สถาบันการเงินระหว่างประเทศ มองภาวะเงินเฟ้อของเวียดนาม 4% ปีนี้

องค์กรการเงินระหว่างประเทศรายใหญ่ อาทิ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์สภาวะเงินเฟ้อของเวียดนามในปีนี้แตกต่างกันออกไป แต่คาดว่าตัวเลขเงินเฟ่อจะอยู่ที่ประมาณ 4% ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียแปซิฟิกเหลือ 4.6% ในปีนี้ ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. สำหรับกรณีเวียดนามนั้น ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5% ปีนี้และ 6.7% ในปีหน้า ในขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6% และเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.9% ปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ สานักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ 6.3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 6.5% ในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% ปีนี้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/foreign-financiers-believe-vietnam-likely-to-control-inflation-at-4-this-year-2042469.html

“เวียดนาม” กระทรวงคมนาคมอนุมัติก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายเหนือ-ใต้

กระทรวงคมนาคมเวียดนาม (MoT) ได้อนุมัติโครงการย่อยจำนวน 12 โครงการที่อยู่ในโครงการขนาดใหญ่ที่จะก่อสร้างทางด่วนพิเศษเหนือ-ใต้ ปี 2564-2568 โดยโครงการย่อยดังกล่าวจะครอบคลุมระยะทาง 723.7 กม. ด้วยเม็ดเงินทุนรวมทั้งสิ้นราว 147 ล้านล้านดอง (6.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภาอนุมัติแผนการลงทุนโครงการทางพิเศษสายเหนือ-ใต้ ในปี 2564-2568 เพื่อให้รัฐบาลเริ่มกระบวนการดำเนินงาน ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นเร่งทำงาน โดยมุ่งจัดการเรื่องพื้นที่กว่า 70% ให้กับผู้รับเหมาช่วงก่อนวันที่ 20 พ.ย. เพื่อให้การก่อสร้างเริ่มดำเนินการได้ก่อนสิ้นปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/transport-ministry-approves-northsouth-expressway-subprojects-in-20212025/234201.vnp

รัฐบาล สปป.ลาว ให้คำมั่นว่าจะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

การประชุมของรัฐบาล สปป.ลาว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค.2565)  รัฐบาลได้ให้คำมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศและยืนยันว่าจะไม่ยอมให้มีการผิดนัดชำระหนี้ โดยการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะเป็นหนึ่งใน 13 ภารกิจสำคัญที่รัฐบาลเห็นพ้องร่วมกันในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาด และอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ที่ประชุมรับรองรายงาน 5 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 เป็นการประเมินความสำเร็จของรัฐบาล ฉบับที่ 2 กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและงบประมาณในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้  ฉบับที่ 3 เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของหน่วยแลกเปลี่ยนเงินตรา สถาบันการเงินรายย่อย (ไมโครไฟแนนซ์) โรงรับจำนำ และร้านขายเครื่องประดับ ฉบับที่ 4 การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง การให้บริการเชื้อเพลิง และการปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมัน และฉบับที่ 5 ครอบคลุมถึงการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคไข้เลือดออก

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten141_Govtpledges.php

เมียนมา จับมือ รัสเซีย หารือความร่วมมือด้านการธนาคาร

ธนาคารกลางของรัสเซียและธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ดำเนินการประชุมความร่วมมือด้านการให้บริการของธนาคารครั้งที่ 2 ผ่านลิงก์วิดีโอเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2565 เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้บริการของประชาชน และหารือด้านนโยบายการเงิน การพัฒนาธนาคารให้มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ยังขอความร่วมมือกับธนาคารทั่วประเทศปฏิบัติตามกฎระเบียบ คำสั่ง กฎและขั้นตอนที่ออกโดย CBM อย่างเคร่งครัด

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-russia-discuss-banking-cooperation

H1 กัมพูชาส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 10%

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชารายงานถึงการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 6 เดือนแรกของปี ไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมถึง 3.28 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศผู้นำเข้ารายสำคัญ ที่มูลค่า 1.17 พันล้านดอลลาร์ ไปยังเวียดนาม, 612 ล้านดอลลาร์ ไปยังจีน และ 542 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่น ซึ่งความตกลงการค้าเสรี RCEP ปัจจุบันประกอบด้วย 15 ประเทศ โดยเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และคู่ค้าอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า RCEP ถือเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501118292/cambodias-export-to-other-rcep-countries-up-10-pct-in-h1/

ครึ่งปีแรกกัมพูชาดึงเงินลงทุนจากจีนพุ่งแตะ 1.29 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาดึงดูดการลงทุนจากจีนมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.29 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี ตามการรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) โดยในรายงานระบุเพิ่มเติมว่า จีนยังคงเป็นประเทศที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากที่สุดคิดเป็นกว่าร้อยละ 43 ของเงินลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมดที่มีมูลรวมอยู่ที่ 2.99 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งโครงการลงทุนส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร การผลิต การท่องเที่ยว และการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสำคัญ ในขณะเดียวกัน กรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชาได้รายงานถึงมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับจีนที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.98 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501118255/cambodia-attracts-1-29-billion-investment-from-china-in-h1-of-2022/

ค้าชายแดน-ผ่านแดนคึกคัก ทีทีบีคาดมูลค่าแตะ1ล้านล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics รายงานว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2565 การส่งออกทางการค้าชายแดนอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% ซึ่งเป็นการเติบโตจากประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้าน นำโดยมาเลเซียยังเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าผ่านแดนกับไทยสูงสุด 7.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ส่งออกไปสปป.ลาว และเมียนมา ขยายตัวสูงอยู่ที่ 22% และ 34%ตามลำดับ และคาดทั้งปี 2565 ยอดส่งออกจะอยู่ที่ 1.02 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี การส่งออกไป สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่คิดเป็นสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 31% คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจจะค่อยเป็นค่อยไป เฉพาะ สปป.ลาว กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจด้านการเงินอย่างหนัก ในส่วนของการส่งออกไปเมียนมาที่เติบโตเฉลี่ยเดือนละ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท โดยในครึ่งปีแรก 2565 แม้อยู่ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้กระทบสินค้า ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น แต่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัว เป็นแรงหนุนให้การส่งออกทางการค้าชายแดนทั้งปี 2565 มีมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/668885

การบินเวียดนามฟื้นแล้วคึกคัก ครึ่งปีแรกพุ่ง 74% ผู้โดยสาร 23 ล้านคน

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างอิงจากจากสำนักข่าวเวียดนาม ว่า สายการบินเวียดนามขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ ช่วง 6 เดือนแรก เกือบ 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบปีต่อปี และเมื่อรวมผู้โดยสารต่างประเทศ ตัวเลขพุ่งเป็น 23.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 74.2% ตัวเลขดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากสำนักสำนักการบินพลเรือนของเวียดนาม ซึ่งยังระบุถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศเวียดนาม ช่วง 6 เดือนแรก ว่ามีราว 651,000 ตัน เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ดิ่นห์ เวียต ซอน รองผู้อำนวยการสำนักการบินพลเรือน ระบุว่าตลาดการบินภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวในเดือนเมษายน และเติบโตอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม จากนั้นเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเดือนมิถุนายน

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-986722

“ตลาดฟินเทคเวียดนาม” มูลค่าสูงถึง 18 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567

ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์จากบริษัทการเงิน Robocash Group เปิดเผยว่าตลาดฟินเทค (FinTech) ของเวียดนาม จะมีมูลค่าสูงถึง 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2567 โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนที่เป็นแหล่งจัดหาเงินทุนแก่ธุรกิจฟินเทค รองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ กิจการส่วนใหญ่ราว 93% ดำเนินธุรกิจเงินร่วมลงทุน มุ่งเชื่อมโยงในการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์และกระเป๋าเงินออนไลน์

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการตลาดถือว่ามีการแข่งขันกันสูง ปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 152.8% นับตั้งแต่ปี 2559 และมีผู้ใช้ฟิคเทคหน้าใหม่กว่า 29.5 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ ทุกๆวินาที ชาวเวียดนามจะใช้บริการฟินเทคอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ความต้องการบริการดิจิทัลของคนเวียดนามมีความหลากหลาย อาทิ การทำธุรกรรม การชำระเงินและกระเป๋าเงิน) นับว่าเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1270404/viet-nam-fintech-market-expected-to-reach-18-billion-by-2024.html

“ADB” คงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2565 (Asian Development Outlook 2022 : ADO 2022) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่าคงประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามของปี 2565 อยู่ที่ 6.5% และในปีหน้า 6.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการค้าอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคการผลิต การเดินทางในประเทศและการลงทุนของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม อุปทานอาหารในประเทศยังคงเพียงพอและจะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อในปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-maintains-growth-forecast-for-vietnam/234137.vnp