เริ่ม 1 ส.ค.2566 ธุรกรรมทางการเงินของการนำเข้าที่ชายแดนเมียนมา-จีน ผ่านระบบธนาคาร

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ได้ออกกฎระเบียบและข้อบังคับที่ 10/2566 ลงวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ว่าด้วยเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับการนำเข้าที่ชายแดนเมียนมา-จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 โดบเบื้องแต้นเริ่มใช้ระบบการทำธุรกรรมผ่านธนาคารในวันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่จุดผ่านแดนไทย-เมียนมา และระบบนี้จะเริ่มดำเนินการที่ชายแดนเมียนมา-จีน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2566 ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องใช้ระบบธนาคารด้วยสกุลเงิน ‘หยวน’ นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ต้องแสดงรายได้จากการส่งออกหรืองบกำไรขาดทุน หรือรายการเดินบัญชีธนาคาร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/banking-transactions-for-imports-on-myanmar-china-border-to-commence-1-august/#article-title

ตัวแทนอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว ร่วมหารือลดต้นทุนด้านพลังงาน

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สปป.ลาว (ALGI) เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยทางสมาคมได้จัดหลักสูตรทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน รวมถึงการฝึกอบรม ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การดำเนินการตามแผนที่มีอยู่ของบริษัทสำหรับภาคส่วนอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน ณ หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว (LNCCI) ที่ได้รับความร่วมมือกับทางกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ในการถ่ายทอดความรู้

โดยภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสอดคล้องกับนโยบายและพระราชกฤษฎีกาการอนุรักษ์พลังงานของรัฐบาล นอกจากนี้ คู่ค้าในปัจจุบันยังต้องการสินค้าที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นมิตรต่อแรงงานในสายการผลิต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Garment120.php

ม.ค.-เม.ย. กัมพูชาส่งออกเครื่องแต่งกายไปยังสหรัฐฯ ลดลงกว่า 50.32%

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่มูลค่า 643.89 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 50.32 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แม้สถานการณ์การส่งออกจะลดลง แต่สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกสินค้าหมวดเสื้อผ้าของกัมพูชา และเมื่อแยกย่อยผลิตภัณฑ์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า กางเกงขายาวและกางเกงขาสั้น ถือเป็นสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด สร้างรายได้ให้กัมพูชากว่า 230.292 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.39 ของการส่งออกเสื้อผ้าทั้งหมด รองลงมาเสื้อเจอร์ซีย์ ทำรายได้ 122.014 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.63 ตามมาด้วยเสื้อเชิ้ตมูลค่าส่งออกรวม 67.086 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อนละ 9.14 ชุดเด็ก 47.581 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.48 เสื้อยืด 43.340 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 5.91 ชุดนอน 33.623 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 4.58 และเดรส 31.846 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.34 ตามข้อมูลจาก TexPro สำหรับในปี 2022 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่า 4.438 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 34.37 ของการส่งออกโดยรวมของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 12.910 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501313525/50-32-yoy-fall-in-jan-apr-2023-for-cambodian-apparel-exports-to-us/

นายกฯ กัมพูชาคาดเศรษฐกิจภายในประเทศโต 5.6 ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปีนี้ และขยายตัวอีกร้อยละ 6.6 ในปีหน้า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย โดยนายกฯ ได้กล่าวคำแถลงดังกล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษแมนฮัตตัน ณ จังหวัดสวายเรียง แม้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้าจะมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงยังคงเติบโต ภายใต้การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ฮุน เซน กล่าวเสริมว่า แม้การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องคอยติดตามกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อาทิเช่น สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของชาติมหาอำนาจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501313848/pm-hopes-for-5-6-percent-economic-growth-this-year-and-6-6-percent-next-year/

เอดีบี ชี้ ‘อสังหาฯ เวียดนาม’ ส่อผิดนัดชำระหนี้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ในเอเชียว่าดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามปรับตัวลดลงอย่างมากประมาณครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่เดือน ม.ค. และรายงานยังเปิดเผยว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ ช่วงอายุต่างๆ ลดลง ตั้งแต่ 1 มี.ค. จนถึง 2 มิ.ย. เนื่องจากธนาคารกลางเวียดนามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่งคงทางการเงิน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหนี้สินของภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีสัดส่วนหนี้เสียสูงถึง 20% อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองจากภาคพลังงาน นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯ ยังมีสัดส่วนยอดคงค้างพันธบัตรที่ใหญ่ที่สุด โดยคิดเป็น 33.8% ของมูลค่าทั้งหมด

ที่มา : https://vir.com.vn/adb-highlights-default-risks-in-vietnams-property-markets-102853.html

“เวียดนาม” ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอาเซียน

คุณ Le Hoang Anh ผู้อำนวยการกรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศเวียดนาม เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน Google, Temasek และ Bain & Company ในปี 2565 ที่มุ่งเน้น 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม โดยในปีที่แล้ว มีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 460 ล้านคน ทั้งนี้ ตามรายงานของ Statista คาดการณ์ว่าอาเซียนจะบรรลุอัตราการเติบโต 2 เท่าต่อปี และจะเติบโตที่ 11.43% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีนและแคนาดา นอกจานี้ เมื่อศึกษากรณีประเทศเวียดนาม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-fosters-cross-border-e-commerce-in-asean-2157258.html

“สหรัฐฯ” คว่ำบาตรกระทรวงกลาโหมและธนาคารเมียนมา

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่ากองทัพเมียนมาได้อาศัยทรัพยากรจากต่างประเทศ ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานของรัสเซียหลังได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร จึงหันไปซื้อและนำเข้าอาวุธ ชิ้นส่วนและยุทธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อทำการผลิตอาวุธและสนับสนุนการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของกองทัพเมียนมา โดยคาดว่าการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ มีมูลค่าอย่างน้อย 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2564 ทั้งนี้ ธนาคารการค้าต่างประเทศของเมียนมา (MFTB) และธนาคารการลงทุนและการพาณิชย์เมียนมา (MICB) โดนคว่ำบาตรเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี โฆษกกองทัพของเมียนมาไม่ได้กังวลต่อการคว่ำบาตรครั้งใหม่ และมองว่าไม่เป็นปัญหาหากมีธนาคารของรัฐเมียนมาก่อตั้งใหม่

ที่มา : https://www.thaipbsworld.com/us-places-sanctions-on-myanmars-defence-ministry-banks/

ประธานาธิบดี สปป.ลาว แนะฉงฉิ่งส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด เสนอให้ สปป.ลาวและเทศบาลนครฉงชิ่งของจีน ร่วมมือกันขนส่งสินค้าโดยใช้ทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน โดยการใช้ทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าจะถือเป็นการเปิดตลาดให้กับ สปป.ลาว ไปยังพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน นอกจากนี้ ทางประธานาธิบดียังขอให้ทางการฉงชิ่งสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของ สปป.ลาว รวมถึงการเข้ามาลงทุนยัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้น ด้าน Yuan Jiajun ผู้ว่าการมณฑลฉงฉิ่งกล่าวเสริมว่าความสำเร็จในความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และเทศบาลนครฉงชิ่งในปีที่ผ่านมาถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ภายใต้ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างผู้นำของทั้งสองฝ่าย เพื่อหวังยกระดับความร่วมมือทวิภาคีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 500 เมื่อเทียบเป็นรายปี นับตั้งแต่ต้นปีนี้การรถไฟฯ ได้ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปแล้วกว่า 600,000 เมตริกตัน รวมถึงขนส่งสินค้านำเข้ากว่า 510,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 500 ตามรายงานจาก China Railway Kunming Group

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_President119.php

คาด GDP ต่อหัวภายในกัมพูชา ขยายตัว 8.3% ในช่วงปีนี้

Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) คาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP ต่อหัว ภายในประเทศกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,932 ดอลลาร์ ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 1,784 ดอลลาร์ ในช่วงปีก่อน ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวลง โดยทางการกัมพูชายังได้คาดการณ์ว่า GDP ของประเทศจะเติบโตร้อยละ 5.6 ในปีนี้ จากการพัฒนาในทุกภาคส่วน ซึ่งรายงานเศรษฐกิจและการเงินที่ออกโดยธนาคารกลางกัมพูชา (NBC) ยังชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.47 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จากร้อยละ 0.66 ในเดือนก่อนหน้า ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501312162/gdp-per-capita-to-swell-8-3-in-2023-pornmoniroth-says/

คาดปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังกัมพูชา จะกลับมาสู่ภาวะปกติภายในปี 2025

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนยังกัมพูชา คาดว่าจะเกินกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในปี 2025 กล่าวโดย Thong Khon รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว ในระหว่างการประชุมประจำปีของกระทรวงการท่องเที่ยว ณ กรุงพนมเปญ ถึงการที่กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.16 ล้านคนในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 530 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตั้งเป้าจะให้การรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ถึง 4.6 ล้านคนในปี 2023 และเพิ่มขึ้นไปถึง 7 ล้านคน ภายในปี 2025-2026 ซึ่งในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.6 ล้านคนในปี 2019 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 4.92 พันล้านดอลลาร์ โดยถือได้ว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสี่เสาหลักที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา นอกเหนือจากการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม การเกษตรและการก่อสร้าง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501312540/international-tourists-to-cambodia-expected-to-surpass-pre-pandemic-level-in-2025/