ภาคประกันภัยกัมพูชา รายงานการจัดเก็บเบี้ย ณ ส.ค. แตะ 31 ล้านดอลลาร์

ภาคประกันภัยกัมพูชารายงานการจัดเก็บเบี้ยประกันภัยในช่วงเดือนสิงหาคมมูลค่ารวมกว่า 31.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยรวมของตลาดประกันภัยทั่วไปในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 13.5 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 12.8 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 ตามรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลการประกันภัยของกัมพูชา สำหรับในรายงานยังได้ระบุเสริมว่าสำหรับเบี้ยประกันชีวิตมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 17.3 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 2.43 ในขณะที่เบี้ยประกันรายย่อยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40.2 ซึ่งปัจจุบันภายในกัมพูชามีบริษัทประกันทั่วไป 18 ราย บริษัทประกันชีวิต 14 ราย บริษัทประกันภัยรายย่อย 7 ราย บริษัทรับประกันภัยต่อ 1 ราย นายหน้าประกันภัย 20 ราย และตัวแทนองค์กร 34 ราย สำหรับเบี้ยประกันภัยขั้นต้นของกัมพูชามีมูลค่ารวมประมาณ 332 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดประกันภัยในกัมพูชา ซึ่งภาคประกันภัยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.17 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369987/insurance-sector-logs-31-million-premium-in-august/

CGCC จับมือร่วมกับกสิกรไทย หนุน MSMEs กัมพูชา

บรรษัทประกันสินเชื่อแห่งกัมพูชา (CGCC) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพนมเปญ ได้ลงนามในสัญญาค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) โดยในพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้น ณ สำนักงาน CGCC นำโดย Ros Seileva รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน ร่วมกับ Wong Keet Loong ประธาน CGCC และ นาย Cherdkiat Atthakor เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา รวมถึง นาย Suwat Techawatanawana รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งความร่วมมือกับ CGCC จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการขยายขอบเขตการเข้าถึงผู้ประกอบการในกัมพูชาที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับปรุงขีดความสามารถด้านบริการของธนาคารอีกด้วย ในฐานะที่เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ด้าน CGCC มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและพัฒนา MSME ภายในประเทศ โดยมีภารกิจหลักในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับ MSME ผ่านสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFI) สำหรับการค้ำประกัน ณ เดือนกรกฎาคม 2023 CGCC ได้ให้การค้ำประกันสินเชื่อไปแล้วมูลค่ากว่า 139.5 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ธุรกิจ 1,648 แห่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369986/cgcc-kasikornbank-join-hands-to-support-msmes/

“เวิลด์แบงก์” หั่นคาดการณ์ GDP เอเชียเหลือโต 5% จีน-ไทย-เวียดนาม หนี้ภาคธุรกิจพุ่งเร็ว

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุถึง จีนและดีมานด์ทั่วโลกที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและการค้าที่ซบเซา ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์กล่าวว่าขณะนี้คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโต 5% ในปี 2566 ตามรายงานเดือนตุลาคม ซึ่งน้อยกว่าการคาดการณ์ 5.1% ในเดือนเมษายนเล็กน้อย ขณะเดียวกันเวิลด์แบงก์คงการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ไว้ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.1% แต่ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ลงเหลือ 4.4% จาก 4.8% โดยระบุถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างในระยะยาว ระดับหนี้ที่สูงขึ้นในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุผลในการปรับลดอันดับ

นอกจากนี้ยังเผชิญกับระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารโลกระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับระดับหนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน ไทย และเวียดนาม โดยเตือนว่าระดับหนี้ภาครัฐที่สูงอาจจำกัดการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน หนี้ที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสำหรับธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/64731/

‘เวียดนาม’ ลงทุนต่างประเทศ พุ่ง 4.6% ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้

กรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงการวางแผนและการลงทุน รายงานว่าการลงทุนในต่างประเทศของเวียดนาม มีมูลค่าราว 416.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยจากเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว พบว่ายอดจดทะเบียนโครงการใหม่ มีมูลค่า 244.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 70.5% ของมูลค่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่เงินทุนที่ปรับเพิ่มเงินทุน มีมูลค่าเกินกว่า 171.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าไปยังโครงการในปัจจุบัน จำนวน 18 โครงการ เพิ่มขึ้น 3.38 เท่า

ทั้งนี้ นักลงทุนชาวเวียดนามส่วนใหญ่ลงทุนในภาคการค้าปลีกค้าส่ง มูลค่า 150.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 36.1% ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เกษตรกรรมและการผลิตอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-overseas-investment-up-46-during-nine-months/268894.vnp

‘เวียดนาม’ เกินดุลการค้า 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566

สำนักงานสถิติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกของเวียดนามในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม 259.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 237.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 21.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าการส่งออกของเวียดนามที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ความต้องการจากทั่วโลกลดลงและภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและจีน นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังส่งเสริมให้ทำการค้าในตลาดเกิดใหม่และตลาดที่มีศักยภาพ และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1594585/viet-nam-records-21-68-billion-trade-surplus-in-nine-months.html

‘เมียนมา’ ส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้ ทะลุ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาทำรายได้จากการส่งออกในช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 22 ก.ย. พบว่าการส่งออกของเมียนมาจากภาครัฐฯ มีมูลค่ากว่า 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนทำรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 5.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ายอดการส่งออกปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ไปยังตลาดจีน ไทย บังกลาเทศและอินเดีย

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd7-3b-in-export-in-nearly-six-months/

รัฐบาล สปป.ลาว สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการบริหารจัดการเหมืองแร่

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการร่างยุทธศาสตร์ด้านโลหะหายากและแร่ธาตุอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจัดการเหมืองแร่ใน สปป.ลาว อย่างเหมาะสม ซึ่ง ดร.Sonexay Siphandone ได้กล่าวไว้ในระหว่างการประชุมประจำเดือนร่วมกับคณะรัฐมนตรี ณ เวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของโลหะหายากซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ที่ปัจจุบันมีความต้องการของตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งคำว่าแรร์เอิร์ธหมายถึงกลุ่มธาตุ 17 ชนิด ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญในโทรศัพท์มือถือ ฮาร์ดไดรฟ์ และรถไฟ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อเทคโนโลยีสีเขียวด้วย รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่า สปป.ลาว จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการขุดแร่หายากภายในประเทศ โดยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สมาชิกสภาแห่งชาติได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการขุดแร่ใน สปป.ลาว ที่มีการจัดการอย่างไม่ถูกต้องส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางด้านรายรับของรัฐบาล

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_191_Govt_y23.php

GDCE เตรียมดำเนินกลยุทธ์ใหม่ สำหรับการปฏิรูประบบศุลกากรกัมพูชา ในช่วงปี 2024

กรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป (GDCE) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) มีแผนที่จะเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการปฏิรูประบบศุลกากรให้มีความทันสมัย สำหรับแผนในช่วงปี 2024-2028 หลังจากดำเนินแผนยุทธศาสตร์ปัจจุบันที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019-2023 โดยแผนยุทธศาสตร์ใหม่ได้รับการเปิดเผยในระหว่างการประชุมปรึกษาหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ GDCE และหุ้นส่วนการพัฒนาที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา เช่น สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำกัมพูชา และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 ก.ย.) โดยมี Kun Nhem ผู้อำนวยการ GDCE เป็นประธาน โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 6 ประการ ซึ่งรวมถึงประสิทธิผลของการรวบรวมรายได้ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร การปฏิบัติตามกฎหมายและการบังคับใช้ กิจการและกฎระเบียบด้านกฎหมาย เทคโนโลยีสารสนเทศ และสุดท้ายคือเพิ่มขีดความสามารถให้กับหน่วยงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501369454/gdce-to-embark-on-new-strategy-for-customs-reform-in-early-2024/