กัมพูชาส่งออกยางพาราเป็นมูลค่ากว่า 459 ล้านดอลลาร์ในปี 2020

กัมพูชาส่งออกยางพาราถึง 340,000 ตัน ในปี 2020 สร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 459 ล้านดอลลาร์ให้กับประเทศ รายงานโดยกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง ซึ่งกัมพูชามีพื้นที่สำหรับทำสวนยางพารารวม 401,914 เฮกตาร์ โดย 240,811 เฮกตาร์หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ถือเป็นการทำสวนยางพาราในรูปแบบอุตสาหกรรม และ 161,103 เฮกตาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 เป็นการทำสวนยางพาราในครัวเรือน โดยกัมพูชามีการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 282,071 ตัน ในปี 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จาก 217,501 ตันในปี 2018 ซึ่งตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญของกัมพูชาคือมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800901/cambodias-rubber-export-reach-459-million-in-2020/

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินเยียวยาแก่แรงงานอันเนื่องมาจากโควิด-19

รัฐบาลกัมพูชามอบเงินจำนวน 23 ล้านดอลลาร์กระจายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าอันเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะจัดสรรเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่คนงานอีกจำนวน 8,000 ราย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงินเยียวยารอบใหม่ออกมา ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 129 แห่ง ที่จำเป็นต้องปิดกิจการลง โดยในวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมากระทรวงได้ประกาศเปิดรับผู้ที่ต้องการได้รับเบี้ยเลี้ยงจากผลกระทบข้างต้นครั้งที่ 45 ซึ่งมีผู้ยื่นความประสงค์กว่า 8,400 ราย เฉพาะในแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและการท่องเที่ยว โดยกระทรวงกล่าวว่ารัฐบาลจะยังคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นจำนวน 40 ดอลลาร์ต่อเดือน สำหรับคนงานในภาคสิ่งทอและผลิตภัณฑ์การเดินทางต่อไปอีกสามเดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 ในขณะที่เจ้าของโรงงานในภาคเหล่านี้ต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 ดอลลาร์ต่อคนงานจนครบกำหนด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800806/govt-gives-23mil-to-workers-who-lost-jobs-over-pandemic/

ไทยพาณิชย์ เผยนักลงทุนจีนมาแน่ ปักฐานลงทุนไทยเชื่อมั่นศักยภาพ ขยายตลาดสู่อาเซียน

ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยกลุ่มธุรกิจจีน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center: EIC) เผยแพร่รายงานส่องทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยหลังโควิด-19 โดยทำการสำรวจนักธุรกิจจีนตัวจริง พบว่า นักธุรกิจจีนมองไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้ามาลงทุนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งจากมุมมองของนักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว และที่ยังไม่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักธุรกิจในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ปรับกลยุทธ์ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อขยายตลาดท้องถิ่น เชื่อมั่นประเทศไทยเป็นตลาดศักยภาพและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่พร้อมเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้กับจีนในอนาคต ชี้แนวโน้มนักธุรกิจจีนกำลังปรับโครงสร้างการลงทุนในไทยจากอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง สู่การลงทุนขนาดเล็กลง มุ่งเจาะภาคอุตสาหกรรมบริการ และเทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน แนวโน้มใหม่นี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-pr-news/94810-scb-118.html

ซี.พี.เปิดคอมเพล็กซ์ผลิตไก่ในเวียดนาม ใหญ่-ทันสมัยสุดในอาเซียน

รายงานข่าวจากบริษัท ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่น หรือ ซี.พี.เวียดนาม เผยว่า ได้เปิดโครงการคอมเพล็กซ์โรงงาน CPV Food Binh Phuoc  ผลิตไก่ครบวงจร ทั้งอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหารแปรรูปอย่างเป็นทางการ ที่จังหวัดบิ่นห์เฟื้อก ทางตอนใต้ของเวียดนามโดยเป็นโครงการเลี้ยงไก่แปรรูปแบบครบวงจรเพื่อการส่งออกแห่งแรกของเวียดนาม และมีขนาดใหญ่ รวมถึงทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) ซึ่งจะช่วยยกระดับการผลิตอาหารของประเทศเวียดนาม ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับระดับโลก ทั้งนี้ โครงการคอมเพล็กซ์ มีเป้าหมายการผลิตไก่เนื้อ 50 ล้านตัว / ปี ในเฟสแรก (ตั้งแต่ปี 2019-2023) ส่วนเฟสที่ 2 (ตั้งแต่ 2023 เป็นต้นไป) จะเพิ่มกำลังการผลิตขื้นเป็น 100 ล้านตัว / ปี ขณะที่ โครงการเลี้ยงไก่แปรรูปครบวงจรเพื่อการส่งออก CPV FOOD Binh Phuoc ใช้งบประมาณลงทุน 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศเวียดนาม สู่การเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก ด้วยผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะนำเงินเข้าสู่ประเทศเวียดนามประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (ประมาณ 3,100 ล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) ในเฟสที่ 1 และ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(6,200 ล้านบาท) ต่อปีในเฟสที่ 2

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/463063

ราคาส่งออกข้าวเวียดนามพุ่งเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวหัก (Broken Rice) ของเวียดนาม สูงถึง 505 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันเมื่อเทียบกับระดับราคาเฉลี่ยในตลาดโลก ซึ่งเป็นราคาส่งออกข้าวที่สูงที่สุดของเวียดนาม หากนับตั้งแต่ปี 2554 กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) กล่าวว่าสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปยังทั่วโลกนั้น ทำให้เกิดการกักตุนสำรองข้าวเพิ่มขึ้นและส่งออกข้าวลดลง ในขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ยังคงนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 แต่มูลค่าการส่งออกข้าวสูงกว่า ทั้งนี้ รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ระบุว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากฟิลิปปินส์และแอฟริกายังคงนำเข้าข้าวเวียดนาม

ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/71835/vietnam-s-rice-export-prices-reach-record-high-amid-pandemic.html

เวียดนามคาดดัชนีราคาผู้บริโภค ปี 64 ต่ำกว่า 4%

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเวียดนาม ถือเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่สำคัญ และคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 4% ในปี 2564 เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2.91% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในส่วนของดัชนี CPI ปี 2563 ขยายตัว 3.23 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้จากสมัชชาแห่งชาติที่ 4% ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 2.31% ทั้งนี้ ถึงแม้จะเผชิญกับการระบาดของโรคไวรัสครั้งใหญ่ของโลก ไข้หวัดหมูแอฟริกันและภัยธรรมชาติในปี 2562 แต่ว่าเวียดนามยังคงประสบความสำเร็จในแง่ของเศรษฐกิจ การดำเนินงานที่ดีของภาครัฐฯ และการควบคุมทางด้านอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เรื่องวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและในประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-consumer-prices-forecast-to-stay-below-4-in-2021-315763.html

สปป.ลาวปรับปรุงถนนหมายเลข 13 North

ถนนหมายเลข 13 North กำลังได้รับการปรับปรุงในบางจุดที่ได้รับความเสียหาย โดยการพัฒนาจะเกิดขึ้นในระยะทาง 58 กม. ระหว่างทางแยกสียุทธในเวียงจันทน์และโพนหงในเวียงจันทน์ การปรับปรุงจะใช้เวลาสามปีปัจจุบันดำเนินการไปแล้วประมาณหนึ่งปี ถนนหมายเลข 13 North ถือเป็นถนนเส้นที่มีความสำคัญต่อสปป.ลาวอย่างมากและจำเป็นต้องได้รับการบำรุงรักษาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถนนสายดังกล่าวเป็นสายหลักในการขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกไปยังจีนและยังเป็นถนนที่ใช้ลำเรียงสินค้าจากรอบนอกสปป.ลาวเข้ามายังเมืองหลวงของสปป.ลาว ก่อนหน้านี้ถนนหมายเลข 13 North ได้รับเสียหายจนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการขนส่ง การปรับปรุงแก้ไขถนนหมายเลข 13 North จะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้ระบบคมนาคมมีประสิทธิภาพมากขึ้นสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติสปป.ลาว ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของสปป.ลาวในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Upgrade_3.php

รัฐบาลกัมพูชารายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าภาคการเกษตรในปี 2020

กัมพูชาส่งออกสินค้าภาคการเกษตรอยู่ที่ 4.037 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 ตามข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ข้าวสาร ผลิตภัณฑ์จากการสีข้าว มันสำปะหลัง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะม่วง ยางพารา กล้วย ลำไย พริกไทย รังนก สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอื่น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่าข้าวถือเป็นส่วนสำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชา โดยกัมพูชามีพื้นที่นาประมาณ 3.26 ล้านเฮกตาร์ที่ได้ทำการเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.34 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของปี 2020 อยู่ที่ 10.93 ล้านตัน เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศโดยมีข้าวเหลือเพื่อการส่งออกถึง 5.9 ล้านตัน โดยกัมพูชาทำการส่งออกข้าวเปลือกสูงถึง 2.89 ล้านตันในปี 2020 สร้างมูลค่ารวม 723.48 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800406/ministry-shares-2020-agri-export-numbers/

ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลกัมพูชาลดภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนลง

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนะให้ลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลไฟฟ้าและชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคการผลิตลง โดยจากการสำรวจของกระทรวงฯ พบว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าและชิ้นส่วนของกัมพูชาในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 15 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนามตรึงไว้ที่ร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าหากกัมพูชาต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านการผลิตที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการส่งออกและยังส่งเสริมการกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลร่วมด้วยเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับบริษัทข้ามชาติที่จะทำการลงทุนหรือทำการพัฒนาในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลได้เคลื่อนไหวในการลดอัตราภาษีในสินค้าบางรายการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาได้ประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีพิเศษสำหรับสินค้า 35 ประเภท จุดประสงค์คือเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นเนื่องจากการเติบโตของภาคส่วนเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800405/experts-cite-need-for-import-tariff-reductions/

เมียนมาตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 64 โต 6%

รัฐบาลเมียนมาคาดเศรษฐกิจจะมีอัตราการเติบโต 6% ในปีงบประมาณ 63-64 ตามคำแถลงงบประมาณของกระทรวงการวางแผนการเงินและอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในภาคเกษตรกรรม 2.6% ภาคอุตสาหกรรม 6.5% และภาคบริการ 7.4% ในปีนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่ารัฐบาลควรพิจารณาจัดลำดับความสำคัญให้กับภาคการเกษตรเพื่อสร้างการเติบโตเป็นกลยุทธ์ที่ดี ภาคเครื่องนุ่งห่มของเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด -19 ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานซึ่งทำให้คนงานหลายพันคนตกงาน ด้าน นาย อู หม่อง หม่อง เล รองประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมากล่าวว่า ควรปลูกพืชผลที่ทำกำไรและต้นทุนให้ต่ำ สร้างตลาดสำหรับผู้ขายและผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ควรให้ความสำคัญกับการประมงมากขึ้นเพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมทางทะเลเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรขยายไปสู่ตลาดส่งออกใหม่ ๆ ด้วยการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-targets-6pc-economic-growth-2021.html