle-sales-continue-slump-in-first-quarter.html

“Quanta” ซัพพลายเออร์ของ Apple เตรียมสร้างโรงงานในเวียดนาม

บริษัท Quanta Computer ซัพพลายเออร์ ของ Apple วางแผนที่จะตั้งโรงงานในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทางผู้ผลิต MacBook ได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดนามดิ่ง (Nam Dinh) เพื่อทำการก่อสร้างโรงงานในสวนอุตสาหกรรม และโรงงานแห่งนี้ นับเป็นโรงงานแห่งที่ 9 ของบริษัท Quanta ที่กระจายอยู่ทั่วโลก มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 22.5 เฮกตาร์

ที่มา : https://www.brecorder.com/news/40238493/taiwans-apple-supplier-quanta-plans-vietnam-factory

ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม ‘พุ่ง’

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) อยู่ที่ 532 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน การส่งออกข้าวมีปริมาณกว่า 1.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากสัดส่วนของข้าวคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวหอม ข้าวเหนียวและข้าวพันธุ์พิเศษ เป็นต้น หากคิดเป็นสัดส่วนจะเห็นได้ว่าข้าวคุณภาพสูงมีสัดส่วนถึง 50% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และในปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ราว 600 – 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนามยังอยู่ในทิศทางที่สดใส เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดของข้าวคุณภาพสูงที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ทำให้ความต้องการอาหารในการสะสมเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-export-prices-on-the-rise/251650.vnp

“ศก.เวียดนาม” คาดเติบโตอันดับ 2 ในอาเซียน

ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์ทวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 2 ร่วมกับกัมพูชาในภูมิภาคอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวสูงขึ้นแตะ 6.9% ในปีหน้า ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สาธารณะเวียดนามที่คาดว่าจะอยู่ระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 8 ประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้เหตุผลถึงการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่าเป็นการสร้างความยืดหยุ่นและจังหวะเวลา รวมถึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 7% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 10%

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-forecast-to-rank-second-in-asean/251654.vnp

“สหรัฐฯ” เร่งนำเข้าชิปจากเวียดนามและตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปี สหรัฐอเมริกานำเข้าผลิตภัณฑ์ชิปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มประเทศในเอเชีย 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินเดียและกัมพูชา เป็นต้น โดยจากข้อมูลในเดือน ก.พ. สหรัฐฯ นำเข้าชิปเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 4.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหากคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดเอเชียอยู่ที่ 83% ของตลาดทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่สหรัฐฯ นำเข้าอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 34 เท่า เป็นมูลค่าที่ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามและไทยต่างครองส่วนแบ่งทางการตลาดของการผลิตชิปในสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนทางการค้าเพิ่มขึ้น 75% และ 62% ตามลำดับ และในปัจจุบัน เวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้าชิปจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ได้กระจายห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยทำการย้ายผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดดั้งเดิมไปยังตลาดเกิดใหม่

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-increases-chip-imports-from-vietnam-and-emerging-asian-markets-2129952.html

“เวียดนาม” เผยไตรมาส 1/66 รายได้เฉลี่ยของแรงงานพุ่งสูงขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 รายได้เฉลี่ยของแรงงานอยู่ที่ 7 ล้านดองต่อคน เพิ่มขึ้น 640,000 ดองเมื่อกับปีที่แล้ว โดยตัวแทนของสำนักงานสถิติประชากรศาสตร์และแรงงาน กล่าวว่าแรงงานมีรายได้เฉลี่ย 7 ล้านดองต่อเดือนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ และในจำนวนแรงงานดังกล่าว รายได้เฉลี่ยต่อของแรงงานเพศชายอยู่ที่ 8 ล้านล้านดองต่อเดือน สูงกว่า 1.36 เท่า หากเทียบกับรายได้เฉลี่ยของแรงงานเพศหญิงที่ 5.9 ล้านดองต่อเดือน ตามมาด้วยรายได้เฉลี่ยของแรงงานที่อยู่ในเมืองอยู่ที่ 8.6 ล้านดองต่อเดือน ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานที่อยู่ในชนบทมีเพียง 6.1 ล้านดองต่อเดือน

ทั้งนี้ แรงงานที่อยู่ในภาคบริการพบว่ามีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุด อยู่ที่ 8.3 ล้านดองต่อคน เพิ่มขึ้น 10.1% หรือราย 766,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่แรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม มีรายได้เพียง 4.1 ล้านดองต่อคน และ 7.9 ล้านดองต่อคน ตามลำดับ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/employees-average-income-rises-in-q1/