พลังงานเผยช่วง 4 ด.ใช้น้ำมัน/วันเพิ่ม 3.1%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รอบ 4 เดือน ของปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 158.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.1 และคาดว่าในครึ่งปีหลัง การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – เมษายน ของน้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 74.63 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 3.4 เนื่องจากเดือนเมษายน 2565 มีการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วสูงเนื่องจากการคลายความกังวลของประชาชนจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COIVD-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลต่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.89 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 92.4 ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.18 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.3 การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 ในส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาณการนำเข้ารวม เฉลี่ยอยู่ที่ 1,098,731 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ปริมาณส่งออกรวม อยู่ที่ 151,539 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 2.6 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,164 ล้านบาท/เดือน ขณะที่ การคาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปี 2566 คาดว่า น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 น้ำมันกลุ่มดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 น้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 โดยการคาดการณ์ของกรมสอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2566 ทุกชนิดจะกลับมาใกล้เคียงกับในปี 2562 ยกเว้นน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เนื่องจากหลายประเทศยังคงมาตรการจำกัดการเดินทาง ประกอบกับสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_563394/

“เวียดนาม” กลายมาเป็นตลาดบริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์ที่น่าสนใจ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

จากรายงานของ KPMG ล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ พบว่าเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 7 ของตลาดเกิดใหม่ชั้นนำที่ให้บริการเช่าพื้นที่สำหรับการวางเซิร์ฟเวอร์ (Server) และคาดการณ์ว่าขนาดตลาดจะพุ่งสูงขึ้นแตะ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 ทั้งนี้ คุณ Meir Tlebalde ผู้อำนวยการของบริษัท KPMG ประจำเวียดนาม กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Vietnam Investment Review ว่าการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับตลาดเทียร์-1 เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ซิดนีย์และโตเกียว คิดเป็นสัดส่วน 82% ของขนาดข้อมูลทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ดี ตลาดเทียร์-1 กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนที่ดินจำนวนมากที่ใช้ในการพัฒนาและต้นทุนของพลังงานทดแทนที่มีราคาสูง เป็นต้น อีกทั้ง จากข้อมูลของ Tlebalde ชี้ให้เห็นว่าตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของตลาดให้บริการเช่าพื้นที่สำหรับการวางเซิร์ฟเวอร์ของเวียดนาม มาจากต้นทุนที่ต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และระบบอินเทอร์เน็ตที่มีศักยภาพ ประกอบกับแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เร่งดีดตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-becomes-attractive-colocation-markets-for-foreign-investors-2151582.html

“เวียดนาม” ความต้องการจ้างงานลดน้อยลง

บริษัท ‘Navigos Group’ ผู้ให้บริการด้านการว่าจ้างพนักงานที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เปิดเผยว่าความต้องการแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำในหลายภาคส่วนของประเทศ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคเทคโนโลยี โดยจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ความต้องการจ้างแรงงานลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และ 16% เมื่อเทียบกับช่วงฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การจัดเลี้ยงและบริการที่พัก เผชิญกับความต้องการจ้างแรงงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 43% แม้ว่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่เคยตกต่ำถึง 55% ในปี 2565 ในขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกจากต่างประเทศ ได้แก่ สิ่งทอและรองเท้า ประสบกับปัญหาการจ้างงานที่ตกต่ำถึง 39% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นและยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอตัวลง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/employment-demand-slumps-navigos-group/

“เมียนมา” เผยเดือน พ.ค. ดันส่งออกพุ่ง 110,000 ตัน ในปีงบประมาณ 66-67

ตามข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวไปยังตลาดต่างประเทศในเดือน พ.ค. มากกว่า 110,000 ตัน ในปีงบประมาณ 2566-2567 รวมทั้งข้าว 46,786 ตัน และปลายข้าว 63,920 ตัน ทั้งนี้ ช่องทางการส่งออกข้าวส่วนใหญ่ของเมียนมาผ่านทางทะเล 102,801 ตัน ในขณะที่ผ่านทางชายแดน 7,905 ตัน นอกจากนี้ เมียนมาได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566 และทำรายได้จากการส่งออกข้าวราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดจีนเป็นประเทศหลักของการส่งออกข้าวของเมียนมา ด้วยปริมาณมากกว่า 775,000 ตัน รองลงมาเบลเยียม 323,000 ตัน บังกลาเทศ 239,000 ตัน และฟิลิปปินส์ 202,000 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมียนมาตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการส่งออกข้าว 10% ต่อปี โดยให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวเกรดสูงและเพิ่มปริมาณการส่งออก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-over-110000-tonnes-of-rice-in-may-2023-2024-fy/#article-title

ธนาคารโลกพร้อมหนุน สปป.ลาว ในการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าภายในประเทศ

ธนาคารโลกได้อนุมัติโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า มูลค่าโครงการรวม 51 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของโครงข่ายไฟฟ้า สปป.ลาว ซึ่งดำเนินการโดย Electricité du Laos (EDL) ที่ขาดทรัพยากรอันจำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาและอัปเกรดระบบ ทำให้ไม่สามารถลงทุนในอุปกรณ์และระบบที่จำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น กล่าวโดย Alex Kremer ผู้จัดการธนาคารโลกประจำ สปป.ลาว ซึ่งคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยของ EDL เพื่อเพิ่มการไหลของพลังงาน ส่งผลทำให้ลดการสูญเสียโอกาสในการจ่ายพลังงานไปยังผู้ใช้บริการ โดยจะส่งผลทำให้ EDL มีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ควบคู่ไปกับการพัฒนากริดไฟฟ้าให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten107_World_y23.php

นายกฯ ฮุน เซน ประเมินการถอนสิทธิพิเศษ EBA ของ EU ไม่กระทบกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคการผลิตของกัมพูชาจะไม่ได้รับผลกระทบจากการถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมกับแรงงานกว่า 16,000 คน ในจังหวัดกำปงสปือเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ซึ่งก่อนหน้ากัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวเนื่องจากประเทศถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) แต่ด้วยกัมพูชามีโครงสร้างรายได้ของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้วยเหตุผลที่ว่ากัมพูชาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการเกี่ยวกับการเมือง และสิทธิมนุษยชน จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้กัมพูชาจะต้องเสียภาษีสำหรับการส่งออกโดยปราศจากสิทธิพิเศษ EBA ไปยังตลาดสหภาพยุโรป โดยในปี 2020 สหภาพยุโรปได้ถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ร้อยละ 20 จากกลุ่มสมาชิก 27 ประเทศ รวมถึงกัมพูชา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข้อมูลการค้าที่เผยแพร่โดยกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา (GDCE) กล่าวเสริมว่าในปี 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มรองเท้า เสื้อผ้า และสินค้าเผื่อการเดินทาง (GFT) ขยายตัวประมาณกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกรวม 10.99 พันล้านดอลลาร์ สู่มูลค่า 12.63 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูญเสียสิทธิพิเศษ EBA ไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว โดยชดเชยด้วยการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501302667/eba-withdrawal-not-to-impact-cambodia-says-pm/

กัมพูชาตั้งเป้าเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ภายในปี 2030

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน มั่นใจว่ากัมพูชาจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนสูง ภายในปี 2030 แม้จะมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย และวิกฤตการสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบัน โดยนายกฯ ได้กล่าวไว้ในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย Royal University of Law and Economics เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถือเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) และคาดว่าจะปรับระดับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูง ภายในปี 2030 โดยเกณฑ์ของธนาคารโลกสำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยสะท้อนมาจากค่า GNI (รายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว) ที่น้อยกว่า 1,025 ดอลลาร์ สำหรับประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนล่างอยู่ระหว่าง 1,026-4,035 ดอลลาร์ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนสูงอยู่ในช่วง 4,037-12,745 ดอลลาร์ต่อหัว ซึ่งเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.5 ในปี 2023 และขยายตัวที่ร้อยละ 6 ในปี 2024 เนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งและการเติบโตที่รวดเร็วในภาคบริการ ตามการรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในเดือนเมษายน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501302664/cambodia-to-become-higher-middle-income-country-by-2030/

เงินเฟ้อ พ.ค. อ่อนแรงรอบ 21 เดือน ขึ้นแค่ 0.53% พณ.กางปัจจัยกดเงินเฟ้อต่ำต่อ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทยเดือนพฤษภาคม 2566 เท่ากับ 107.19 สูงขึ้น 0.53% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลดลง 0.71% จากเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และดัชนีต่ำสุดรอบ 21 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2564 นายวิชานัน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาสินค้าหมวดอาหารสดชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปีนี้ชะลอตัวค่อนข้างมาก และหากเทียบอัตราเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ อิงตัวเลขเดือนเมษายน 2566 พบว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อระดับต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ และเทียบทั่วโลก 136 ประเทศ ไทยต่ำในอันดับ 14 นายวิชานันกล่าวต่อว่า สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 1.55% เทียบเดือนพฤษภาคม 2565 และลบ 0.06% จากเดือนเมษายนปีนี้ที่สูงขึ้น 1.66% ส่งผลให้ 5 เดือนแรก 2566 เงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูง 2.96% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐานสูง 1.98%

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4015097

ถนนเส้นประวัติศาสตร์!‘ทางหลวงหมายเลข 12’เชื่อม 4 ชาติอาเซียน หนุนค้าชายแดน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างเชื่อมโยง โดยทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่นี้ยังเชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านไปยังจังหวัดมุกดาหารเชื่อมต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในขณะที่อีกฝั่งสามารถวิ่งไปยังเมียนมาได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันอีกด้วย ถือเป็นทางเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งยังเป็นทางลัดเชื่อมจังหวัดกาฬสินธุ์-มุกดาหาร ให้ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก และลดระยะการในการเดินทาง ตลอดจนยังช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีการดำเนินการลงทุนแล้ว 3 โครงการ วงเงิน 392 ล้านบาท จากโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯจาก BOI 5 โครงการ วงเงิน 2,102 ล้านบาท และมีธุรกิจตั้งใหม่ 868 ราย วงเงิน 1,655 ล้านบาท

ที่มา : https://www.naewna.com/business/735278

ไฟฟ้าดับ! เวียดนาม กระทบศูนย์กลางการผลิตของธุรกิจข้ามชาติ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาหอการค้าสหภาพยุโรป (EuroCham) ได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าถึงประเด็นการตัดไฟฟ้าบ่อยครั้งและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าต่อสวนอุตสาหกรรมในจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งมีผู้ผลิตระดับโลก อาทิเช่น ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) และซัมซุง (Samsung) ตลอดจนเรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดการกับเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ การไฟฟ้าเวียดนาม เร่งหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการที่จะสามารถจำกัดถึงผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ จากรายงานของสื่อที่อ้างหน่วยงานการไฟฟ้า (EVN) ระบุว่ากำลังไฟฟ้าของโรงงานแคนอนที่ตั้งอยู่ในจังหวัดบั๊กนิญ จะถูกตัดไฟฟ้าตั้งแต่เวลา 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันอังคาร ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังให้กับสวนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 5 แห่งและหมู่บ้านหลายแห่งในจังหวัด ถูกตัดบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาหลายชั่วโมงในช่วงวันแรกของสัปดาห์นี้

ที่มา : https://www.reuters.com/markets/asia/vietnams-power-blackouts-hit-multinationals-manufacturing-hubs-2023-06-05/