เวียดนามเผยราคาอาหารพุ่ง ส่งสัญญาภาวะเงินเฟ้อ

นาย Ðỗ Văn Khuôl ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาบริษัทไซ่ง่อน ฟู้ด กล่าวว่าต้นทุนของปัจจัยการผลิตทั้งมาจากในประเทศและต่างประเทศ ล้วนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงข้าวและอาหารทะเลที่มีผลผลิตลดลง และอีกปัจจัยหนึ่ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าและราคาสูงขึ้นราว 10-25% ในไตรมาสที่ 3-4 ปีนี้ ทั้งนี้ นาย Nguyễn Anh Đứ ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทไซ่ง่อน คอร์ป กล่าวว่าในเดือนเมษายน ซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่แจ้งว่ามีแผนที่จะปรับราคาในเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะน้ำมันสำหรับทำอาหาร นมและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลัง ระบุว่าจะดำเนินติดตามราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและยังเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อรักษาเสถียรภาพของอุปสงค์และอุปทานของตลาด หากจำเป็น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/950553/foodstuff-prices-rise-pose-inflation-threat.html

เวิลด์แบงก์ เผยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเวียดนามอยู่ในระดับที่ดี

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเวียดนามในเดือนเมษายนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม ได้เตือนสัญญาถึงความเสี่ยงหลายด้านต่อเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากการระบาดครั้งล่าสุดของโควิด-19 ในช่วงปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ การผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ขณะที่ การส่งออกมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรที่มีการเติบโตเร็วที่สุด นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังให้ความสำคัญกับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเวียดนาม ด้วยจำนวนวัคซีน 506,000 โดสในเดือนเมษายน เทียบกับจำนวน 50,000 โดสในช่วงปลายเดือนมีนาคม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/wb-most-of-vietnams-economic-indicators-in-april-good/201631.vnp

7 เดือนแรกของปีงบฯ 63-64 ส่งออกข้าวของเมียนมาลดฮวบ 30 ล้านดอลลาร์ฯ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ (พ.ศ. 2563-2564) เมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวกว่า 1.28 ล้านตันมีรายได้ 490.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 512,589 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มูลค่าลดลงเหลือ 33.92 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าหลัก รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ โกตดิวัวร์ แคเมอรูน และกินีตามลำดับ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีสัดส่วนการนำเข้า 20% ส่วนอีก 25% จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแอฟริกา ในปีงบประมาณที่แล้วเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยจีนเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตามความต้องการจากประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มาดากัสการ์ โปแลนด์ กินีเ บลเยียมเซเน กัลอินโดนีเซีย เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การส่งออกประมาณ 16% ผ่านทางชายแดนส่วนที่เหลือส่งออกทางทะเล

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-rice-export-down-by-us-30-mln-in-seven-months-of-this-fy/

กัมพูชาพยายามรักษาปริมาณการค้าระหว่างเกาหลีใต้

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ยังคงเติบโตในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาที่กำลังฟื้นตัวและจากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปีนี้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่ารวม 124 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ส่วนกัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้รวม 194 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีรวม 318 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าที่เกี่ยวกับเดินทาง เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักจากเกาหลี ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858257/cambodia-maintains-exports-to-south-korea/

บริษัทสัญชาติจีนวางแผนเพิ่มกิจกรรมระหว่างประเทศหลังการแพร่ระบาด

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ธุรกิจของทั้งสองชาติจึงเปลี่ยนความสนใจไปยังประเทศทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีการพัฒนาน้อยอย่างกัมพูชา โดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) 10 ประเทศ ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากทั่วโลกลดลงร้อยละ 31 ในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามจีนกลับเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 14.36 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความสำคัญของจีนต่อภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน โดยอาเซียนถูกมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียรองจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมถึง 660 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มชนชั้นกลางก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันจีนถือเป็นแหล่ง FDI ลำดับต้นๆของกัมพูชา โดยมีเงินลงทุนเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2020 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของ FDI จากทางจีนในกัมพูชาถึงร้อยละ 70

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858253/chinese-firms-to-increase-post-pandemic-asean-activity/

สปป.ลาวเพิ่มความเข้มแข็งในการควบคุมชายแดนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโควิด -19 ที่นำเข้า

รัฐบาลลาวได้สั่งการให้ทั่วประเทศเฝ้าระวังชายแดนอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ชาวสปป.ลาวที่ทำงานในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ สามารถกลับไปสปป.ลาวได้ แต่ต้องเข้าที่จุดผ่านแดนอย่างเป็นทางการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองโควิด -19 การปิดชายแดนครั้งนี้ถึงแม้จะทำให้สปป.ลาวรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิแต่ผลเสียที่ตามมาคือเรื่องของการค้าชายแดนที่เป็นช่องทางหลักในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยที่คิดเป็นมูลค่าการค้ากว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด การปิดชายแดนจะทำให้การขนส่งสินค้าเข้ามามีความล่าช้าและต้นทุนในการขนส่งที่สูงขึ้นซึ่งจะย้อนกลับมาสร้างผลกระทบแก่ค่าครองชีพสปปป.ลาว เนื่องจากสปป.ลาวพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลักภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไขควบคู่ไปกับมาตรกรป้องกันที่เข้มงวด

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2021-05/17/c_139950983.htm

กัมพูชาเคาะปรับสีจังหวัดเขตพื้นที่สีแดงลดลง

รัฐบาลกัมพูชามีแผนที่จะปรับลดเขตพื้นที่สีแดงลงให้เหลือเพียงระดับครัวเรือน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตเมืองหลวงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงพนมเปญลดลงอย่างมากจาก 500 รายต่อวันก่อนหน้านี้ มาอยู่ที่ต่ำกว่า 200 รายต่อวัน โดยแผนการคลายล็อกดาวน์ดังกล่าวจะมีผลและถูกนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อมีการประกาศมาตรการบริหารจัดการใหม่กับโควิด-19 ในกรุงพนมเปญฉบับใหม่ ซึ่งยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นติดตามสถานการณ์ด้านสุขภาพและเสบียงอาหารของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกล็อกดาวน์ต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50857943/red-zones-to-be-minimised-to-households/

โครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกัมพูชา แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 50

การก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 โครงการมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ เสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 50 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปีหน้าตามที่โฆษกกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกล่าว ซึ่งถนนมีระยะทาง 52 กิโลเมตรทอดยาวจากถนนแห่งชาติหมายเลข 4 ทางตะวันตกของกรุงพนมเปญและข้ามถนนแห่งชาติหมายเลข 3 และ 2 ไปยังถนนแห่งชาติหมายเลข 1 ทางตะวันออกของเมืองหลวง ซึ่งเชื่อมต่อกับท่าเรือพนมเปญ คาดว่าการก่อสร้างถนนจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปีหน้า โดยโครงการก่อสร้างถนนจะมีส่วนช่วยในเชิงเศรษฐกิจต่อภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ของกัมพูชาไปยังทางหลวงของอาเซียนและระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนและส่งเสริมการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50857557/third-ring-road-50-percent-complete/

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม ยังมีเทคโนโลยีในระดับต่ำ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าการผลิตและการซื้อขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นอย่างมาก การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิสก์ของเวียดนาม มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 50% นับตั้งแต่ปี 2553-2562 โดยกลุ่มสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออกถึง 50.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปี 62 เหตุจากได้รับปัจจัยเชิงบวกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกของสำนักงานการค้าเวียดนาม เผยว่าจากการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลก อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำให้ธุรกิจเวียดนามยกระดับความสามารถการทำธุรกิจผ่านห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ ยังอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 5-10% ซึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดเวียดนามส่วนใหญ่ นำเข้าหรือประกอบในประเทศ จากการใช้ส่วนประกอบที่นำเข้าเป็นส่วนใหญ่

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-electronics-industry-still-low-in-technology-and-value/201568.vnp

เวียดนามเผยเดือนเมษายน ยอดส่งออกข้าว 362 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปริมาณการส่งออกข้าวในเดือนเมษายน ประมาณ 700,000 ตัน เป็นมูลค่า 362 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1.9 ล้านตัน เป็นมูลค่า 1.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.8% ในแง่ปริมาณ แต่เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานของหน่วยงานด้านการแปรรูปและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรเวียดนาม เผยว่าฟิลลิปปินส์เป็นตลาดบริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาด 36.3% ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเภทของข้าวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายอดการส่งออกข้าวขาว คิดเป็น 39.3% ของยอดการค้ารวม รองลงมาข้าวหอมมะลิและข้าวหอม (36%), ข้าวเหนียว (22%) และข้าวประเภทอื่นๆ (3%) นอกจากนี้ ในปี 2564 คาดว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลให้การผลิตอาหารในหลายๆ ประเทศลดลงและความต้องการนำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-earns-362-million-usd-from-rice-exports-in-april/201573.vnp