กัมพูชาวางมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวร่วมกับไทย

คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชา – ไทย ได้หารือเกี่ยวกับการหาแนวทางแก้ไขและดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชานำโดยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการท่องเที่ยวและความร่วมมือระหว่างประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พบปะกันผ่านการประชุมทางไกล โดยแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกัมพูชาและไทยได้วางกลยุทธ์ในกิจกรรมช่วยเหลือและแผนในอนาคตซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ “mitigation phase”, “early recovery” และ “post-COVID-19 crises recovery plan” โดยทำการกำหนดจังหวัดนำร่องโครงการเพื่อจัดเตรียมแพ็คเกจทัวร์ และเตรียมการต้อนรับ การจัดการที่ดี ภายใต้ความเหมาะสมและปลอดภัย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50756873/measures-to-restore-regional-tourism/

โครงการลงทุนในกัมพูชามูลค่าราว 60 ล้านดอลลาร์ ได้รับอนุญาต

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ไฟเขียวโครงการลงทุนใหม่ 5 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวมราว 58 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติใหม่จะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้ประมาณ 800 ตำแหน่ง ซึ่งโครงการทั้ง 5 นี้ครอบคลุมถึงการผลิตไอศกรีม กล่องกระดาษ ท่อน้ำทุกชนิด แว่นสายตา และการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการเป็นของ บริษัท Tokyo Happy Ice Cream Co. , Ltd. , Rong Xing Paper Industrial Co. , Ltd. , K&K Pipe (Cambodia) Co. , Ltd. , Cam-Icare Co. , Ltd. และ Ray Power Supply Co. , Ltd. ซึ่งโรงงานจะตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงพนมเปญ จังหวัดกัมปงสปือ พระสีหนุ และบันเตียเมียนเจย โดยการลงทุนดังกล่าวท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค การเมือง และสังคมของกัมพูชา แม้ว่าจะถูกคุกคามจากการระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50756987/five-more-investment-projects-worth-60-million-licensed/

อาเซียนจ่อลงนามข้อตกลงยานยนต์-วัสดุก่อสร้างในปีนี้

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนไฟเขียวลงนามข้อตกลงยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้างในปีนี้ คาดส่งผลดีต่อการส่งออกไทยแน่ เหตุสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำอีก เผยยังบรรลุข้อตกลงด้านยาแผนโบราณ-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมย้ำเปิดใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 20 ก.ย.นี้ และจับมือภาคเอกชนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 52 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่าอาเซียนสามารถบรรลุผลการเจรจาข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง โดยพร้อมที่จะลงนามภายในปีนี้ ซึ่งหากข้อตกลงทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากเมื่อสินค้าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้ว ไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้าอีก ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ายานยนต์ไปยังอาเซียน มูลค่า 5,071.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไปยังอาเซียน มูลค่า 473.17 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000087542

“ส.ว.สถิตย์” แนะตั้งสหภาพศุลกากรในกลุ่ม CLMV สร้างกลไกพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น

“ส.ว.สถิตย์” แนะทางรอดยุคโควิด-19 เสนอตั้งสหภาพศุลกากรในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย ทลายอุปสรรคทางการค้าชายแดนระหว่างกัน สร้างกลไกการพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีห่วงโซ่การผลิตครอบคลุมประชากรจำนวนมาก และใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ุ สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อรายงานเรื่องข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ของคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของวุฒิสภาว่า สงครามการค้า และโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องหันกลับมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น พึ่งตนเอง สำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง ไทยควรจะเร่งประสานเศรษฐกิจรวมกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย (CLMVT: Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam, Thai) เพื่อสร้างกลไกในการพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น สินค้าไทยเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และผลิตจากวัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ดร.สถิตย์ เสนอว่า เศรษฐกิจของกลุ่ม CLMVT ควรพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) กล่าวคือ นอกจากเสรีในการนำเข้า-ส่งออกกันแล้ว อัตราภาษีศุลกากร ที่นำเข้ามาในแต่ละประเทศของสหภาพศุลกากรจะเป็นอัตราเดียวกัน

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000087276

เวียดนามมีอัตราการเติบโตของ SMEs สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการสำรวจของกลุ่มธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (UOB) จากสิงคโปร์ และ ‘Accenture’ บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินอย่างมืออาชีพจากไอริช รวมถึง ‘Dun & Bradstreet’ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าผู้ประกอบการ SMEs ในเวียดนาม ส่วนใหญ่ร้อยละ 63 ตั้งเป้าที่จะลงทุนในเทคโนโลยี ตามมาด้วยร้อยละ 37 ลงทุนในเครื่องจักรและโรงงาน และร้อยละ 49 ส่งเสริมทักษะของพนักงาน อีกทั้ง ธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 46 เลื่อนแผนงานออกไป เหตุโควิด-19 ในขณะที่ ร้อยละ 2 ไม่มีแผนการดำเนินงาน ตามการสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้ของผู้ประกอบการชาวเวียดนาม SMEs มองว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 90 คาดว่าในปี 2563 รายได้หดตัวลง เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ ด้านมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่านักธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 68 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของภาครัฐฯ เวียดนาม มากที่สุด รองลงมาไทย (47%) และ อินโดนีเซีย (45%) ตามลำดับ

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-possesses-the-highest-rate-of-smes-in-southeast-asia-23798.html

บริษัทเหล็กเวียดนาม “Hoa Phat Steel Sheet” ได้เปรียบการส่งออกจาก FTA

ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA), ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวทั้งหมด ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบต่อบริษัทในแง่ภาษีศุลกากรจากยุโรป อาเซียน จีนและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเมื่อเร็วๆนี้ ได้ร่วมลงนามสัญญาหลายฉบับ เพื่อส่งออกสินค้าไปยังตลาดเอเชีย ยุโรปและเม็กซิโก เป็นต้น ด้วยจำนวนแผ่นเหล็ก 10,000 ตันไปยังไทย ทั้งนี้ โรงงาน Dung Quat ของหวาฟัต ประสบความสำเร็จในการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตของอิตาลี นอกจากนี้ สินค้าในปัจจุบันได้วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ยุโรป ออสเตรเลีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชาและประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/hoa-phat-steel-sheet-enjoying-export-advantages-from-ftas-417781.vov

รัฐบาลสปป.ลาวและUN Habitat ดำเนินการระยะสองในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ

รัฐบาลสปป.ลาวและUN Habitat จะเริ่มดำเนินการในระยะที่สองของโครงการ Adaptation Fund ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตกในภาคกลางของสปป.ลาว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำให้เข้ากับการวางผังเมืองรวมถึงมีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง บันทึกความเข้าใจ (MOU) สำหรับกองทุนดำเนินการในระยะที่สองของโครงการ Adaptation Fund ได้รับความร่วมมือระหว่างกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งและมูลนิธิที่อยู่อาศัยของสหประชาชาติ ซึ่งภายในงานนางวิไลคำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของน้ำ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และเธอหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเข้าถึงผู้คนที่เปราะบางมากขึ้น การพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำดังกล่าว จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ในการทำให้แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตกในภาคกลางของสปป.ลาว แข็งแกร่งและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกจสปป.ลาวต่อไป

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry_165.php

สปป.ลาวและญี่ปุ่นลงนามข้อตกลงเปิดช่องทางการเดินทางระหว่างประเทศ

ญี่ปุ่นและสปป.ลาวลงนามข้อตกลงที่จะให้ชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวสามารถกลับมาเดินทางระหว่างสองประเทศได้ ซึ่งคาดการณ์จะเริ่มทำได้เร็วที่สุดในเดือนกันยายน ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่มีอัตราการเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่ดีนอกเหนือจากความร่วมมือกับญี่ปุ่น สปป.ลาวยังได้ลงนามความร่วมมือระหว่างจีนและกลุ่มแม่น้ำโขลงที่ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว ไทยและเวียดนาม การร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมสร้างในด้านความมั่นคงด้านอาหารและที่สำคัญช่วยส่งเสริมการค้าของสปป.ลาว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขลงต้องหารือถึงแนวทางการป้องการแพร่ระบาดระลอกใหม่และมาตราการบรรเทาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง ซึ่งไทย จีน ญี่ปุ่น พร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขลงทั้งในด้านเงินทุน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรับมือ COVID-19 เพื่อให้เศรษฐกิจสปป.ลาวกลับมาเติบโตได้ตามเป้าอีกครั้ง 

ที่มา : https://www.ttrweekly.com/site/2020/08/laos-and-japan-to-open-travel-channel/

DICA และ MIC ออกแนวปฏิบัติในการรับชาวต่างชาติเข้าทำธุรกิจในประเทศ

คณะกรรมการด้านการลงทุนและจดทะเบียนธุรกิจ (DICA) และคณะกรรมการการลงทุนของประเทศเมียนมา (MIC) ได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ต้องการกลับไปยังเมียนมาเพื่อทำธุรกิจเร่งด่วนในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ซึ่งทั้งสององค์กรได้ร้องขอให้รัฐบาลอนุญาตให้พนักงานชาวต่างชาติที่ทำงานในบริษัทที่จดทะเบียนกับ MIC และ Myanmar Companies Online (MyCO) ให้บินกลับเข้าไปในเมียนมา ชาวต่างชาติที่ต้องการบินกลับเมียนมาจากต่างประเทศจะได้รับการตรวจและคัดกรองโดยกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศ (MIFER) ว่ามีธุระด่วนในประเทศจริงหรือไม่ เนื่องปัจจุบันกระทรวงแรงงานการตรวจคนเข้าเมืองและประชากรไม่ได้ออกวีซ่าขาเข้าสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติที่ทำงานในบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้ MIC และ MyCO และรวมถึงเจ้าหน้าที่และสมาชิกในครอบครัวจะต้องติดต่อสถานทูตเมียนมาในประเทศของตนเสียก่อน สำหรับการบินเข้าประเทศ MIC และ DICA จะร่วมคัดกรองกรองผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เดินทางที่ได้รับแจ้งจากสถานทูตเมียนมา กระทรวงการต่างประเทศและ MIFER

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/dica-mic-issue-guidelines-returning-foreign-executives.html

เมียนมามีแผนสร้างสะพานในอิระวดี-รัฐฉาน

จากข้อมูลของกระทรวงการก่อสร้าง สะพานปะเต็ง 2 (Pathein 2) ซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับถนน Mahabandoola ของเมืองปะเต็ง กับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำงะวูน (Ngawun) ในเขตอิรวดีจะเปิดให้สัญจรใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2563 สะพานถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการขยายที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม รถโดยสารจะสามารถใช้สะพานได้ระหว่างเวลา 05.00 น. ถึง 19.00 น. ก่อนการเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนหน้า สะพานมีความยาว 725 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ขณะนี้กระทรวงการก่อสร้างกำลังขออนุมัติเพื่อสร้างสะพานแห่งใหม่ในเมือง Thanlwin ชองรัฐฉานโดยใช้เงินกู้ 8.4 ล้านยูโรจากออสเตรีย Thanlwin Bridge ปัจจุบันเชื่อมระหว่างเมียนมาตอนกลางกับรัฐฉานถูกใช้งานมาตั้งแต่ปี 2542 ทำให้สามารถรองรับน้ำหนักได้ครั้งละ 16 ตันเท่านั้นเมื่อเทียบกับความจุเดิมที่ 30 ตัน ดังนั้นต้องย้ายสินค้าจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ไปยังรถขนาดเล็กเพื่อให้สินค้าผ่านได้ต้องใช้เวลานานเกินและไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ สะพานสายใหม่มีความยาว 870 ฟุตและรับน้ำหนักได้สูงสุด 60 ตัน เงินกู้ซึ่งได้รับการอนุมัติจากธนาคาร Uni Credit ของออสเตรียจะปลอดดอกเบี้ยและมีกำหนดชำระคืนภายใน 28.5 ปี ซึ่งรวมระยะเวลาผ่อนผัน 14 ปี

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/new-bridge-infrastructure-planned-ayeyarwady-shan.html