บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า-รองเท้าแบรนด์ดังกระทบหนัก หลัง “เวียดนาม” ปิดโรงงานล็อคดาวน์โควิดยาวนาน

โดย Money & Banking (การเงินการธนาคาร)

นักวิเคราะห์จาก BofA Securities เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของอเมริกาภายใต้การดูแลของ Bank of America ระบุว่า ผลกระทบของการปิดโรงงานที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานในเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ค้าปลีดเสื้อผ้าและรองเท้าหลายรายที่วางแผนไว้สำหรับปี 2565

โดย BofA Securities มองถึงเหตุผลหลายประการสำหรับการคาดการณ์นี้ รวมข้อเท็จจริงที่ว่าการกลับมาของเศรษฐกิจในเวียดนามตอนใต้ ซึ่งมีผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าจำนวนมาก มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าทางตอนเหนือมาก

เนื่องจากเวียดนามประสบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่งผลให้มีการล็อคดาวน์ในพื้นที่อีกครั้ง การผลิตต้องหยุดชั่วคราวและส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ เช่น Adidas และ Nike ที่ต้องพึ่งพาภูมิภาคนี้เป็นอย่างมากในการผลิตรองเท้าผ้าใบและเสื้อผ้ากีฬา โดย BofA ตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มเปิดทำการอีกครั้งแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

Mohamed Faiz Nagutha นักเศรษฐศาสตร์ของ BofA กล่าวว่า แม้ว่ากิจกรรมการผลิตจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีที่แล้วหลังจากการหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงสั้นๆ พร้อมเสริมว่า แต่กฎการดำเนินงานโรงงานในปัจจุบันในเวียดนามยังคงเข้มงวดและซับซ้อนมาก ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถของพนักงานในการกลับไปทำงานได้

“โดยรวมแล้ว เราคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการกลับมาดำเนินกิจกรรมการผลิตใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังคงมีอยู่ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

ด้าน Puma ได้เตือนแล้วว่าปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในเวียดนาม จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขาดแคลนในปีหน้า ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Adidas ปรับลดแนวโน้มในปี 2564

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-factory-effect-retail-market-161164

อ้างอิง : https://www.cnbc.com/2021/11/15/factory-shutdowns-in-vietnam-to-have-longer-impact-for-retailers-bofa.html

เวียดนามอันดับ 1 ประเทศที่ยอมรับเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) มากที่สุดในโลก

โดย TNN ONLINE

“ในช่วงเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนมกราคม 2021 ทั่วโลกมีจำนวนการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallets) เพิ่มขึ้นกว่า 45% ประมาณ 66 ล้านกระเป๋า อัตราการยอมรับเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 880%”

รายงานบทวิเคราะห์ Geography of Cryptocurrency ปี 2021 จัดทำโดย Chainalysis บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลบล็อกเชนและการทำวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ทั่วโลกพบว่าในช่วงเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนมกราคม 2021 มีจำนวนการสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล (Crypto Wallets) เพิ่มขึ้นกว่า 45% ประมาณ 66 ล้านกระเป๋า อัตราการยอมรับเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น 880% หรือเกือบเท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศโดยประมาณ

ดัชนีการยอมรับเงินดิจิทัลทั่วโลก (Global Crypto Adoption Index) วัดผลจากการใช้งานในประเทศต่าง ๆ ตามปริมาณธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้น โดยเน้นธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ โดยผู้ใช้งานที่เป็นบุคคลธรรมดามากกว่าร้านค้าหรือบริษัทขนาดใหญ่ ใน 158 ประเทศและนำค่าเฉลี่ยมาทำการจัดอันดับร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ พบว่าประเทศเวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีการยอมรับเงินดิจิทัลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีประเทศอินเดีย ปากีสถานอยู่ในลำดับถัดไป ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 นอกจากนี้ยังพบกว่าใน 20 อันดับแรกเป็นประเทศในแอฟริกามากถึง 6 ประเทศ

วงการเงินดิจิทัลในประเทศเวียดนามมีความโดดเด่น เนื่องจากมีประมาณธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลที่สูงในช่วงปี 2020 ถึง 2021 โดยมีบริษัทที่ให้บริการเป็นตลาดซื้อขายเงินดิจิทัล (Crypto Exchange) ที่ได้รับการยอมรับเปิดให้บริการในประเทศประมาณ 9 แห่ง นอกจากนี้ยังมีบริษัทดาวเด่นที่เปิดให้บริการเกมออนไลน์ Axie Infinity ในรูปแบบ NFTs Game พัฒนาบนเครือข่ายบล็อกเชนของ Ethereum ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกมีผู้เล่น Active Users กว่า 2 ล้านคนต่อวันและส่งผลให้มูลค่าของเงินดิจิทัลสกุล AXS หรือเหรียญ AXS ที่ถูกใช้งานภายในเกมมีมูลค่าในตลาดซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 156 ดอลลาร์ต่อเหรียญหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7,300% เมื่อเทียบกับมูลค่าเหรียญในช่วงต้นปี 2021 ส่งผลให้บริษัทผู้พัฒนาเกมออนไลน์ Axie Infinity สามารถระดมทุนจากนักลงทุนจำนวนมากและอาจกลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นตัวใหม่ของประเทศเวียดนาม

ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ได้รับการยอมรับกำลังก้าวขึ้นมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของเศรษฐกิจโลกกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้หยุดแค่การซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลสกุลต่าง ๆ แต่สามารถพัฒนาเป็นรูปแบบ ๆ อื่น เช่น การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะ กราฟิก วิดีโอ ภาพ 3 มิติในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถสร้างใหม่ทดแทนได้ (NFT หรือ Non-Fungible Token) รวมไปถึงเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหาวิธีการเล่นเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนมุมมองใหม่ที่เปิดรับเกี่ยวกับเงินดิจิทัลจากหน่วยงานรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอาจเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีของโลก

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/tech/93193/

ข้อมูลจาก coindesk.com , forbes.com , economywatch.com

ภาพจาก chainalysis.com

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

7 หุ้น โรงไฟฟ้าใหญ่ไทย กำลังเติบโตในเวียดนาม

โดย Maratronman I Wealthy Thai

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายใหญ่โตขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากประชากรที่เพิ่มตัวขึ้นปีละหลายล้านคน รวมถึงประชากรกำลังอยู่ในวัยคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นวัยที่มีส่วนจะช่วยผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ

การลงทุนจากต่างประเทศทยอยการลงทุนเข้ามาในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงใช้ประเทศเวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ รวมถึงนักลงทุนจากสหรัฐที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนาม

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเวียดนามเองนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องรังสรรค์โครงสร้างพื้นฐานประเทศไว้รองรับสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อแบบไม่ชะงัก แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 แต่เวียดนามก็ไม่หวั่นตั้งเป้าปี 64 จีดีพีจะกลับมาเติบโตในระดับ 6.5% จากในปี 63 ที่โตแบบสะดุด

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อรองรับการเติบโต และอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองคงจะหนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้ามีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง 80,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

โดยแหล่งพลังงานหลักยังคงเป็นถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าพลังงานลมในพื้นที่ชายฝั่งและพลังงานลมก็คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ ซึ่งอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานในปี 2021-2030 ยังอยู่ในระดับสูง จาก 8.6 % ในปี 2021-2025 และ 7.2 % ในปี 2026-2030 แผนพัฒนาพลังงานของเวียดนามคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานสูงสุด 138,000 เมกะวัตต์ ในปี 2030 และ 302,000 เมกะวัตต์ ในปี 2045

เมื่อเห็นแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนามแบบนี้แล้ว นักลงทุนคงจะพอเดากันได้แล้วใช่มั้ยว่า มีบริษัทหลักทรัพย์ของไทยที่ไหนบ้าง ถ้าเดาไม่ออก งั้น Wealthy Thai จะเล่าให้ฟัง มีบริษัทในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุน มีทั้งสิ้น 7 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

2.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

3.บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH

4.บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

5.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG

6.บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER

7.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL

ที่มา : https://www.wealthythai.com/en/updates/stock/stock-of-the-day/1496

วิเคราะห์ก้าวแรกของการพัฒนา CBDC ในภูมิภาค CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

ในปัจจุบัน การคิดค้นเทคโนโลยีกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) ที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งานในด้านการชำระเงิน ได้นำไปสู่การพัฒนาสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) อย่างแพร่หลายในภาคเอกชนทั่วโลก เช่นเดียวกับภาคเอกชน ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้เร่งริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในระบบสถาบันการเงินในประเทศจนเกิดการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC)

จุดมุ่งหมายของการพัฒนา CBDC โลกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และคาดว่าจะส่งกระทบอย่างไรต่อระบบเศรษฐกิจ?

การพัฒนา CBDC โดยธนาคารกลางต่าง ๆ ปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งตามการใช้งานได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.ระดับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) : การสร้างเครือข่ายการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งในและระหว่างประเทศ

2.ระดับธุรกรรมรายย่อย (Retail CBDC) : การใช้สกุลเงินดิจิทัลแทนเงินสดในการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนและธุรกิจรายย่อย

ในภาพรวม ทั้ง Wholesale CBDC และ Retail CBDC ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินให้รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์หลักที่ได้จากการนำ DLT (โดยเฉพาะในรูปแบบบล็อกเชน) มาใช้โดยธนาคารกลาง ที่จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลธุรกรรมทางการเงินลงได้อย่างมีนัย รวมทั้งยังสามารถตรวจสอบตัวตนของคู่สัญญาธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CBDC ทั้งสองประเภท หากถูกพัฒนาร่วมกันโดยกลุ่มประเทศในภูมิภาค ยังจะมีแนวโน้มนำไปสู่การเชื่อมโยงแพลตฟอร์ม และสนับสนุนให้ธุรกรรมระหว่างประเทศ (Cross-border Transactions) เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นและด้วยต้นทุนที่ต่ำลงอีกด้วยเช่นกัน

แต่ทว่าหากมองลึกลงไปกว่าประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นนั้น การพัฒนาในระดับ Retail CBDC จะสามารถสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในอีกหลายด้าน โดยจะเป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. การเข้าถึงสถาบันการเงิน (Financial Inclusion) จะเพิ่มมากขึ้น ตามระบบ Retail CBDC ที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วเพียงผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อดีในจุดนี้ โดยเฉพาะสำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยให้กลุ่มประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้มาก่อนนั้น มีโอกาสหันมาเลือกใช้ Retail CBDC ที่สะดวกกว่าการถือเงินสดเพิ่มมากขึ้น

2. ช่องทางการดำเนินนโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) ของภาครัฐที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังมีการใช้ CBDC แทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ภาครัฐสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน CBDC โดยประชากรสามารถนำเงินช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัลออกมาจับจ่ายใช้สอยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคารหรือเบิกจ่ายกับหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐยังสามารถเข้าถึงข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในแต่ละกลุ่มสังคมเศรษฐกิจ (socioeconomic group) ซึ่งอาจต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน การมี Retail CBDC platform จะช่วยให้ภาครัฐสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายและตั้งเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy) โดยการใช้ Retail CBDC แทนเงินสดนั้น จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณและการไหลเวียนของเงินในระบบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมี CBDC อีกประเภทที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในการถือครอง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ธนาคารกลางใช้ส่งผ่านผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้โดยตรง

สถานะการพัฒนา CBDC โลกเป็นอย่างไรและภูมิภาค CLMVT อยู่ตรงจุดไหน?

ผลสำรวจล่าสุดโดย Bank of International Settlement พบว่า 86% ของธนาคารทั่วโลกกำลังดำเนินงานวิจัยเทคโนโลยี CBDC โดย 60% อยู่ในขั้นทดสอบระบบ ขณะที่เพียง 14% ได้เริ่มมีการทดลองใช้จริงในกลุ่มประชากรตัวอย่าง แม้ว่ากลุ่มประเทศที่มีการทดลองใช้ CBDC จริงแล้วประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักในโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าภูมิภาค CLMVT อยู่ในจุดที่ล้ำหน้ากว่าหลายชาติอื่นในโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะไทยและกัมพูชา ซึ่งถูกจัดอันดับโดย PwC ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการพัฒนา Wholesale CBDC และ Retail CBDC ตามลำดับ

สำหรับไทยนั้น โครงการอินทนนท์ซึ่งเป็น Wholesale CBDC ได้ถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงในปี 2563 ได้พัฒนาไปถึงจุดที่มีการทดสอบการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยเชื่อมต่อกับ Project LionRock ของฮ่องกงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดในปีนี้ ทาง ธปท. ยังได้เริ่มทำการศึกษาวิจัยต่อยอดไปสู่การทำ Retail CBDC แล้วเช่นกัน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะมีการทดสอบใช้จริงในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2565

แนวโน้มการพัฒนา Retail CBDC สำหรับประเทศ LMVT (สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และไทย) จะเป็นอย่างไร? บทเรียนล่าสุดที่ได้จากกัมพูชาคือ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเข้าถึงสถาบันการเงินในระดับต่ำ แต่มีโครงสร้างประชากรที่พร้อมตอบรับเทคโนโลยีใหม่ นับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญต่อการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เข้ามาทดแทนเงินสดและดึงประชากรส่วนมากเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินมากขึ้น สำหรับปัจจัยเหล่านี้ทั้ง สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ล้วนมีประชากรน้อยกว่า 30% ที่เข้าถึงบัญชีธนาคาร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย (ค่ามัธยฐานต่ำกว่า 30 ปี) แต่มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือในระดับที่สูง (เฉลี่ยมากกว่า 1 เบอร์โทรศัพท์ต่อคน) ด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านประชากรที่คล้ายคลึงกับกัมพูชา ทำให้คาดได้ว่าการพัฒนา  Retail CBDC จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศเหล่านี้เช่นกัน และมีศักยภาพที่จะตามทันกัมพูชามาได้ในเวลาไม่ช้า

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7775

EIC CLMV Outlook Q3/2021

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2021 สร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV แม้ว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวได้สูงอาจจะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบได้บางส่วน

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การระบาดของ COVID-19 ใน CLMV ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้ภาครัฐต้องยกระดับความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงและสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศที่เปราะบางอยู่เดิมก่อนแล้ว โดยการควบคุมการระบาดระลอกปัจจุบัน นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามที่สามารถควบคุมการระบาดในรอบก่อนหน้าได้ดี แต่ในครั้งนี้ การระบาดของเวียดนามกลับอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องประกาศมาตรการ lockdown เข้มงวด เช่นเดียวกับเมียนมาที่มียอดผู้ติดเชื้อสูง แต่บุคลากรทางการแพทย์กลับไม่เพียงพอจากความไม่สงบทางการเมือง ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อในกัมพูชาและสปป.ลาว ก็มีสูงกว่ารอบก่อนหน้า แต่ยังมีจำนวนต่ำกว่าอีกสองประเทศข้างต้น

สำหรับอุปสงค์ภายนอก ภาคการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV ยังคงส่งสัญญาณการฟื้นตัวแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การส่งออกจึงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภูมิภาค โดยการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากการระบาดของ COVID-19 ในวงกว้างที่อาจทำให้มีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ และอาจกลายเป็นปัจจัยฉุดภาคการส่งออกได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2021 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในระยะต่อไป ได้แก่

1) มาตรการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาได้

2) ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคการคลังและการเงินที่จะช่วยลดผลกระทบต่อการครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3) ปัจจัยความเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความไม่สงบทางการเมืองของเมียนมา และความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะของสปป. ลาว

กัมพูชา

+ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้แข็งแกร่งและความสำเร็จในการกระจายการส่งออกไปยังหลายสินค้ามากขึ้น (export diversification)

+มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการฉีดวัคซีนที่ดำเนินการได้ย่างรวดเร็วและสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

มาตรการ lockdown ที่เพิ่มความเข็มงวดขึ้นเพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าจะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังซบเซาจะเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจ

สปป.ลาว

+การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการขนาดใหญ่และการเปิดตัวใช้รถไฟจีน-สปป.ลาว ในเดือนธันวาคม

+การส่งออกที่ขยายตัวสูงจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายนอกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

การยกระดับมาตรการ lockdown และการปิดพรมแดนอย่างเข็มงวดจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

เสถียรภาพการคลังที่น่ากังวล จากภาระหนี้สาธารณะในรูปเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินกีบอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ

เมียนมา

การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้เมียนมาประกาศใช้มาตรการ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถ lockdown ทั่วประเทศ ขณะที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีจำกัด

การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืน โดยมวลชนจะส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

การหยุดชะงักของระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะพื้นฐาน ได้แก่ การขนส่ง ระบบอินเทอร์เน็ต และการให้บริการของธนาคาร

ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งอาจลดประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลง

เวียดนาม

+ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงที่ขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง

+ FDI ที่ลงทุนในเวียดนามยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า และจำนวนแรงงานที่มีมาก รวมถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ

เวียดนามเผชิญความยากลำบากในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน และส่งผลรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

ความเสี่ยงการหยุดชะงักของอุปทานเนื่องจากปิดโรงงานที่ขยายระยะเวลาออกไปยังประเด็นที่ต้องจับตามอง

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7761

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

CLMV รับแรงหนุนที่แตกต่าง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104% ของ GDP   โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8% ของ GDP

ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60%​ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ในส่วนของประเทศสปป.ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ    โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ น่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนตรงมีเพียง 22% 

ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13% ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว  เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/CLMV-FB-28-06-21.aspx

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMVIP : ความเหมือนที่แตกต่าง

โดย ศูนย์วิจัยกรุงศรี

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ (ในที่นี้จะเรียกโดยย่อว่า “CLMVIP”) ได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2020 อย่างไรก็ดี ในปี 2021 หลายประเทศในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงราวร้อยละ 4-7 ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ CLMVIP ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (i) ผลของมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ii) การส่งออกที่ได้อานิสงส์จากวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (iii) กระแสการรวมตัวกันภายในภูมิภาค (Regionalization) ที่เข้มแข็งขึ้น แม้ว่าประเทศในกลุ่ม CLMVIP จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน ในรายประเทศอาจมีลำดับการฟื้นตัวที่แตกต่าง เวียดนาม มีโอกาสฟื้นตัวโดดเด่นด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง และรายรับจากภาคต่างประเทศที่ขยายตัวดี ผนวกกับข้อได้เปรียบจากความตกลงการค้าเสรีสำคัญ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ความตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) รวมทั้งยังมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี

ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ใน CLMVIP มีระดับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าด้วยข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียและกัมพูชา อาจฟื้นตัวเป็นลำดับถัดจากเวียดนาม แม้อินโดนีเซียมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่คาดว่าภาคส่งออกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งยังได้ผลบวกจากแผนการขยายมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมถึงแผนการฉีดวัคซีนและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กัมพูชาอาจได้แรงสนับสนุนจากการส่งออก นำโดยตลาดจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากการถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีบางส่วนจากสหภาพยุโรป ฟิลิปปินส์ แม้มีปัจจัยหนุนจากขนาดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมากถึงร้อยละ 4 ของ GDP   แต่การเบิกจ่ายยังเป็นไปอย่างล่าช้า และสถานการณ์การระบาดในประเทศค่อนข้างรุนแรง ส่งผลให้ตลาดแรงงานยังอ่อนแอ และกระทบต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อบริโภคในประเทศ สปป.ลาว มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอ อีกทั้งขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด ผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่เมียนมา เผชิญประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากผู้นำทางทหารของเมียนมาเข้ายึดอำนาจและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคู่ค้าในระยะนับจากนี้ และอาจมีผลให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะยาวหยุดชะงักลงไปได้

อ่านต่อ : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/regional-recovery-2021

EIC CLMV Outlook Q2/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกในกลุ่ม CLMV แต่การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมาจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 โดยในส่วนของภาคส่งออกของ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นมากสุดในภูมิภาค จากความแข็งแกร่งด้านการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศ การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในภูมิภาค CLMV ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 จะเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศให้ปรับลดลง โดยในส่วนของเวียดนาม ภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในระลอกก่อนได้เป็นอย่างดี ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ยังต้องจับตาการระบาดระลอกล่าสุดช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะต่อไป ขณะที่ในกรณีของประเทศอื่น พบว่าเมียนมายังต้องเผชิญการระบาดที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2020 ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาวกำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการ lockdown อย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2021 นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างหนักและยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจ ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเมียนมาลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการที่ประเทศ CLMV น่าจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในภายในปี 2021 ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพื่อพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจำกัดผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ
  2. ปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ได้แก่ ความรุนแรงทางการเมืองของเมียนมา และปัญหาหนี้สาธารณะใน สปป. ลาว

กัมพูชา : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวดีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
  2. รัฐบาลยังมีความสามารถทำนโยบายที่เพียงพอ ทำให้สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

กัมพูชา : ปัจจัยลบ

  1. การระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ที่กลับมาเข็มงวดจะจำกัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  2. การฟื้นตัวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มซบเซา

สปป.ลาว : ปัจจัยบวก

  1. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการใหญ่ๆ จะเป็นแรงสนับสนุนหลักของการเติบโตในปีนี้
  2. การส่งออกมีแนวโน้มได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านที่ฟื้นตัวดีขึ้น และจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

สปป.ลาว : ปัจจัยลบ

  1. การยกระดับมาตรการ lockdown จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและทำให้การปิดพรมแดนยืดเยื้อออกไปอีก
  2. หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดความสามารถในการทำนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมียนมา : ปัจจัยลบ

  1. การปราบปรามของรัฐบาลทหารและขบวนการอารยะขัดขืนโดยมวลชน (CDM) จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน
  2. ธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดตัวลง จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลง
  3. บริษัทต่างชาติมีแนวโน้มยับยั้งคำสั่งซื้อและเลื่อนโครงการลงทุนออกไป เพราะอาจเสี่ยงต่อชื่อเสียงองค์กร
  4. นโยบายการคลังที่เป็นข้อจำกัดและทิศทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่องในระยะกลาง

เวียดนาม : ปัจจัยบวก

  1. ภาคส่งออกเติบโตแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นปัจจัยขับปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
  2. กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากรายชื่อประเทศผู้บิดเบื่อนค่าเงิน ส่งสัญญาที่ดีต่อการค้าเวียดนาม-สหรัฐฯ
  3. FDI เข้าเวียดนามส่งสัญญาฟื้นตัวแข็งแกร่งตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านข้อตกลงการค้า รวมถึงจำนวน/ฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่

เวียดนาม : ปัจจัยลบ

  1. การควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลานคลัสเตอร์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7594