‘ข้าวเวียดนาม’ ราคาพุ่ง แต่กลับขายดี

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) รายงานว่าการส่งออกข้าวของเวียดนาม มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตันในเดือน เม.ย. ปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 620 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายอดการส่งออกข้าวของเวียดนามสูงถึง 3.17 ล้านตัน มูลค่า 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% และ 33.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 644 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 22% ถึงแม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ฟิลิปินส์ที่เป็นตลาดนำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่กลับซื้อข้าวปริมาณมาก

นอกจากนี้ นาย Phung Van Thanh ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเวียดนามมีศักยภาพและโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้ และแนะนำว่าผู้ส่งออกข้าวเวียดนามควรร่วมมือกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้ ตั้งแต่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้ที่มีรายได้สูง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/prices-stay-high-but-vietnam-s-rice-selling-well-2281252.html

‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก

สำนักงานพัฒนาการส่งออกแคนาดา (EDC) เผยแพร่บทความเรื่อง ‘การทำธุรกิจในเวียดนาม: จับตาดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก’ รายงานว่าเวียดนามกลายมาเป็นดินแดนแห่งมังกร รวมถึงกลายมาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในอุดมคติ ในขณะที่จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปีแบบทบต้นในปีที่แล้ว และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ขยายตัว 5% โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้า จะขยายตัว 6% และ 7% ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจจึงทำให้สำนักงานฯ เลือกเวียดนามเป็นตัวแทนดาวรุ่งในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งการเติบโตของคนชนชั้นกลางเวียดนาม แซงหน้าประเทศในภูมิภาค ถึงแม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจเวียดนามจะมีขนาดเล็กกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง แต่ประชากรเวียดนามมีจำนวนเกือบ 100 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากลุ่มประชากรครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-rising-star-in-indo-pacific-canadian-agency-post286074.vnp

‘เวียดนาม’ นำเข้ารถยนต์ 4 เดือนแรก มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าเวียดนามนำเข้ารถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จำนวน 43,805 คัน มูลค่ากว่า 929.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.4% และ 23.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาเฉพาะเดือน เม.ย. พบว่าเวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศทั้งคัน (CBU) จำนวน 11,565 คัน มูลค่าอยู่ที่ 255.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ไทยและจีน เป็นซัพพลายเออร์รถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยทั้งสามประเทศมียอดขายรถยนต์รวมกันทั้งสิ้น 42,154 คัน คิดเป็น 96.2% ของปริมาณการนำเข้ารถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในประเทศ ไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลง 17% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655591/viet-nam-spends-nearly-1b-importing-cars-in-the-first-four-months-of-2024.html

‘เวียดนาม’ เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

คุณ เหงียน ถิ เฮือง (Nguyen Thi Huong) หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากตลาดระหว่างประเทศและในประเทศ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ใกล้กับเพดานที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ที่ระดับ 4-4.5%

ในขณะเดียวกัน นายเหงียน บิช ลา (Nguyen Bich Lam) นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างมาก รวมถึงการแข่งขันที่รุงแรงในตลาดต่างประเทศ และความตึงเครียดในทะเลแดง ซึ่งอาจเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและเกิดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐต่อด่องเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐยังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาระต้นทุนในการนำเข้าและเงินเฟ้อในประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/mounting-inflationary-pressure-requires-governments-flexible-moves-post286015.vnp

‘ชาวเวียดนาม’ โดนโกงออนไลน์ สูญเงินกว่า 12.24 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม (MIC) รายงานว่าคดีฉ้อโกงออนไลน์ มีจำนวนทั้งสิ้น 17,500 คดี โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวเวียดนาม มีมูลค่าการสูญเสียเงินจากการฉ้อโกงมากกว่า 300 พันล้านด่อง หรือประมาณ 12.24 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการฉ้อโกงและการรับมือกับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ พบว่าการฉ้อโกงทางไซเบอร์มีความซับซ้อนในเมื่อไม่นาน ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อองค์กรและบุคคลทั่วไป จึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทาการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาชญากรทางไซเบอร์ได้เปลี่ยนวิธีการและยุทธวิธีอย่างต่อเนื่อง หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการโจมดี แทรกซึมและฉ้อโกงในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคม และสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655485/vietnamese-users-report-losses-of-more-than-12-24-million-due-to-online-fraud.html

‘เวียดนาม’ ยอดขายคอนโดเทล ไตรมาส 1 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ตามรายงานของ DKRA Group บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าโครงการคอนโดเทล 90% ไม่มียอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่คอนโดเทลที่เปิดขายอยู่มีจำนวน 4,800 ยูนิต แต่มีเพียง 64 ยูนิตที่ขายได้ คิดเป็นสัดส่วน 1.3% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด ถึงแม้ว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเสนอโปรโมชั่น แต่ก็ไม่สามารถที่จะดึงดูดลูกค้าได้ สาเหตุสำคัญมาจากราคาขายสูง ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านด่อง (6,000 เหรียญสหรัฐ) ต่อตารางเมตร

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ไม่แน่ใจว่าจะลดราคา เนื่องจากมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการระดับไฮเอนที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าฐานะร่ำรวย และเมื่อคาดการณ์จะพบว่าตลาดคอนโดเทลอาจต้องใช้ระยะเวลา 5-7 ปี ในการฟื้นตัว ทั้งจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655491/condotel-sales-at-their-lowest-level-in-six-years-in-q1.html

ส่องตลาด ‘Data Center’ ในเวียดนาม ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

จากรายงานการตลาดของบริษัทวิจัย JLL ได้จัดทำข้อมูลภาพรวมของตลาดศูนย์ข้อมูล (Data Center) เปิดเผยว่าตลาดศูนย์ข้อมูลของเวียดนามในปัจุบัน ถูกครอบงำโดยธุรกิจโทรคมนาคมของท้องถิ่น ได้แก่ VNPT, Viettel IDC, FPT Telecom และ CMC Telecom จากการเติบโตอย่างมากทั้งในด้านการให้บริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างชาติและผู้ดำเนินการในต่างประเทศ เล็งเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ ซึ่งรวมถึงโครงการต่างๆ เช่น โรงงาน ขนาด 20MW ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park  ตามมาด้วยโรงงาน ขนาด 30MW ของสิงคโปร์ และโครงการจากความร่วมมือของบริษัทเอ็นทีที (NTT) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัทอาลีบาบาที่ได้ประกาศว่าจะสร้างศูนย์ข้อมูลในเวียดนาม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดนี้ว่ามีความต้องการมากขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655440/viet-nam-s-data-centre-sector-is-attractive-to-foreign-investors.html

‘เวียดนาม’ เผยภาคธุรกิจและประชาชน หวังให้มีการขยายเวลาลด VAT

จากการยื่นมติเรื่องการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 8% ตามมติที่ 110/2023/QH15 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน 2567 เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนแก่ภาคธุรกิจและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมถึงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจและประชาชน หวังว่าจะได้รับข้อเสนอและพิจารณาจากการมติของรัฐสภาในการขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ จากการสอบถามประชาชนที่อยู่ในเมืองฮานอย กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน การลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 8% ช่วยประหยัดการใช้จ่ายซื้อสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนี้ ดร. Lê Đăng Doanh นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าการขยายเวลาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและยังช่วยกระตุ้นการบริโภค สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมาก นอกเหนือจากการลงทุนและการส่งออกแล้ว การบริโภคในประเทศยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655414/businesses-and-people-expect-vat-cut-extension-to-be-approved.html

‘เวียดนาม-มาเลเซีย’ จับมือส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ ดันโอกาสครั้งใหญ่

คุณ Lê Phú Cường ที่ปรึกษาการค้าประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวในที่ประชุมฟอรั่มเศรษฐกิจ ปี 2567 ณ กรุงกัลป์ลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่าเวียดนามมีข้อได้เปรียบอย่างมากทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่มาเลเซียมีความแข็งแกร่งทางด้านการผลิตไฟฟ้าและการผลิตแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนจำกัด หากเวียดนามร่วมมือกับมาเลเซียจะสามารถช่วยลดต้นทุนการวิจัยและได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655360/big-opportunities-remain-for-vietnam-and-malaysia-to-partner-in-new-technology-areas-official.html

‘เวียดนาม’ ชี้เสาหลักทางเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณเชิงบวก

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีทิศทางไปในเชิงบวกในปีนี้ จากตัวชี้วัดดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 4 เดือนแรกที่มีการขยายตัว 6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่เงินลงทุนเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ สูงถึง 20.1% ของงบประมาณประจำปี เพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตัวเลขการค้าปลีกและการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าปลีกและบริการ เพิ่มขึ้น 8.5% และการส่งออก เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจมีสัญญาณเชิงบวก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่มั่งคงของเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมุ่งส่งเสริมไปที่การบริโภคภายในประเทศ การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/key-economic-pillars-show-positive-growth-post285814.vnp