กลุ่มเซ็นทรัล จัดงานแสดงสินค้า “Vietnamese Week in Thailand 2022” ครั้งที่ 6

กลุ่มเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม จัดงาน “Vietnamese Week in Thailand 2023” ครั้งที่ 6 งานประชุมและแสดงสินค้าเวียดนามในประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16–20 สิงหาคม 2566 ภายใต้ธีมงาน “HCM City and the Mekong Delta” สำหรับงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นจากภาคใต้ของเวียดนาม ได้แก่ นครโฮจิมินห์ ล็องอาน เบ๊นแจ เกียนซาง บากเลียว จ่าวิญ และด่งท้าบ ทั้งนี้ นาย Do Thang Hai รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าหลังจากจัดงานแสดงสินค้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภาคการส่งออกของทั้งสองประเทศ และการเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้สินค้าท้องถิ่นของเวียดนามไปสู่สายตาคนไทยได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

‘เมียนมา’ เผยราคาข้าวพันธุ์ชเวโป ปอว์ ซาน ดันราคาตลาดข้าวพุ่ง

ศูนย์ค้าข้าววาดัน (Wahdan) เปิดเผยข้อมูลวันที่ 17 ก.ค. 2566 ว่าราคาข้าวพันธุ์ชเวโป ปอว์ ซาน (Shwebo Pawsan) หรือข้าวไข่มุกของเมียนมา ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นแตะ 112,000 จ๊าดต่อกระสอบ ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวพันธุ์อื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อาทิเช่น ราคาพันธุ์ข้าวปอว์ ซาน อยู่ที่ 91,000 – 96,000 จ๊าดต่อกระสอบ และราคาข้าวสารใหม่ อยู่ที่ 89,000 จ๊าดต่อกระสอบ เป็นต้น ทั้งนี้ สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ประกาศที่จะร่วมมือกับโรงสีข้าว ผู้ค้าข้าวและธุรกิจต่างๆ ในการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวและการควบคุมตลาดข้าวให้มีราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังทำการตรวจสอบผู้ผลิตข่าวเท็จ ข่าวปลอมและข่าวลือที่นำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวล

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-exports-over-420kt-of-beans-pulses/

คาด สปป.ลาว ได้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือ แม่โขง-คงคา

โครงการความร่วมมือ แม่โขง-คงคา (MGC) มอบเงินอุดหนุนให้แก่ สปป.ลาว มูลค่า 500,000 ดอลลาร์ ผ่านแผนการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับความพยายามในการลดความยากจนภายใต้โครงการปฏิบัติการ MGC ประจำปี 2019-2022 จำนวน 11 โครงการ ตามการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ซึ่งความร่วมมือ MGC ถือเป็นความร่วมมือระหว่างอินเดียและประเทศต่างๆ ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม โดยครอบคลุมด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษา และการคมนาคมขนส่ง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไปจนถึงการสนับสนุนการดำเนินโครงการทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย ขณะที่อีกโครงการหนึ่งคือการจัดตั้งสภาธุรกิจความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อจะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาการแลกเปลี่ยนด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten137_Laos_benefits_y23.php

กัมพูชาวางแผนยกระดับการส่งออกสินค้าเกษตรร่วมกับกานา

Florence Buerki Akonor เอกอัครราชทูตกานา ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่มาเลเซีย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กัมพูชา ณ สำนักงานกระทรวงฯ โดยทั้งสองได้หารือร่วมกันในหลายหัวข้อ รวมถึงวิธีการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในหลายภาคส่วน ซึ่งทางรัฐมนตรีฯ มียินดีเป็นอย่างมากที่ได้โอกาสในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกานาและกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ในขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ได้รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 22.5 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปริมาณรวม 3.9 ล้านตัน อาทิเช่น ข้าว กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 ประเทศ วางแผนที่จะจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MoU) เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยในระยะแรกจำเป็นต้องหารือร่วมกันในการกลยุทธ์ด้านการเกษตร อีกทั้งยังต้องพิจารณาด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนระหว่างกันเป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325555/cambodia-looks-to-enhance-agriculture-exports-with-ghana/

กัมพูชาสร้าง QR Code ชำระเงิน “Bakong-UPI” หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน

กัมพูชาหวังใช้ KHQR ระหว่างเครือข่ายของ Bakong และเครือข่าย QR Code ของ UnionPay International (UPI) ในการช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนมายังกัมพูชามากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และ UnionPay International (UPI) ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับความร่วมมือในการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามพรมแดน ภายใต้ความร่วมมือนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดในกัมพูชาผ่าน KHQR และชาวกัมพูชาสามารถชำระเงินในรูปแบบเดียวกันในประเทศจีนได้สร้างความสะดวกเป็นอย่างมากในการชำระเงิน โดยทางการกัมพูชาตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 106,875 คนในปี 2022 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเยือนยังกัมพูชาในปีนี้ราว 5 ล้านคน สำหรับการเปิดให้ทำธุรกรรมการชำระเงินด้วย QR Code ข้ามพรมแดนผ่าน KHQR ระหว่างกัมพูชาและจีนมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปี 2023 ขณะที่ในปัจจุบันเริ่มมีการใช้แล้วระหว่างไทย รวมถึงพร้อมที่จะขยายการดำเนินงานของระบบการชำระเงินบน Bakong blockchain ไปยังเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมาร์ จีน และอินเดีย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325944/bakong-upi-cross-border-qr-code-payment-cooperation-to-attract-more-chinese-tourists/

“กรมธุรกิจพลังงาน” ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลัก

นายวุฒิทัต ตันติเวสส รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) ว่า โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือเป็นโครงการซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ที่ให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถขนส่งน้ำมัน ลดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนืออันเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งพลังงานของประเทศที่สำคัญนี้ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งกรมธุรกิจพลังงานจะส่งเสริมให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลักของประเทศ โดยศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันให้เป็นโครงข่าย ศึกษารูปแบบบริหารจัดการระบบท่อแบบ Single Operator ตลอดจนโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันไปยังประเทศ CLMV ต่อไป

ที่มา : https://www.thaimungnews.com/?p=39331

ส่งออก “ปลากระป๋องและแปรรูป” ไปตลาด FTA 5 เดือนโต 15.7% ทูน่ากระป๋องแชมป์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์สินค้าปลากระป๋องและแปรรูป พบว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพของไทย โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และอันดับ 1 ของอาเซียน และในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,145.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 351.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.7% ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เพิ่ม 22.7% ชิลี เพิ่ม 96.7% เปรู เพิ่ม 183.1% จีน เพิ่ม 25.7% กัมพูชา เพิ่ม 11.9% และฟิลิปปินส์ เพิ่ม 138.1%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกการส่งออกสินค้าปลากระป๋องและแปรรูปไปตลาดคู่ FTA พบว่า ปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 17.2% คิดเป็นสัดส่วน 51.6% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปตลาดคู่ FTA ปลาแปรรูป เช่น ปลาทูน่าที่ทำให้สุกแล้ว คาร์เวียร์ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล เพิ่ม 18.2% สัดส่วน 32.6% ปลาซาร์ดีนกระป๋อง เพิ่ม 8.4% สัดส่วน 4.6% และปลากระป๋องอื่นๆ เพิ่ม 6.2% สัดส่วน 11.1%

ที่มา : https://www.commercenewsagency.com/news/6183

‘ผู้ค้าปลีกเวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

บริษัทหลักทรัพย์ เอส เอส ไอ (SSI) คาดการณ์ว่าธุรกิจจะกลับมาทำกำไรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 4 และในปี 2567 เนื่องจากการเร่งเบิกจ่ายเงินให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ค้าปลีกเวียดนามมีแนวโน้มที่จะหันไปสู่การค้าสมัยใหม่ รวมไปถึงการระดมเงินทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์ของผู้ค้าปลีกในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าธุรกิจค้าปลีกได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาแล้ว

ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานสถิติของเวียดนาม (GSO) ระบุว่ารายได้รวมจากการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่ากว่า 3.01 ล้านล้านด่อง

ในขณะเดียวกันจากผลการสำรวจของ ‘Infocus’ พบว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเวียดนาม ลดลงมาอยู่ที่ 54 จุด ในเดือน มิ.ย.66 จากเดือน ก.ค.65 อยู่ที่ 63 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/domestic-retailers-on-path-to-recovery/259465.vnp

‘เวียดนาม’ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมมะพร้าวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และควรได้รับพิจารณาให้เป็นส่วนสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมมะพร้าวในปัจจุบันมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน เพื่อที่จะยกระดับเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้มะพร้าวเป็นพืชอุตสาหกรรมหลักของเวียดนามภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวมากกว่า 188,000 เฮกตาร์ คิดเป็น 1.67% ของพื้นที่ทั่วโลก ในขณะที่ต้นมะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเกษตรกรกว่า 389,530 ครัวเรือน และทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวสูงถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปมะพร้าว จำนวน 854 ราย และอีกกว่า 90 บริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไปทั่วโลก รวมถึงมีการจ้างแรงงานมากกว่า 15,000 คน

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnam-eyes-sustainable-development-for-coconut-industry-post127536.html

‘เมียนมา’ ส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ทะลุ 4 แสนตัน

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses) ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 424,187 ตัน คิดเป็นมูลค่า 333 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567 ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติตั้งแต่เดือน 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.2566 เมียนมาทำการซื้อขายถั่วและถั่วพัลส์ผ่านทางเรือ ประมาณ 369,237 ตัน และผ่านทางชายแดน 54,950 ตัน อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ระบุว่าการส่งออกถั่วและถั่วพัลส์ของเมียนมาปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ถั่วและถั่วพัลส์นับเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ในเมียนมา รองจากข้าว โดยมีสัดส่วน 33% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-exports-over-420kt-of-beans-pulses/