เวียดนาม ตลาดปราบเซียน เหตุใดฟาสต์ฟูดตะวันตกแจ้งเกิดไม่ได้?

ธุรกิจ QSR (quick service restaurant) หรือที่เรียกว่า ธุรกิจฟาสต์ฟูดนั้น มีมูลค่ามากกว่า 651,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่างแมคโดนัลด์และเบเกอร์คิง มักจะได้รับการต้อนรับและธุรกิจเติบโตได้ดี จวบจนปัจจุบัน แต่ที่เวียดนามนั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เมื่อในปี 2014 แมคโดนัลด์เข้ามาเปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความคึกคักก็ซาลง จากที่แมคโดนัลด์เคยตั้งเป้าจะขยายธุรกิจในเวียดนามให้ครบ 100 สาขา ภายใน 10 ปี จนถึงขณะนี้ แมคโดนัลด์ในเวียดนามมีเพียง 17 สาขาเท่านั้น ด้านเบอร์เกอร์คิงก็ไม่ต่างกันมากนัก มีสาเหตุมาจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากร้านอาหารท้องถิ่นและร้านต่างประเทศมีจำนวนมาก รวมไปถึงวัฒนธรรมอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ เฝอ และบั๋นหมี่ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ รสชาติและราคา หากไม่พูดถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว ฟาสต์ฟูดตะวันตกไม่ได้ถูกปากลูกค้าชาวเวียดนามนัก เพราะพวกเขาคุ้นชินกับเฝอและบั๋นหมี่มากกว่า ทั้งนี้ ช่วงปี 2559-2561 จำนวนผู้บริโภคเวียดนามใช้บริการร้านฟาสต์ฟูดลดลง 31% และเดินเข้าร้านอาหารข้างทางมากขึ้น 70% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีฟาสต์ฟูดจากต่างประเทศแบรนด์ไหนที่ถอดใจ ยังมีความพยายามจะปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกกลยุทธ์จนพิชิตตลาดเวียดนามได้หรือไม่ คงต้องจับตาดู

ที่มา : https://www.smethailandclub.com/aec-3656-id.html

FinTech เวียดนาม โอกาสที่ Startup ไทยควรรีบคว้า

ในทุกๆปี องค์กรด้านการสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพ (BSSC) จะจัดงาน Vietnam Startup Wheel ได้จัดงานประกวดสตาร์ทอัพใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งในปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกอบการและธุรกิจสตาร์ทอัพราว 4,000 บริษัท และประชาชนกว่า 90,000 คน โดยงานดังกล่าวสร้างมูลค่าสนับสนุนการลงทุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติเวียดนามยังได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟินเทค เพื่อให้การสนับสนุนรัฐบาลในการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ของฟินเทคในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้ธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามมีตลาดที่ชัดเจน เฟื่องฟูและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เวียดนามยังคงเผชิญกับความท้าทายของธุรกิจ FinTech โดยสรุปได้ดังนี้ ภาวะขาดแคลนการระดมทุน, ความปลอดภัยในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน, กระบวนการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจด้านฟินเทคยังคงมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน และรัฐบาลยังขาดแคลนบุคลากรและหน่วยงานในการสนับสนุนหรือความเข้าใจในระบบของธุรกิจดังกล่าว เป็นต้น นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจฟินเทคในเวียดนาม มองว่ามีศักยภาพด้านธุรกิจฟินเทคสตาร์ทอัพในเวียดนามนับเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการลงทุนและขยายธุรกิจมายังเวียดนาม โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจการชำระเงินดิจิทัล การซื้อของออนไลน์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและนิติบุคคล ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการเกษตร สำหรับผู้ที่จะเข้าตลาดฟินเทคสตาร์ทอัพเวียดนามจำเป็นต้องศึกษาบริบทของประเทศ และจำเป็นต้องผ่านการรับรองจากรัฐบาลเวียดนามซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพยากรทั้งหมดของประเทศเสมอ

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/fintech-startup-vietnam

ธุรกิจขนส่งและยานยนต์

ธุรกิจขนส่งและธุรกิจยานยนต์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เป็นปกติที่ประเทศเปิดใหม่ มักจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะก่อน ในเมียนมาทุกอย่างกำลังเริ่มต้นใหม่ เพียงแต่ต่างจากไทยอาจเวลาถึง 30 ปีกว่าจะเปลี่ยนเป็นประเทศกำลังพัฒนา ในเมียนมาใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปก่อนล่วงที่เมียนมาเปลี่ยน จึงทำให้เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เหมือนเวียดนามนั่นเอง แต่ในชนบทยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่มีเงินทุนสำรองมากนัก จึงเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากกันมากขึ้น ในแง่ของธุรกิจยานยนต์ ที่นี่ในอดีตที่ผ่านมา ไม่อนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ ตั้งแต่ ปี 2000 เพราะในยุคก่อนนั้นมีการนำเข้ารถเก่าญี่ปุ่นจากประเทศไทยเข้าไปเยอะ และเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันจะได้รับการอุ้มจากรัฐบาล ราคาตลาดมืดลิตรละประมาณ 1,000-1,200 Ks/ลิตร แต่ราคารัฐบาลขายให้ประชาชนที่มีรถยนต์ โดยการจำกัดรถ 1 คัน ให้เติมวันละ 4 แกลลอน/ละ 400-600 Ks รถ 1 คัน สามารถวิ่งเข้าไปเติมน้ำมันแล้วเก็บไว้ขายสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เลย ดังนั้นจึงห้ามนำเข้ารถยนต์ พอในเดือน ส.ค. 2007 รัฐบาลทนต่อการขาดทุนไม่ไหวจึงประกาศงดการสนับสนุนอีกต่อไป

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/scoop/561437

ขนส่งสินค้าผ่านแดนไปเวียดนาม โอกาสที่ไม่ควรมองผ่าน

โดย กมลมาลย์ แจ้งล้อม I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ I SCBS

การค้าผ่านแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าผ่านแดนสำคัญ มีสัดส่วนปริมาณการค้ากว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2014-2018) การค้าชายแดนไปเมียนมา ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย ขยายตัวราว 3% CAGR ขณะที่ การค้าผ่านแดนไปจีนตอนใต้ สิงคโปร์และเวียดนาม เติบโตกว่า 12%CAGR โดยในปี 2018 ปริมาณการค้าผ่านแดนไปเวียดนามสูงถึง 1.3 ล้านตัน หรือมีสัดส่วนกว่า 60% ของปริมาณการค้าผ่านแดนโดยรวม

เวียดนามจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและอบแห่ง, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกฮอล์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในระยะกลาง (2019-2021) การค้าผ่านแดนของไทยกับเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 30%CAGR ตามทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามที่เติยโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการผลิตและการบริโภคภาคในประเทศ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติในการตั้งฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะนักลงทุนจีนที่มีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้นเพื่อเลี่ยงสงครามการค้า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศ

ด้านการบริโภคภายในประเทศ ด้วยจำนวนประชากรชาวเวียดนามที่มากถึง 90 ล้านคนและราว 15% เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพ รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายอย่างรวดเร็วของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)

ที่ผ่านมา ปัญหาสภาพถนน ความแตกต่างของกฎหมายขนส่ง และความซับซ้อนของพิธีการศุลกากร ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนาม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่ง โดยส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปเวียดนามใช้เส้นทาง R12 เป็นหลัก เนื่องจากระยะทางที่สั้นกว่าเส้นทางอื่นและเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังนครหนานหนิงมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีนใต้

เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ในเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงเริ่มเปิดเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนอย่างเป็นทางการภายใต้ข้อตกลง GMS-CBTA ซึ่ง อีไอซี ประเมินว่า จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงราว 45% และลดต้นทุนการขนส่งลงกว่า 20% โดยกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ (GMS-CBTA) เพื่อลดข้อจำกัดและอุปสรรคของการขนส่นผ่านแดนรูปแบบเดิม โดยครอบคลุทั้งทางด้านพิธีการศุลกากรและระบบการจราจร เช่น การดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (SWI) การปฏิบัติการร่วมกันในการตรวจสอบสินค้า ณ จุดผ่านแดน (SSI) และการกำหนดเส้นทางเดินรถที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งตามกรอบความตกลงนี้จะอนุญาตให้รถบรรทุกสัญชาติไทยสามารถขนส่งสินค้าไปถึงเวียดนามได้โดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าที่พรมแดนลาว

จากการเติบโตของการค้าผ่านแดนที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ผู้ประกอบการเติบโตเฉลี่ยราว 10% และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20% และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยของผู้ประกอบการภายใต้โควตา GMS-CBTA จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง จากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่าจำนวนรถขนส่งสินค้าที่จดทะเบียนไม่ได้แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนรถขนส่งสินค้าน้อยกว่า 30 คันเฉลี่ยสูงถึงราว 23% และการเติบโตของรายได้ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนรถขนส่งสินค้าระหว่าง 30-100 คันอยู่ที่ 13%

หลังจากเปิดการเดินรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภายใต้กรอบความตกลง GMS-CBTA อีไอซี ประเมินว่าผู้ประกอบการที่ถือโควตาจะสามารถควบคุมต้นทุนการขนส่งและลดระยะเวลาในการขนส่งให้แข่งขันได้มากขึ้น จากการลดการพึ่งพาผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของธุรกิจนี้ ได้แก่

  1. ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  2. การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และจากผู้ประกอบการต่างชาติภายใต้โควตา GMS-CBTA
  3. การขยายโครงข่ายขนส่งระบบรางในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6139

FTA เวียดนาม-อียู ความทะเยอทะยานที่สัมฤทธิ์ผล

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้วางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับประเทศอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ “การทำเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EU-VN FTA)” เหตุผลเพราะช่วยเปิดตลาดสหภาพยุโรป สำหรับสินค้าเวียดนามให้มีความได้เปรียบคู่แข่งมากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 เกี่ยวกับประเด็นการเปิดตลาดสินค้า การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าทั้งสองประเทศ เป็นต้น จะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมายให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสหภาพยุโรป อีกทั้ง เวียดนามยังใช้สิทธิ GSP จะเป็นโอกาสที่เวียดนามสามารถเข้าตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่า GSP ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า (โทรศัพท์มือถือ) รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น

ที่มา : https://bangkokbanksme.com/en/fta-vietnam-eu

วันนี้ที่ นิคมอุตสาหกรรม ติลาว่า

การเปลี่ยนแปลงของนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือติลาว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากๆ พบว่ามีนักลงทุนจากไทย ได้ไปลงทุนสร้างโรงงานอยู่หลายโรงงานเพียงแต่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ส่วนรายขนาดกลางลงมา ยังไม่ค่อยมี ซึ่งต่างจากอดีตที่คุณภาพไม่ค่อยดีหรือใช้งานได้ไม่ถึงครึ่งไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม หลายโรงงานเปิดยังไม่มีเครื่องจักร ไฟฟ้าไม่เพียงพอ น้ำไม่มีบริการ ไม่มีบ้านพักคนงาน ปัจจุบันนิคมต่างๆ ก็ได้มีการปรับปรุงมากขึ้นเช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมตองตะโก่ง นิคมฯเมียวอ๊อกกะล่าซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคอนกรีต ต่างไปจาก 5 – 6 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก ส่วนนิคมอุตสาหกรรมติลาว่าจากเดิมที่เป็นท้องนางว่างเปล่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นนิคมที่ทันสมัย โรงงานที่เปิดใหม่ล้วนมีความทันสมัย มีทั้งจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์และบางส่วนที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากไทย มีอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ ธุรกิจบ้านพักคนงาน ถ้าหากใครลงทุนก่อนจะได้เปรียบ ถ้านักลงทุนไทยสนใจเชื่อว่าดีมานด์หรือความต้องการที่นี่ยังมีมาก

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/trade/592233

จับตาตลาดทุเรียนเวียดนาม ‘คู่แข่ง’ ทุเรียนไทย

จากการแข่งขันในตลาดส่งออกของทุเรียนไทย มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะสูญเสียผู้นำในด้านการเป็นผู้ส่งออกทุเรียนให้กับประเทศมาเลเซีย แต่ประเทศที่แข่งขันได้และน่าจับตามากที่สุด คือ เวียดนามที่มีพื้นที่ติดพรมแดนกับประเทศจีน ทำให้มีความสะดวกและรวดเร็วในด้านการขนส่ง ซึ่งจากข้อมูลสถิติของกระทรวงเกษตร ระบุว่าในปี 2561 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 2 แสนไร่ โดยเฉพาะบริเวณราบสูงตะวันตกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสําหรับการผลิตและส่งออกทุเรียนของเวียดนาม โดยในปีนี้สามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน ด้วยปริมาณผลผลิตรวมมากกว่า 30,000 ตัน ด้านสายพันธุ์ทุเรียนที่ได้รับความนิยมเพาะปลูกในเวียดนามมีทั้งสายพันธุ์จากไทย ได้แก่ ชะนี หมอนทอง และก้านยาว  นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ของเวียดนามคาดว่าสามารถทุเรียนได้ประมาณ 330,000 ตันต่อปี โดยพื้นที่ที่มีผลผลิตมากที่สุด แบ่งออกเป็นบริโภคในประเทศ 40%, ส่งออก 60% ในเดือนเมษายน 62 ที่ผ่านมา ราคาจําหน่ายทุเรียนสดหน้าสวนเฉลี่ยอยู่ที่  2.8 – 3.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อ กิโลกรัม แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนเข้มงวดการตรวจสอบผลไม้นําเข้าไปยังจีนมากขึ้น ส่งผลให้เวียดนามต้องใช้วิธีการลักลอบขนส่งทุเรียนผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ช่องทางหลัก อาทิ การขนส่งโดยรถบรรทุกขนาดเล็ก และใช้แรงงานแบกหาม เป็นต้น

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnamese-duria

เมียนมาเปิดโอกาสการลงทุน พร้อมส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ

นับเป็นเวลาหลายปีหลังจากที่เมียนมาได้ปฏิรูปการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ซึ่งในช่วง 2 ปีให้หลังที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือมีการลดผ่อนมาตรการต่างๆ โดยออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น รวมไปถึงกฎหมายสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ เช่น ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในเรื่องของภาษีอากร หรือนักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นบริษัทท้องถิ่นได้ร้อยละ 35 และอำนวยความสะดวกการจัดตั้งบริษัทโดยจัดทำระบบจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Myanmar Companies Online (MyCo) เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติมีบทบาทในการพัฒนาบริษัทท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 2. การลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในสาขาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเกษตร ปศุสัตว์ การประมง การศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ การผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า การส่งออก และการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมใหม่ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงคุณภาพของทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบท และส่งเสริมให้ประชากรเข้าถึงไฟฟ้าภายในปี 2573 4. ส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้เพิ่มจำนวนโรงแรม และพัฒนาการคมนาคมระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวในอนาคต ในเวลานี้การพัฒนาไปในเชิงบวกทำให้เอื้อต่อการลงทุน และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าไปลงทุน และถึงแม้ในการลงทุนจะต้องพบกับความท้าทายต่างๆ มีอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในบางเรื่อง แต่เมียนมาในมุมมองของวิเคราะห์ คือเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 6-7 ภายในสองปี ทำให้เป็นโอกาสการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทย

ที่มา: https://www.bangkokbanksme.com/article/27110

การย้ายฐานการผลิตของจีน

จากการเปิดประเทศของจีนเพียงแค่ 2 – 3 ทศวรรษทำไมถึงก้าวกระโดดแซงหน้าหลายๆ ประเทศเป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะนโยบายและประชากรของที่มีมากกว่าพันสามร้อยล้านคน ทั้งจีนในยุคต้นๆ ใช้นโยบายดึงเอากลุ่มนักอุตสาหกรรมจากไต้หวันเข้ามา ในยุคนั้นค่าแรงในจีนยังไม่สูง ไต้หวันเองในยุคนั้นใช้นโยบาย โรงงานหลังบ้าน ซึ่งเป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันยุคนั้น ใช้นโยบายสร้างเมกกะโปรเจ็กสิบประการ โดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำการผลิตสินค้าไอทีเกิดขึ้น ขณะที่แรงงานมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งพอประเทศจีนเปิดประตูให้นักลงทุนชาวไต้หวัน เข้าไปลงทุนที่นั่น แต่มาวันนี้เริ่มมีการถอนการลงทุนกันมากขึ้น เนื่องจากค่าแรงสูง จนทำให้โรงงานที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก (Labor Incentives) เริ่มหาฐานการผลิตแห่งใหม่ จีนจึงมองมาที่ประเทศฝั่ง CLMVT เพราะปัจจัยการลงทุนอย่าง เงินทุน ที่ดิน แรงงาน ถูกนั่นเอง ไทยได้เปรียบกว่า 4 ประเทศ เรื่องเงินทุน ไทยเรามีความเป็นไปได้สูงที่สุดในด้านการหาทุนมาดำเนินกิจการและราคาที่ดินถูกที่สุดเมื่อเทียบกับห้าประเทศ คือสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ( Free Holds) นอกนั้นจะเป็นการถือครองสิทธิ์การเช่าระยะยาว ( Long Lease) ทั้งหมด มีแต่ค่าแรงงานเท่านั้นที่สูงกว่ากลุ่ม CLMV ทำให้เกิดการย้ายฐานเข้าไปที่ประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้น ที่เห็นชัดๆ หลายบริษัทอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า อาหาร ที่ใช้แรงงานเข้มข้นได้ย้ายไปที่เวียดนามกันหมด ดังนั้นนโยบายภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ต้องระดมความคิดกัน และควรนำมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจะได้ไม่ต้องวิ่งตามกระแส และป้องกันการย้ายฐานการผลิต

ที่มา: https://www.posttoday.com/aec/trade/592680

ทำไม สินค้าไทยมาแรงตลาดเวียดนาม

เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีประชากรราว 90 ล้านคนที่อยู่ในวัยทำงาน พร้อมกำลังซื้อสูงในชนชั้นกลาง ทั้งนี้ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ เวียดนาม รายงานว่าในปี 2560 ตลาดค้าปลีกเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 ล้านล้านบาท) และยอดขายของร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าคาดว่าจะเติบโตเร็วมากที่สุด โดยเวียดนามถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในตลาดค้าปลีกลำดับที่ 6 ของโลกจาก 30 ประเทศ โดยเฉพาะนครโฮจิมินห์ ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนาม พบว่าสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า เป็นต้น เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และคาดว่าในปี 2563 ภาคการค้าปลีกจะขยายตัวสัดส่วนร้อยละ 45 ของภาคการค้าปลีกทั้งหมดในเวียดนาม หากสังเกตตามเมืองหรือชนบท พบว่าจะเห็นสินค้าไทยวางขายในร้านขายของชำ และร้านสะดวกซื้อ มีอยู่จำนวนมาก เนื่องมาจากคนเวียดนามมองสินค้าไทยมีคุณภาพที่ดีกว่าสินค้าจีน แม้ว่าราคาจะแพงกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้สินค้าไทยเป็นที่นิยม เนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ของไทยเข้าไปลงทุนห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น จึงเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเข้ามาเป็นหนึ่งในตัวเลือกของตลาดเวียดนาม สรุปได้ว่า เศรษฐกิจเวียดนามยังเติบโตต่อเนื่องทุกปี กลุ่มชนชั้นกลางมีกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระแสความนิยมสินค้าไทยมาแรง จึงเป็นโอกาสทางของผู้ผลิตสินค้าไทยที่จะเข้าไปในตลาดเวียดนาม

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-product