KE และ CMA ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินแก่ SMEs กัมพูชา

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ร่วมกับสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชา (CMA) ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ และ SMEs ในกัมพูชา โดย KE และ CMA ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและร่วมจัดโปรแกรม/กิจกรรม เช่น การเสนอขาย งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจและการสร้างเครือข่าย การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 43,276 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับกระทรวง โดยสร้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 435,905 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50979560/khmer-enterprise-and-cma-enter-into-partnership-to-boosting-access-to-financial-service-for-smes/

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเห็นชอบแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้แทนกว่า 140 คนจากประเทศสมาชิก MRC (ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม) ได้หารือและได้อนุมัติเอกสารสำคัญ รวมถึงกฎขั้นตอนการดำเนินการของคณะมนตรีแม่น้ำโขงและคณะกรรมการร่วม และยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนสำหรับลุ่มน้ำโขงตอนล่างผู้เข้าร่วมการประชุมยังได้ขอให้หุ้นส่วนการพัฒนาพิจารณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่สำนักเลขาธิการ MRC ต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูง นางบุญ ตัวแทน  สปป.ลาว กล่าวว่า “รัฐบาลลาวให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขงและตั้งเป้าที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยบูรณาการงานของ MRC เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีที่ 9 สำหรับปี 2564-2568 และแผนห้าปีของ ภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน” สปป.ลาวยืนยันความร่วมมือกับประเทศสมาชิก MRC หุ้นส่วนการพัฒนา คู่เจรจา และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ในการดำเนินการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งนี้จะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือในด้านการจัดการน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_MRC_234.php

กระทรวงเกษตรปศุสัตว์ฯ เมียนมา จับมือภาคเอกชน ตั้งเขตขยายพันธุ์ 28 แห่ง ทั่วประเทศ

เพื่อพัฒนาภาคปศุสัตว์ของเมียนมา กระทรวงเกษตรปศุสัตว์และการชลประทานของเมียนมาร่วมมือกับภาคเอกชน ได้จัดตั้งเขตปศุสัตว์ 28 แห่งในแต่ละภูมิภาคของรัฐเพื่อตอบสนองตามความต้องการของตลาด และเป็นการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม การบริโภคผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่สดและเพียงพอ ส่งเสริมการส่งออก การเพิ่มรายได้ของประชาชนและยกระดับการครองชีพ กรมวิจัยปศุสัตว์จะขยายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในภาคปศุสัตว์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย จากสถิติการลงทุนของต่างชาติในภาคเกษตรและประมงคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของเงินลงทุนทั้งหมดต่อปี ดังนั้น ภาคเกษตรจึงเป็นส่วนสำคัญของประเทศที่จะต้องหาหาวิธีที่จะพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 จนถึงเดือนก.ย. 2561 เมียนมามีเงินลงทุนจากต่างประเทศกว่า 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลงทุนในภาคการเกษตร 395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 0.51% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

ที่มา: https://news-eleven.com/article/220848

‘เวียดนาม’ เผยเด็กจบใหม่ อยากได้เงินเดือน 435-650 เหรียญสหรัฐ

กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ เวียดนาม (Adecco) เอเจนซี่จัดหางานแบบครบวงจร เผยผลสำรวจพบว่าผู้จบการศึกษาใหม่ส่วนใหญ่ 44% อยากได้เงินเดือนมากกว่า 10 ล้านดอง (435-650 เหรียญสหรัฐ) และ 31% ต้องการเงินเดือนราว 6-10 ล้านดอง แต่นายจ้างส่วนใหญ่ 51% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเดือนต่ำกว่า 10 ล้านดอง และ 27.5% จ่ายเงินเดือนมากกว่า 10 ล้านดอง ทั้งนี้ พนักงานใหม่ส่วนใหญ่ 88.5% ให้ความสำคัญในเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทนมากที่สุด รองลงมาโอกาสในการฝึกอบรม (87.7%) และโอกาสที่จะเลื่อนตำแหน่ง (73.8%) นอกจากนี้ ผู้ว่าจ้างแสดงความกังวลต่อเด็กเวียดนามจบใหม่ทั้งเรื่องยังขาดทักษะการปฏิสัมพันธ์ การแก้ไขปัญหา (Soft Skills), ตั้งหวังไว้สูงเกินความเป็นจริงและความไม่มั่งคง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจราว 39% รับสมัครงานลดลง โดยประมาณ 19% ลดลงมากกว่า 50%

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/new-graduates-want-monthly-salary-of-435-650-4395281.html

‘เวียดนาม’ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงนโยบาย เหตุดึงประสิทธิภาพของข้อตกลง EVFTA

นาย Giorgio Aliberti เอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำเวียดนาม กล่าวว่าการปรับปรุงระบบนโยบายและกรอบกฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามสามารถบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าโลกได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนดึงดูดเม็ดเงินทุนจากสหภาพยุโรปและเกิดการแข่งขันของธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ เวียดนามมีศักยภาพที่ดีในการดึงดูดการลงทุนจากอียู โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2564 ธุรกิจยุโรปทำการสำรวจดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเวียดนาม (BCI) อยู่ที่ระดับ 73.9 จุด ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ส่งผลกระทบต่อหลายๆ จังหวัดและหัวเมือง ทำให้ดัชนี BCI ปรับตัวลดลง 30 จุด ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 45.8 จุด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-urged-to-improve-policies-for-effective-implementation-of-evfta/216259.vnp

Gallup กล่าวถึงกัมพูชาในแง่ของประเทศ ที่ปลอดภัยที่สุดใน SEA

Gallup บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชั้นนำของโลก รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ากัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในในภูมิภาค ผ่านรายงาน Global and Order Report ประจำปี 2021 โดยจัดอันดับให้กัมพูชาเป็นประเทศที่ปลอดภัยด้านการลงทุนที่สุดอันดับ 3 ในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย (อันดับ 1) และฟิลิปปินส์ (อันดับ 2) ซึ่งเวียดนามถูกจัดให้อยู่ในลำดับเดียวกันกับกัมพูชา โดยการศึกษานี้ใช้การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการมากกว่า 120,000 คน ใน 115 ประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50978852/study-cambodia-is-one-of-safest-countries-in-sea/

คลังเร่งรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบ ปั๊มเงินเข้าระบบหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เผย ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2564 ณ สิ้นเดือนต.ค. 2564 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 269,883 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม และสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ได้เริ่มการเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบประมาณ 2565 มา 1 เดือน (ต.ค. 2564) มีผลการเบิกจ่าย 3,222 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47% ของแผนการเบิกจ่ายสะสม นอกจากนี้ ในปี 2565 จะกำกับเรื่องการปรับลดกรอบการลงทุนระหว่างปีของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นขึ้นโดยกำหนดเงื่อนไขการปรับลดคะแนนประเมินผลการดำเนินงาน กรณีที่รัฐวิสาหกิจปรับลดกรอบการลงทุนเกินกว่า 5% ของกรอบการลงทุนสูงสุดที่ได้รับอนุมัติ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19

ที่มา: https://www.naewna.com/business/619052

พริกกัมพูชาเตรียมเจาะตลาดทั่วโลก ผ่านการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า

GIZ หน่วยงานพัฒนาของเยอรมนี (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit) กำลังทำงานร่วมกับผู้แปรรูปพริกในท้องถิ่นของกัมพูชา เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตและเจาะตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก โดย GIZ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับตัวแทนจากทางรัฐบาลกัมพูชา สมาคมภาคเอกชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และหน่วยงานด้านการพัฒนาเพื่อรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรายงานเกี่ยวกับห่วงโซ่มูลค่าเมล็ดพันธุ์สู่การส่งออกสำหรับพริกในกัมพูชา ซึ่ง GIZ กล่าวว่ารายงานนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตพริก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนและเข้าถึงตลาดระดับภูมิภาคได้มากขึ้น พริกปลูกทั่วราชอาณาจักร โดยไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นปลายทางส่งออกหลักของพริกไทยกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50978806/chilli-value-chain-being-boosted-to-tap-new-global-markets/

พาณิชย์ดันใช้ประโยชน์ FTA ส่งอาหาร-เกษตรแปรรูปบุกจีน

พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ DTN Business Plan Award 2021″ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA” ว่า การดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่เกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูปของไทย จะใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายส่งออกสินค้าไปตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดคู่ FTA ของไทย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปี 2564 นี้ ได้ย้ำให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มุ่งเน้นให้ความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและโอกาสขยายส่งออกไปตลาดคู่ FTA ของไทย โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนที่จีนได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ให้กับสินค้าส่งออกจากไทยแล้ว เช่น อาหาร เกษตร และเกษตรแปรรูป เป็นต้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ขยายส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ด้วย

ที่มา : https://www.naewna.com/business/618221

‘เวียดนาม-อาร์เจนตินา’ จับมือส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างศักยภาพและการส่งเสริมการค้าระหว่างเวียดนาม-อาร์เจนตินา” เมื่อวันที่ 25 พ.ย. นาย Duong Quoc Thanh เอกอัครราชทูตเวียดนาม กล่าวที่ประชุมว่าความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสองประเทศดำเนินด้วยดีมาโดยตลอด นับตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ปัจจัยทางการค้าถือเป็นจุดที่ทำให้ทั้งสองประเทศได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน โดยในปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตเวียดนาม มองว่าการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างประเทศ ยังคงมุ่งเน้นไปที่สินค้าหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อาหารเลี้ยงสัตว์และเภสัชภัณฑ์จากอาร์เจนตินา ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาดสำหรับธุรกิจของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10821802-vietnam-argentina-boost-trade-cooperation.html