ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

โดย BRD Analysis I ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม
  • นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายการลงทุนในระยะข้างหน้า พร้อมกับผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเสื้อผ้าสำเร็จรูป
  • การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ใน สปป.ลาว ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่การลงทุนภาคการผลิตมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากโครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว
  • ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างชาติต้องเน้นประคองธุรกิจ และการลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางเศรษฐกิจของ CLMV

กัมพูชา :เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้จำกัดในระยะสั้น แม้ภาคส่งออกจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ขณะที่การลงทุน โดยเฉพาะจากจีน มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศยังคงต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอีก 1-2 ปี

สปป.ลาว : การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยสนับสนุนภายนอก เนื่องจากภาครัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ทำให้ไม่มีเครื่องมือที่ใช้ สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ และต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐลง จึงต้องหวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก

เมียนมา : ยากต่อการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐประหารเปลี่ยนทิศทางของประเทศไปโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวกว่า 4% ตั้งแต่ ปี 2566 จากความคาดหวังว่าความวุ่นวายในประเทศจะคลี่คลายลงได้

เวียดนาม : มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMVโดยรัฐบาลตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัว 6.5-7.0% ระหว่างปี 2564-2568 และจะเป็นประเทศที่มีรายได้ ปานกลางค่อนข้างสูงภายในปี 2573

————————————————————————————————————————————————————

ทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรม

กัมพูชา : การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นอกเหนือจากเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว โดยการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชา (สัดส่วนราว 5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด) ในปี 2563 ขยายตัวราว 220% เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

โรงไฟฟ้า : การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากกัมพูชายังมี Supply ของไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยโรงไฟฟ้าที่มีศักยภาพการลงทุน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

สปป.ลาว : การลงทุนใหม่ต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคาดหวังกับการลงทุน ดังนี้

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ : ยังคงเป็นธุรกิจเป้าหมายของรัฐบาล สปป.ลาว แต่โครงการใหม่ในระยะข้างหน้าต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลเผชิญข้อจำกัดทางการเงิน

ภาคการผลิตที่ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง สปป.ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน : โครงการรถไฟจีน – สปป.ลาว ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2564 จะดึงดูดการลงทุนในภาคการผลิตของ สปป.ลาว ได้ในอนาคต

เมียนมา : ธุรกิจต่างชาติในเมียนมาเน้นประคองธุรกิจ ขณะที่การลงทุนใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง

ภาคการผลิต : การผลิตเพื่อส่งออก (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) หยุดชะงัก เนื่องจากผู้นำเข้า โดยเฉพาะชาติตะวันตก หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมกับเมียนมา จนผู้ประกอบการต่างชาติบางส่วนอาจถอนการลงทุน ขณะที่การผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ เผชิญกับความต้องการที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจเมียนมา

โรงไฟฟ้า : นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ชะลอการลงทุน และเป็นโอกาสที่จีนจะมีบทบาทในเมียนมามากขึ้น

เวียดนาม : หลายอุตสาหกรรมในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการลงทุนของไทย อาทิ

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป : เนื่องจากความต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยและถูกสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ : มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการผลิตในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม

โรงไฟฟ้า : ยังเติบโตจากความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% และ 7.2% ในช่วงปี 2564-2568 และ 2569-2573 ตามล าดับ ซึ่งเวียดนามจะลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

https://kmc.exim.go.th/detail/hot-issues/20210512113428ที่มา :

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจ CLMV ได้รับอานิสงส์แตกต่างกัน

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤติโควิดอันสะท้อนผ่านประมาณการเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 5.5% นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ที่มีการพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูง อย่างไรก็ดี ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่สดใสอาจส่งผลบวกต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจอินโดจีน (CLMV) ในระดับที่แตกต่างกัน ตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนทางตรง (FDI) และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะในประเทศก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เท่ากัน

เวียดนามเป็นเศรษฐกิจใน CLMV ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่มีสัดส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง นอกจากภาคการส่งออกแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ของจีดีพี เนื่องจากแรงงานเวียดนามที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับสูง ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกเศรษฐกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกันเนื่องจากการส่งออกของกัมพูชามีตลาดหลักอยู่ในสหรัฐฯ จีน และยุโรปซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การลงทุนในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งย่อมส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังเดินหน้าต่อไป ในส่วนของเศรษฐกิจสปป.ลาว คงจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จำกัดในส่วนของการลงทุนตรงจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกอาจได้รับอานิสงส์จำกัด ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองในประเทศคงเป็นปัจจัยที่มีผลในการลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก​

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/CLMV-z3213.aspx

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/64 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2564 เติบโตต่ำกว่าที่คาดที่ 4.48% YoY จากเศรษฐกิจภาคบริการและการบริโภคในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2564 ทำให้ทางการเวียดนามออกมาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวอาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ ห้ามการรวมตัวของคนหมู่มาก ตลอดจนปรับลดเวลาทำการธุรกิจโดยเฉพาะบริการขนส่งสาธารณะ

  ขณะเดียวกันภาครัฐลดระดับในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงเพื่อลดภาระทางการคลังหลังจากที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีก่อน1ซึ่งครอบคลุมการปรับลดภาษีธุรกิจ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างจำกัด

  ประกอบกับการลงทุนทางตรง (FDI) ยังคงชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการใหม่ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่เติบโตค่อนข้างมาก กดดันให้การเกินดุลการค้าปรับลดลง แม้ว่าภาคการส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้กว่า 22% ก็ตาม

  ประเด็นการบิดเบือนค่าเงินของเวียดนามไม่ได้ส่งผลต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ จัดสถานะเวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ค่าเงินดอง (VND) ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หากเทียบการอ่อนค่าระหว่างค่าเงินดองกับค่าเงินในสกุลอาเซียนจะพบว่าค่าเงินดองอ่อนค่าน้อยที่สุดเทียบกับสกุลเงินหลักในอาเซียน

   อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของค่าเงินดังกล่าวไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเวียดนามยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างร้อยละ 30 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่หนุนให้การส่งออกของเวียดนามยังคงขยายตัวในระดับสูงในปีนี้

  มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามยังคงมีทิศทางเติบโตที่เร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ การลงทุนในภาคการผลิตกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง อาจเป็นสัญญาณบวกต่อทิศทางการฟื้นตัวของภาคลงทุน เนื่องจากการลงทุนทางตรงในภาคการผลิตซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนทางตรงทั้งหมดในช่วงก่อนโควิดซึ่งภาคดังกล่าวน่าจะได้รับได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงต่ำกว่าจีนค่อนข้างมาก อีกทั้ง เวียดนามมีข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุม

   ดังนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง น่าจะหนุนลงทุนรอบใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคอาจต้องอาศัยเวลาอีกระยะ เนื่องจากการส่งออกที่ฟื้นตัวในช่วงแรกมาจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ส่งออกเครื่องนุ่งห่มซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศมากกว่าอาจต้องรอการฟื้นตัวของความต้องการโดยเฉพาะจากยุโรปที่ยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด

  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่กรอบประมาณการที่ 6.8-7.3% โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องติดตาม ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโควิดรอบใหม่ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตน้อยกว่าคาด

  นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การเปิดประเทศของเวียดนาม นอกจากจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวแล้วยังเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อจังหวะของกระแสเงินลงทุนตรง ที่นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ยังคงรอคอยการเปิดประเทศก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้าย

ที่มา : /1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-apr-FB-12-04-2021.aspx

/2 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=d1Z2b01wVFVaRVk9

‘เวียดนาม’ ทะยานสู่ ‘เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย’

โดย SME Go Inter I ธนาคารกรุงเทพ

‘เวียดนาม’ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการจัดการได้ดีที่สุด และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเวียดนามที่ได้รับผลกระทบน้อย ทั้งกลับมาโตได้เร็วโดยในปี 2563 เติบโตอยู่ที่ 2.91% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 7% แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ GDP โตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังดิ่งเหว

ความสำเร็จในการควบคุมโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ คุณธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ สาขาประเทศเวียดนาม วิเคราะห์ว่า เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาลเวียดนามที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เวียดนามเนื้อหอมสุดๆ ในยามนี้ ที่ทุกประเทศต่างหันหัวรบเข้าไปลงทุนด้วยมากที่สุด และที่สำคัญประเทศเวียดนามไม่ใช่คู่ขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริการกับจีนเกี่ยวกับเก็บภาษีศุลกากร ทำให้นักลงทุนนานาชาติโยกย้ายฐานการผลิตและลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปทั่วโลกได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค

ดังนั้นเมื่อมองภาพรวมประเทศเวียดนามหลังจากผ่านพ้นโรคโควิด คุณธาราบดี จึงยกให้ประเทศเวียดนามเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวเพราะความมีเสถียรภาพทางการเมือง เข็มทิศพัฒนาประเทศมีเป้าหมายชัดเจน ที่รัฐบาลเวียดนามเร่งผลักดันการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจคู่ขนาน เพื่อความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ โดยพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนทุกมิติจากต่างประเทศให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันรัฐบาลเวียดนามยังได้ทำข้อตกลงการค้าทั่วโลก ไม่ว่าจะทำข้อตกลง FTA กับยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงเข้าร่วมใน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศเวียดนามอย่างมาก

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-asian-economic-tiger

เวียดนามไปไกล Foxconn จีบ Vinfast ‘สตาร์ทเครื่อง’ รถ EV

โดย Marketeer

แผนรุกตลาดรถ EV ของ “ยักษ์โรงงาน OEM” มาถึงประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวลำดับต้นๆ ใน ASEAN แล้ว โดย Foxconn เริ่ม ‘เปิดดีล’ สร้างรถ EV ในเวียดนามกับ Vinfast แบรนด์รถเวียดนามใต้ชายคา VinGroup ย้ำความต้องการรุกธุรกิจยานยนต์ของฝ่ายแรกและศักยภาพของฝ่ายหลัง ท่ามกลางของขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญ

แม้สร้างชื่อจากการเป็นเบอร์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต (OEM) และมี iPhone เป็นลูกค้าสำคัญ แต่ Foxconn ก็เริ่มรุกสู่วงการรถ EV แล้ว เพื่อหนี Disruption หลังเทรนด์ตลาด Gadget มุ่งสู่อุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง

และเห็นว่ารถ EV เป็นธุรกิจมีอนาคต ตามการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมของคนทั่วโลก จนตลาดทวีความคึกคัก มีข่าวคืบหน้าพัฒนารถ EV จากบรรดาแบรนด์รถออกมาไม่ขาดสาย

เพื่อผลักดันแผนรุกตลาดรถ EV ให้เดินหน้า Foxconn เลือกใช้จุดแข็งเรื่องการผลิตอุปกรณ์ IT และ Smart Device รวมถึงการเป็นยักษ์ฌโรงงาน ไปจับมือกับค่ายรถมากมาย ตั้งแต่เบอร์ใหญ่ๆ อย่าง Fiat Chrysler Automobile (FCA) และ Geely ไปจนถึงแบรนด์เล็กที่มีจุดแข็งเรื่อง Design และชื่อเสียงของผู้ก่อตั้งอย่าง Fisker

ล่าสุดแผน ‘ตัดถนน’ สู่วงการรถ EV ของ Foxconn มาถึงเวียดนาม โดย Reuters รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า Foxconn อยู่ระหว่างการเจรจาขั้นต้นกับ Vinfast พัฒนารถ EV

แม้ยังต้องติดตามติดกันต่อไปว่าดีลนี้จะคืบหน้าจนนำสู่การผลิตอย่างจริงจังหรือหยุดลงแค่การคุยกันเบื้องต้น แต่ก็เป็นชี้ว่า Foxconn เล็งเห็นถึงศักยภาพของ Vinfast บริษัทยานยนต์อายุเพียง 4 ปีใต้ชายคา Vingroup ของ Pham Nhat Vuong มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเวียดนาม และย้ำถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่โรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญ

ที่มา : https://marketeeronline.co/archives/212444

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

EIC CLMV Outlook Q1/2021

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกและการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2020 โดยเวียดนามและเมียนมามีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจลาวและกัมพูชาเผชิญการหดตัวจากปัจจัยด้านลบรายประเทศเพิ่มเติม ในภาพรวมนั้นแม้เศรษฐกิจ CLMV จะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 แต่ในช่วงที่ผ่านมาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ ยกเว้นเวียดนามซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่งและความสำเร็จในการควบคุมการระบาด COVID-19

สำหรับในปี 2021 EIC ประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวมจะยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ยังไม่ทั่วถึง โดยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักได้แก่

  1. ประสิทธิภาพของมาตรควบคุมการระบาด COVID-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. ขนาดและประสิทธิภาพของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ระหว่างที่รอการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูมิภาค (herd immunity) ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นในปี 2022
  3. ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะรายประเทศ เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลลาว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในเมียนมา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกันในภูมิภาคแล้วนั้นเศรษฐกิจของเวียดนามน่าจะขยายตัวได้เร็วที่สุดจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงขยายตัวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่เศรษฐกิจของเมียนมายังคงมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยลบทั้งสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง

กัมพูชา :

  1.  ฟื้นตัวอย่างค่อนเป็นค่อนไปตามเศรษฐกิจโลกและ FDI ที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะจากจีน
  2. ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และมาตรการทางการคลังเป็นแรงสนับสนุนหลักต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
  3. ข้อตกลงการค้าเสรีจีนกัมพูชาจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของการส่งออกในปี 2021
  4. การท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญ

สปป.ลาว :

  1. ฟื้นตัวปานกลางด้วยอานิสงส์จากการกลับมาเปิดด่านค้าชายแดนและการคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศ
  2. การค้าและ FDI ที่กลับมาฟื้นตัวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว
  3. มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยังมีขนาดเล็กจากขีดความสามารถการทำนโยบายการคลุง (fiscal space) ที่จำกัด
  4. หนี้สาธารณธที่อยู่ในระดับสูงขณะที่เงินกีบอ่อนค่าลงต่อเนื่อง การขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศ และการถูกปรับลดอันดับเครดิต ถือเป็นความเสี่ยงหลักต่อการบริหารจัดการหนี้

เมียนมา :

  1. ฟื้นตัวช้าท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่และความไม่แน่นอนทางการเมือง
  2. การส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโมฟื้นตัวไปอย่างช้าๆ หลังทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
  3. FDI จะยังซบเซา เนื่องจากนักลงทุนชะลอแผนการลงทุนออกไปหลังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมือง
  4. เหตุการณ์ประท้วงที่ลุกลามในประเทศและแนวโน้วถูกคว่ำบาตรเป็นความเสี่ยงหลักการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เวียดนาม :

  1. การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงเป็นแรงสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจ
  2. เศรษฐกิจภายในประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังภาครัฐใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีที่กว้างขวางจะช่วยผลักดันการส่งออกและดึงดูด FDI อย่างต่อเนื่องในระยะกลาง
  4. ความเสี่ยงที่ต้องจับตาคือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แม้จะยังไม่มีมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการก็ตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7392

มองเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ โอกาสของทุนไทย

โดย SME Social Planet I ธนาคารกรุงเทพ

ความเนื้อหอมของ ‘เวียดนาม’ ในประเด็นด้านการค้าและการลงทุน จากปัจจัยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งจากเดิมที่ขนาดเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2562 จากข้อมูล World Economic Outlook, October 2019 ซึ่งเทียบได้กับราว 44 % ของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปี 2563 เศรษฐกิจเวียดนามที่คาดว่าจะขยายตัวแค่ 2.91% แต่เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวนั้นกลับสวนทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ติดลบ และยิ่งไปกว่านั้นมีการประเมินว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 6.5-7 ในปี 2564 เลยทีเดียว

นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก (GDP) มีการเติบโตถึง 2.91% ในปี 2020 เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่ช่วงแรก โดยอัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในช่วงปี 2559-2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเพราะเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง อาทิ

  1. มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน
  2. เวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีน และอีกหลายประเทศทั่วโลก
  3. เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุน

ไทยมองการลงทุนเวียดนามอย่างไร

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า ประเทศเวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำ ทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 17 ฉบับ ขณะเดียวกันเวียดนามให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่นๆ

นางสมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อมตะวีเอ็น (AMATAV) กล่าวในมุมมองของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามว่า อมตะเชื่อในการเติบโตของเวียดนาม นั่นคือเหตุผลที่อมตะอยู่ในเวียดนามมานานกว่า 26 ปี และถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ

เห็นได้ว่าทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันเอกชนที่เข้มแข็ง และตัวแทนเอกชนที่เป็นแนวหน้าไปลงทุนในเวียดนาม ต่างมีความเห็นที่น่าสนใจกับการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ภายใต้การที่เอเชียจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่หลังโควิด 19 รวมทั้งประเด็นการลดข้อจำกัดในการลงทุนต่างชาติ และการจูงใจนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้หากสามารถปรับแผนให้โครงการ EEC ของไทย เป็นศูนย์กลางในการกระจายการลงทุนในภูมิภาคได้ ก็จะยิ่งเกิดเป็นประโยชน์คู่ขนาดของสองชาติได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bangkokbanksme.com/en/look-vietnam-economy-opportunities-thai-capital

เวียดนามน่าจะยังคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ แม้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (Currency Manipulation) รอบล่าสุดที่เปิดเผยในเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุให้เวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เกณฑ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการแทรกแซงค่าเงินดองของเวียดนามที่ทางสหรัฐฯ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากยอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 5.1 ต่อ GDP[1] (สูงกว่าเกณฑ์ที่ร้อยละ 2.0 ต่อ GDP) นอกเหนือจาก 2 เกณฑ์หลักซึ่งได้แก่ มูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด

ค่าเงินดองที่อ่อนค่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้การส่งออกสินค้าต่างๆ ของเวียดนามที่มีความได้เปรียบในการผลิตอยู่แล้วมีแรงดึงดูดการลงทุนมากกว่าคู่แข่งประเทศอื่น ทำให้เวียดนามสามารถผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การที่เวียดนามได้ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาเรื่องบิดเบือนค่าเงิน จะมีผลให้การดำเนินการในการแทรกแซงค่าเงินในระยะข้างหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้ง เมื่อพิจารณาโครงสร้างดุลการชำระเงินที่น่าจะอยู่ในทิศทางเกินดุลสูง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศที่สูง อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) จำเป็นต้องทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้น (Revaluation) เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะถูกสหรัฐฯ ปรับใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติม

[1] เป็นการติดตามการแทรกแซงค่าเงินในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดก่อนการรายงาน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3172-Veitnam.aspx

วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

โดย ศรัณย์ กิจวศิน I THE STANDARD

เวียดนามถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เวียดนามอาจไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเวียดนามมากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการเวียดนามจะทยอยปรับค่าเงินดองให้สูงขึ้นในช่วง 5-7% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พบว่าเวียดนามกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริง 4.2-5.2% ในปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดองจะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามส่วนมากเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น

สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ทำให้เวียดนามสูญเสียความได้เปรียบในการทำตลาดส่งออก เนื่องจากหากค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางของเวียดนามที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศถึง 54% ของการนำเข้าทั้งหมด ประกอบกับโครงสร้างการผลิตที่เอื้อให้สินค้าเวียดนามมีต้นทุนต่ำ จึงน่าจะบริหารจัดการลดส่วนแบ่งกำไรลงบางส่วนเพื่อรักษาตลาดไว้ได้ ทำให้เวียดนามจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในด้านการผลิตและส่งออกไว้ได้อีกระยะหนึ่ง

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-export-not-effecting-united-states-currency/