“มูดี้ส์-ฟิทช์” ยกระดับเครดิตเวียดนาม สู่ Ba2 เหตุศก.มีเสถียรภาพ

กระทรวงการคลังเวียดนาม เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ว่าทางมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) สถาบันจัดอันดับระดับสากล ประกาศยกระดับความน่าเชื่อถือของสกุลเงินในประเทศระยะยาวของเวียดนามที่ระดับ “Ba2” จาก “Ba3” และได้ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของเวียดนามเป็น “เชิงบวก” สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นต่อผลกระทางเศรษฐกิจภายนอกที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของนโยบายที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับยังคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานใหม่ รวมถึงการกระจายการส่งออกและการไหลเข้าของการลงทุนไปยังอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้ง ผลการจัดอันดับเครดิตยังสะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการคลังของเวียดนามที่แข็งแกร่งขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/moodys-upgrades-vietnams-ratings-to-ba2-outlook-to-stable-post968258.vov

5 เดือนแรกของปีงบฯ 65 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกข้าว พุ่งแตะ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) เผย 5 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมย.-เดือนส.ค.2565) ของปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักจำนวน 889,991 ตัน จากบริษัทผู้ส่งออกข้าวประมาณ 44 แห่ง ทำรายได้เข้าประเทศประมาณ 302 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 731,590 ตันส่งออกผ่านทางทะเล ไปยังประเทศในแอฟริกาและสหภาพยุโรป ในขณะที่กว่า 158,400 ตัน ส่งออกผ่านชายแดนไปยังจีน ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมาเมียนมาส่งออกข้าวไปยัง 20 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นจีน (108,269 ตัน) และฟิลิปปินส์ (95,019 ตัน) ขณะที่ราคาข้าวเมื่อเดือนที่แล้ว ราคาข้าวเกรดพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นเป็น 60,000-90,000 จัตต่อถุง ส่วนราคาข้าวเกรดต่ำจะอยู่ระหว่าง 35,500-50,000 จัตต่อถุง ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาได้ส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-300-mln-from-rice-export-in-past-5-months/#article-title

รัฐบาล สปป.ลาว อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสำรวจที่ดินภายในประเทศ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว อนุญาตให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ เข้าสำรวจที่ดินภายในประเทศ ผ่านการให้บริการของพลเมือง สปป.ลาว ที่ต้องมีใบอนุญาต มีอุปกรณ์สำรวจที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนที่ตั้งสำนักงานที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน และต้องมีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพื่อการให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะทำการให้บริการสำรวจที่ดิน ประเมินราคาที่ดิน และบริการเกี่ยวกับที่ดินอื่นๆ แก่นักลงทุนต่างชาติ ตามที่กำหนดในกฎหมายที่ดิน โดยที่ดินสามารถทำการซื้อขาย หรือเจ้าของสามารถให้สิทธิในการใช้ที่ดินนั้นๆ ได้ ภายใต้เงื่อนไขการถือครองของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักธุรกิจหรือนักลงทุนต่างชาติต้องทำการลงทะเบียนบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ใน สปป.ลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2022/09/07/laos-government-allows-foreign-legal-businesses-to-survey-lands/

MSMEs กัมพูชา กว่า 93% ประสบกับปัญหากำไรลดลง จากผลกระทบโควิด-19

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSMEs) กัมพูชากว่าร้อยละ 93 ประสบกับปัญหากำไรลดลงในช่วงปี 2020-2021 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายงานโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จากการสำรวจผู้ประกอบการ MSMEs จำนวน 500 ราย โดยพบว่ากว่าร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสอบถาม รายงานว่าผลกำไรลดลงกว่าร้อยละ 76-100 ในขณะที่ร้อยละ 27 กำไรลดลงร้อยละ 51-75 ซึ่งในบรรดา MSMEs ที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลได้เข้าเยียวยาช่วยเหลือแล้วร้อยละ 73 ของจำนวน MSMEs ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2021 ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.7 ถึง 2.3 ในปีนี้ อันเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาดำเนินได้ใหม่อีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501146312/93-msmes-suffered-profit-decline-due-to-covid-19-impact/

เงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้ากัมพูชาพุ่งแตะ 3.3 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่าเกือบ 3.3 พันล้านดอลลาร์ จากโครงการการลงทุนต่างประเทศกว่า 123 โครงการ ในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคมปีนี้ ตามข้อมูลของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ครอบคลุมภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ยางรถยนต์ ผลิตภัณฑ์สายไฟ พลาสติก และกระเป๋า เป็นสำคัญ โดยกระแสการลงทุนจากต่างประเทศได้รับแรงหนุนจากกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ รวมถึงข้อตกลงการค้าต่างๆ ของกัมพูชากับประเทศคู่ค้า สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อแนวโน้มการเติบโตและการพัฒนาของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของกัมพูชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกครั้ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501146129/cambodia-gets-3-3b-in-foreign-investment/

ฉุดต้นทุนพุ่งธุรกิจทรุด! กกร.ห่วง “ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย” ขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.กังวลใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนด้านแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บเงิน สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กกร.ต้องติดตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจะชะลอตัวกว่าที่คาดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1.25% และมีโอกาสขยับขึ้นไปสู่ระดับ 1.5% ในช่วงเดือน มี.ค.66

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2494521

จีนและสหภาพยุโรป ยังคงเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าเกษตรกัมพูชา

ตลาดจีนและสหภาพยุโรป ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าเกษตรของกัมพูชา โดยกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรียกร้องให้ผู้ส่งออกและบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับตลาดทั้ง 2 แห่ง ด้าน Song Saran ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสหพันธ์มีความตั้งใจเป็นอย่างสูงในการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดจีนและยุโรป เพื่อรักษาระดับการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชา และตลาดสหภาพยุโรปกินส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 30 จากการที่กัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 169,766 ตัน ไปยังจีนสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 89 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกข้าวสารไปยังสหภาพยุโรปอยู่ที่ปริมาณ 122,842 ตัน มูลค่า 86 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501145311/china-eu-remain-potential-markets-for-cambodias-agri-products/

กองทุนทรัสต์ ADB มอบเงินสนับสนุนกัมพูชา 18.4 ล้านดอลลาร์

กัมพูชารับมอบเงินทุนสนับสนุน 18.4 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนทรัสต์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) สำหรับดำเนินโครงการภายในกัมพูชา 23 โครงการ โดยในปี 2021 ประเทศผู้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนทรัสต์ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย มูลค่า 41.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 31 โครงการ, ศรีลังกา 32.3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 15 โครงการ และฟิจิ 27.9 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 14 โครงการ ซึ่งในปัจจุบันกองทุน ADB Trust Funds ได้รับเงินบริจาคในปี 2021 มูลค่ารวม 353.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการลดลงประมาณร้อยละ 49 จากตัวเลขในปี 2020 โดยกองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก

ที่มา :https://www.khmertimeskh.com/501145513/cambodia-received-18-4m-from-adb-trust-funds-in-2021/

สรท. คงเป้าส่งออก 6-8% ชี้ยังเสี่ยงจาก เงินเฟ้อ-พลังงาน-ค่าระวางเรือสูง อ้อนขอปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนจริง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. เปิดเผยว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค. 65 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,629 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.ขยายตัว 4.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน ก.ค. 65 ขาดดุลเท่ากับ 3,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (139,911 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปีนี้ ได้แก่ 1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง  2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ 3.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง 4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน นอกจากนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3546578

“เวียดนาม” เผย 8 เดือนแรก การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว โต 9.4%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากพิจารณาการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจในเรื่องของการขยายขนาดการผลิต เพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักงาน แสดงให้เห็นว่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ผลิตอุตสาหกรรมหลักบางรายการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ (19.6%), รถยนต์ (13.9%) และอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าศูนย์การผลิตภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มในมทิศทางที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการพยายามหาแนวทางที่จะฟื้นฟูการผลิต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-production-recovers-quickly-with-growth-of-94-in-eight-months/236799.vnp