กัมพูชาอนุมัติโครงการก่อสร้างเกือบ 3,000 โครงการ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

กระทรวงการจัดการที่ดิน การวางผังเมือง และการก่อสร้างกัมพูชา อนุมัติข้อเสนอการก่อสร้างทั้งหมด 2,901 รายการ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมูลค่าโครงการรวมอยู่ที่ 3,843 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นโครงการเพื่อที่อยู่อาศัย 2,530 โครงการ หรือร้อยละ 87.2 ของข้อเสนอการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งข้อเสนอการก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลง 449 โครงการ หรือลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานล่าสุดจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง รวมถึงการเติบโตของการนำเข้าวัสดุก่อสร้างสะท้อนให้เห็นถึงการกลับมาฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างภายในประเทศอีกครั้ง โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กิจกรรมในภาคการก่อสร้าง และการลงทุนจากต่างประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50947979/nearly-3000-construction-projects-approved-in-first-eight-months-of-the-year/

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 75 โครงการ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 75 โครงการ นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษในช่วง 8 เดือนแรกของปี ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชาที่ออกมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่าโครงการลงทุนภาคเอกชนทั้งหมดมีมูลค่าการลงทุนรวม 1,106 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 52.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโครงการใหม่เหล่านี้คาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 57,000 ตำแหน่ง อยู่ภายใต้อุตสาหกรรมพลังงาน บริการ และการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ โดยปีที่แล้ว CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ไปกว่า 238 โครงการ มูลค่ารวม 8.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50948049/75-investment-projects-approved-in-first-eight-months-this-year/

‘เวียดนาม’ เผยผลสำรวจชี้ธุรกิจมองว่าผลการดำเนินงานจะดีขึ้นในไตรมาสที่ 4

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เผยผลสำรวจในเมืองโฮจิมินห์ พบว่ากิจการส่วนใหญ่ 73.7% มองว่าผลการดำเนินธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แต่ว่ากิจการอีกประมาณ 26.3% มองว่าจะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งทำการสำรวจ 19 จังหวัด โดยธุรกิจส่วนใหญ่ 38.6% ชี้ว่าผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือยังคงประสบปัญหาด้านการผลิตและธุรกิจ อีกทั้ง เมื่อพิจารณาเฉพาะเมืองโฮจิมินห์ พบว่ากิจการเพียงกว่า 9.7% ชี้ว่าการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่กิจการกว่า 90.3% เผชิญกับอุปสรรคต่างๆ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/more-firms-upbeat-about-business-performance-in-q4/209225.vnp

‘DBS’ คาดการณ์การเติบโต GDP ปี 65 โต 8%

DBS ผู้ให้บริการทางการเงินสิงคโปร์ ประมาณการเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 เป็น 8% อันเนื่องมาจากกระแสการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI), การส่งออกและการเติบโตของดิจิทัล นาย Chua Han Teng นักเศรษฐกิจศาสตร์ของธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่าสถานการณ์ในเวียดนามที่เลวร้ายได้สิ้นสุดลงแล้วและเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากอัตราการฉีดวัตซีนสูงขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงเป็นกลไกที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดจดทะเบียนใหม่ยังคงมีความยืดหยุ่น ถึงแม้ว่าธุรกิจต่างชาติจะเผชิญกับการระบาดของไวรัสตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 นอกจากนี้แล้ว เวียดนามได้รับความเสียหายอย่างมากจากการระบาดของไวรัสในปี 2564 หลังจากสามารถควบคุมการระบาดได้ดีเมื่อปี 2563 แต่เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หดตัวอย่างมาก 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-may-reach-8-percent-in-2022-dbs/209232.vnp

ราคาหัวหอมในประเทศพุ่ง ผลจากความต้องการของบังคลาเทศเพิ่มขึ้น

ความต้องการหัวหอมเมียนมาที่เพิ่มขึ้นจากบังกลาเทศ ทำให้ราคาหัวหอมในตลาดเมียนมาสูงขึ้น ในเดือนมี.ค.64 ราคาอยู่ระหว่าง 250-300 จัตต่อ viss (1 viss = 1.6 กิโลกรัม) จากนั้นราคาก็แตะระดับต่ำสุดที่ 200 วอนต่อครั้ง จึงไม่สามารถส่งออกไปยังจีนได้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ด้านบังคลาเทศมักจะนำเข้าหัวหอมจากอินเดีย แต่ในตอนนี้อินเดียได้ระงับการส่งออกหัวหอม ดังนั้นบังคลาเทศจึงหันนำเข้าจากเมียนมาแทน ส่งผลให้ ตอนนี้ราคาหัวหอมได้เพิ่มขึ้นเป็น 500 จัตต่อ viss ปัจจุบันสต๊อกหัวหอมในตลาดมัณฑะเลย์ลดน้อยลง ดังนั้นราคาค้าปลีกจึงอยู่ที่ 700 จัตต่อ viss ปัจจุบันหัวหอมส่วนใหญ่ปลูกในเขตมัณฑะเลย์ มะกเว ย่างกุ้ง เนปิดอว์ และรัฐฉาน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/domestic-onion-price-rises-due-to-demand-from-bangladesh/#article-title

เอกชนวอนรัฐบาลยกเลิกข้อจำกัดโรงงาน

หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (LNCCI) ได้ขอให้คณะทำงานด้านโควิด-19 พิจารณาเปิดโรงงานในเมืองหลวงอีกครั้ง เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจปัจจุบันจนถึงขณะนี้ โรงงานเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดอีกครั้งภายหลังการแพร่กระจายของไวรัสร้ายแรง หอการค้าอธิบายถึงความท้าทายที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและโรงงานผลิตอื่น ๆ เผชิญเนื่องจากการปิดตัวลง โดยชี้ให้เห็นว่านักลงทุนบางรายอาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชาหรือบังคลาเทศ หากการระบาดของไวรัสยังดำเนินต่อไปอีกนาน ดังนั้นการผ่อนคลายนโยบายเกี่ยวกับโรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ การปิดโรงงานที่เกิดจากการระบาดของโควิด ทำให้ธุรกิจต่างๆ สูญเสียโอกาสทางการตลาดและเงินที่จำเป็นในการรักษาการดำเนินงานของพวกเขา ด้วยโครงการฉีดวัคซีนที่กำลังดำเนินไปได้ดี การยกเลิกการจำกัดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวตาม LNCCI

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Private196.php

กัมพูชาส่งออกพริกไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 563%

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกพริกไทยมากกว่า 27,316 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 563 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงเกษตรกัมพูชา โดยพริกไทยจำนวนนี้ส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ เวียดนาม เยอรมนี ไทย ฝรั่งเศส เบลเยียม เป็นสำคัญ ตามรายงานสถิติ เวียดนามถือเป็นผู้นำเข้าพริกไทยรายใหญ่ของกัมพูชาด้วยจำนวน 26,686 ตัน ตามด้วยเยอรมนี 314 ตัน ไทย 180 ตัน ฝรั่งเศส 31 ตัน และเบลเยียมเกือบ 16 ตัน ซึ่งพริกไทยถูกปลูกอยู่ในหลายพื้นที่ของกัมพูชา โดยเฉพาะในจังหวัดกำปงจาม ตบูงขมุม กำปอต และแกบ ซึ่งพริกไทยที่ถูกปลูกในจังหวัดกำปอตถือเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งทางด้านคุณภาพและราคาสูง โดยพริกไทยกัมพูชาได้รับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2016 และจากองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2010

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50947511/pepper-exports-up-nearly-563-percent/

กัมพูชาฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้วกว่า 84.1%

ปัจจุบันยอดรวมการฉีดวัคซีนของประเทศกัมพูชา อยู่ที่ร้อยละ 84.10 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ต.ค.21) ที่อยู่ที่ร้อยละ 84.09 ของประชากรภายในประเทศ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโด๊ส อยู่ที่ 9,913,548 คน ในจำนวนนี้คิดเป็น 9,501,811 คน ได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 โด๊ส รวมถึงได้ทำการฉีดบูสเตอร์หรือฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มนี้ไปแล้วกว่า 907,671 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข แนวหน้าใน 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย โดยได้รายงานเพิ่มเติมว่า 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 2,418 คน ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50947512/cambodia-has-vaccinated-84-10-percent-of-its-entire-population-against-covid-19/

‘ศักดิ์สยาม’ หารือ ‘สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน’ ร่วมมือภาคขนส่ง ยกระดับโครงข่ายคมนาคม-โลจิสติกส์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง Mr.Martin Hayes รองประธานสภาธุรกิจสหภาพยุโรป–อาเซียน และ Mr.Jan Eriksson ประธานสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ ประจำประเทศไทย และคณะเข้าพบ วันนี้ (6 ต.ค. 2564) ว่า ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และการพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมถึงการดำเนินงานเพื่อรองรับการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความปลอดภัยด้านคมนาคม การขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนเป้าหมายและความมุ่งมั่นของกระทรวงคมนาคมที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวนโยบายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ อีกทั้งการสนับสนุนและส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในภาคการขนส่งครอบคลุมทางถนน ทางราง และทางน้ำ รวมทั้งนโยบายในการแก้ปัญหาการจราจร ทั้งการพัฒนาระบบ M-Flow

ที่มา : https://www.trjournalnews.com/35757

สรท.มั่นใจทั้งปี’64 ปิดจ๊อบส่งออก 12% จับตาปัญหาค่าระวางเรือ-โควิด หวั่นส่งผลระยะยาว

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ระบุภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2564 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.93% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 715,416.40 ล้านบาท ขยายตัว 12.83% ทั้งนี้ สรท. มั่นใจว่าการส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 12% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจประเทศคู้ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่องและอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากที่สุดในระยะ 4 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1.สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ และการกระจายวัคซีนยังไมทั่วถึง 2.ค่าระวางเรือมีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงปลายปี 2565 และ 3.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ชิป, เหล็ก ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2974556