เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

  • เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 3/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 7.40%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการสำรวจของ Bloomberg ที่ 6.1% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ 7.09%Y โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว
  • การส่งออกเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักร และสินค้าเกษตร ส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตชะลอลง
  • ​ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจาก 9 เดือนแรกที่เติบโต 6.75%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.6% จาก 6.0% จากตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3/2567 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกซึ่งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2024 มาอยู่ที่ระดับ 12.6% จากเดิม 7.5%
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-GDP-EBR4087-FB-07-10-24.aspx

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/2567 โตสูงกว่าคาด จากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศแต่แนวโน้มยังเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่า consensus ที่ 5.8% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ 5.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/2567 โตสูงกว่าคาดจากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศแต่แนวโน้มยังเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย

  • เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.9%YoY สูงกว่า consensus ที่ 5.8% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ 5.9%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐ แต่ก็มีปัจจัยฉุดจากการชะลอตัวของ FDI และการส่งออก
  • ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากครึ่งแรกที่เติบโต 6.42%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.2% จาก 5.8%
  • ​อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EBR4069-KR-01-07-2024.aspx

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

  • เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2567 เติบโตชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของการลงทุนในภาพรวม
  • การส่งออกยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 1/2567 โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2%YoY ในไตรมาสที่ 1/2567
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทั้งปี 2567 เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ระดับ 8-6.0% จากแรงหนุนของการส่งออก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4050-29-03-2024.aspx

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม ว่า กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชั่นในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

  • กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชันในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา
  • การลาออกของประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง อาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและบรรยากาศในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะยาว

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Econ-21-03-2024.aspx

เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

วิเคราะห์โอกาสของการเติบโตการส่งออก ระหว่างไทยกับเวียดนามในอนาคต

โดย อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถสร้าง Growth Story ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะลำดับการส่งออกในตลาดโลก  ในปัจจุบัน เวียดนามสามารถแซงหน้าทั้งมาเลเซียและไทยไปแล้ว  ในปี 2020 เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ไทยและมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 22 และ 23 ของโลก  หลายฝ่ายจึงกังวลว่า ไทยจะสามารถแข่งขันในการส่งออกกับเวียดนามในอนาคตได้อีกหรือไม่  เพื่อตอบคำถามดังกล่าว บทความนี้จะลองวิเคราะห์ 3 ประเด็นสำคัญคือ ส่วนแรก Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่ ส่วนที่สอง โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร และส่วนสุดท้าย พัฒนาการของการส่งออกของไทยและเวียดนาม รวมถึงโอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

Growth Story ของไทยและเวียดนามแตกต่างกันหรือไม่

หากมองเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนาม ความสำเร็จของการส่งออกของประเทศทั้งสองแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นปัจจัยให้เกิด Growth Story อย่างก้าวกระโดดในไทยและเวียดนาม  โดย Growth Story ของไทยเกิดขึ้นก่อนในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่ Growth Story ของเวียดนามเกิดขึ้นในทศวรรษ 2010 อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน และการย้ายฐานการลงทุนระหว่างประเทศที่ผลักดันการส่งออกของเวียดนามให้เพิ่มขึ้น จนทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นของเอเชีย (Rise of Asia) อย่างชัดเจน

ในสามปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 252 พันล้านเหรียญในปี 2018 เหลือ 231 พันล้านเหรียญในปี 2020 (ลดลงร้อยละ 8.3) ขณะที่เวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 244 พันล้านเหรียญในปี 2018 เป็น 281 พันล้านเหรียญในปี 2020 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1)  ด้วยข้อมูลการส่งออกข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนกังวลว่าไทยกำลังเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไป  อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวยังไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน เพราะช่วงที่ผ่านมา สิงคโปร์และมาเลเซียก็ประสบปัญหาการส่งออกถดถอยเช่นเดียวกัน และลำดับการส่งออกของไทยในตลาดโลกก็ไม่ได้ลดลงมากนัก (ตารางที่ 1)

โครงสร้างภาพรวมของการส่งออกระหว่างไทยและเวียดนามเป็นอย่างไร

โครงสร้างรายการสินค้าส่งออกสำคัญระหว่างไทยกับเวียดนามมีความน่าสนใจหลายประการ  อย่างแรก ไทยและเวียดนามต่างส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่รายการสินค้าส่งออกสำคัญของไทยจะประกอบไปด้วย HDD แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามจะส่งออกรายการสินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบของมือถือ แผงวงจรรวม และคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค  ประการถัดมา ไทยและเวียดนามต่างก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ในรายการสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกในสินค้า HDD และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลก เป็นต้น  นอกจากนี้ ไทยและเวียดนามยังมีสินค้าเกษตรกรรมในสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกเหมือนกัน นั่นคือ ข้าว (ไทย) และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (เวียดนาม) (ตารางที่ 2)

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างการส่งออกของไทยจะกระจายตัวสูงกว่าเวียดนาม โดยรายการสินค้าส่งออกสำคัญ 10 ลำดับแรกของไทยและเวียดนาม จะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเป็นร้อยละ 21.6 และ 34.2  ตามลำดับ  หากสังเกตให้ดีแล้ว เวียดนามพึ่งพาการส่งออกโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบอย่างมาก(ร้อยละ 19.7)  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไทยและเวียดนามต่างมีระดับการกระจุกตัวของการส่งออกค่อนข้างสูง  จากรายการสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์ (HS) จำนวนสิ้น 5,388 รายการ มูลค่าสินค้าส่งออกใน 100 ลำดับแรกของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 60.1 และ 69.2 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าส่งออกลำดับรายการที่ 101 เป็นต้นไป แต่ละรายการมีสัดส่วนมูลค่าไม่ถึงร้อยละ 0.2 เท่านั้น

พัฒนาการการส่งออกของไทยและเวียดนาม โอกาสการแข่งขันของไทยในอนาคต

ในบริบทของพัฒนาการการส่งออก ไทยสามารถพัฒนาการส่งออกของประเทศได้อย่างมากแม้ต้องเผชิญปัจจัยทางลบหลายประการ และสามารถยกระดับผู้ผลิตคนไทยบางส่วนให้กลายเป็นผู้ส่งออกในหลาย ๆ รายการสินค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าแม้ว่าการเติบโตของการส่งออกไทยจะถดถอย แต่ไทยก็ยังพื้นฐานของการส่งออกที่ดี นั่นคือ ไทยมีรายการสินค้าส่งออกสูงถึง 4,620 รายการ และมีตลาดส่งออกมากถึง 194 ประเทศ ขณะที่เวียดนามเองก็มีรายการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีสินค้าส่งออกจำนวน 4,127 รายการ แต่กลับมีตลาดส่งออกเพียง 97 ประเทศเท่านั้น (WITS Database) [1]

แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะประสบปัญหาค่าจ้างแรงงานที่สูงอย่างต่อเนื่องและไม่มีแต้มต่อทางภาษีศุลกากรจากเขตการค้าเสรีในบางตลาดเหมือนดังกรณีเวียดนาม (EU-Vietnam FTA, CPTPP)  แต่ความล้มเหลวของรายการสินค้าส่งออกก็เกิดขึ้นในระดับต่ำ  งานศึกษาเกี่ยวกับความอยู่รอดของการส่งออกในไทยและประเทศคู่แข่งในภูมิภาคพบว่า จีนมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงที่สุด และไทยยังมีอัตราความอยู่รอดของการส่งออกสูงกว่าเวียดนามในทุกรายการสินค้า หรือนับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีจำนวนรายการสินค้าส่งออกที่สามารถอยู่รอดมาโดยตลอดของไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.2 และ 27.9 ของรายการสินค้าที่ส่งออกไปตลาดต่าง ๆ ในโลก (อลงกรณ์, 2564)

หากเรามองความสามารถในการแข่งขันจากเกณฑ์การเติบโตของการส่งออกเพียงอย่างเดียว ก็คงสรุปได้ว่า ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกเมื่อเทียบกับเวียดนาม แต่บริบทของการพัฒนาการส่งออกข้างต้นจึงไม่สามารถสรุปได้ง่าย ๆ แบบนั้นได้  และที่สำคัญ เวียดนามก็ยังเผชิญปัญหาการส่งออกบางประการเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการกระจุกตัวของการส่งออกที่สูงเกินไปในบางรายการ และอัตราความอยู่รอดของสินค้าส่งออกที่ต่ำกว่าไทย เรื่องดังกล่าวคงเป็นปัจจัยการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามในอนาคต

เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตของการส่งออกไทย ไทยยังคงมีพื้นฐานของการส่งออกที่ดี และสามารถต่อยอดความสำเร็จของการส่งออกในอดีตได้ เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกไทยมีจำนวนสินค้าและตลาดส่งออกหลากหลาย ดังนั้นโอกาสการเติบโตของไทยคงต้องมุ่งกระจายการส่งออกไปยังสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพเหมาะสมกับต้นทุนการผลิตและศักยภาพของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงกระจายการส่งออกไปตลาดส่งออกต่าง ๆ เพื่อช่วยประคองรายได้จากการส่งออกจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน  นอกจากนั้น ไทยยังมีโอกาสเชื่อมโยงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเข้าไปกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าอื่น ๆ เนื่องจากไทยมีความพร้อมของการเป็นฐานการผลิตสินค้าเหล่านั้นอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสของ Growth Story ใหม่ของไทยในอนาคตได้

ที่มา : http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/571

เจาะโอกาสส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนาม

โดย SME Go Inter I ธ.กรุงเทพ
Vietnam Industry and Trade Information Centre คาดการณ์ว่าผักและผลไม้แปรรูปจะมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะความสะดวกและมีระยะเวลาในการเก็บรักษาที่ยาวนาน
ในช่วงปี 2559-2563 การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปของเวียดนามเติบโตขึ้นถึงเลขสองหลักต่อปี โดยในปี 2562 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 41.2% yoy ก่อนจะตกลงสู่ระดับ 11.1% ในปี 2563
จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกผักและผลไม้แปรรูปสามารถทำรายได้ ได้มากถึง 653.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สำหรับตลาดส่งออกผักและผลไม้แปรรูปที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนการส่งออกของเวียดนามไปยังจีนเติบโตขึ้น 24.8% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562
นอกจากนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะไม่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมผักและผลไม้แปรรูปทั่วโลก ในทางตรงข้ามอุปทานของผักและผลไม้แปรรูปจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าหรือสินค้าแช่แข็งจะลดลง เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้ผลิตสินค้า
ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทำลายห่วงโซ่อุปทานการขนส่ง และทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นเนื่องจากมีจำนวนเรือและเครื่องบินจำกัด ประกอบกับการเกิดเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกสินค้าขวางคลองสุเอซเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ทำให้ต้องขยายเวลาในการขนส่งผักและผลไม้สดออกไป
จากบริบทข้างต้นทำให้ผักและผลไม้สดที่ไม่สามารถส่งออกได้ถูกนำส่งไปยังโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นต่างๆ และจากราคาวัตถุดิบที่ถูกลงนี้จะช่วยให้โรงงานแปรรูปสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อการส่งออกได้
เมื่อความต้องการและความพยายามในการขยายการผลิตของโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ผักและผลไม้แปรรูปในปัจจุบันมีสัดส่วน ถึง 25-30% ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้รวมทั้งหมดของประเทศ โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะอยู่ที่ประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ของเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับข้อจำกัดหลายประการ โดยหนึ่งในปัญหาดังกล่าวคือ สินค้าเวียดนามในปัจจุบันส่งออกภายใต้ชื่อแบรนด์ที่แตกต่างกันแต่ยังไม่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในระดับประเทศ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในรสนิยมของผู้บริโภคและยังต้องปรับปรุงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในตลาดต่างประเทศด้วย
โดยสรุปแล้ว อุตสาหกรรมแปรรูปของเวียดนามยังคิดเป็นเพียง 8-10% ของผลผลิตผักและผลไม้ที่ได้ในแต่ละปี การบริโภคก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของสินค้าสดหรือการถนอมอาหารเบื้องต้นเพียงเท่านั้น ซึ่งความเสียหายจากการเก็บเกี่ยวยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินไปที่ประมาณ 20% ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามจึงมองว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการส่งออกเพื่อรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นได้

ที่มา :
1/ https://www.bangkokbanksme.com/en/export-processed-vegetables-and-fruits-of-vietnam
2/ https://the-japan-news.com/news/article/0008042350